ประวัติ 800 ปี ” นครวัด ” แห่ง กัมพูชา ศาสนสถาน 2 ศาสนา ใหญ่ที่สุดในโลก

ประวัติ 800 ปี ” นครวัด ” แห่ง กัมพูชา ศาสนสถาน 2 ศาสนา ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อเกือบ 900 ปีที่แล้ว นครวัด มรดกตกทอดจากอารยธรรมขอมโบราณถูกสร้างขึ้นกลางผืนป่าอันเขียวชอุ่มในประเทศกัมพูชา นอกจากจะเป็นหนึ่งในมรดกโลก แล้วปราสาทหินแห่งนี้ยังเป็นหลักฐานของการเปลี่ยนผ่านจากศาสนาฮินดูสู่ศาสนาพุทธในสมัยอาณาจักรขอมอีกด้วย

นครวัด (Angkor Wat) ศาสนสถานอันงดงามแปลกตากลางผืนป่าทึบชื้นในเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชาเป็นหมู่ปราสาทหินขนาดยักษ์ที่มีพระปรางค์ 5 ยอดตั้งตระหง่านอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวปราสาท บริเวณปรางค์แต่ละองค์ประกอบไปด้วยระเบียงคดหรือทางเดินรอบปรางค์ และลานโล่งซึ่งประดับประดาไปด้วยภาพสลัก และงานประติมากรรมแบบนูนต่ำอื่น ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อต่าง ๆ ของอาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณไว้

ศาสนสถานอายุเกือบ 900 ปีที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งโตนเลสาบ (Tonle Sap) หรือทะเลสาบเขมรซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาแห่งนี้ได้รับความเสียหายมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรขอม ในบรรดาศาสนสถานโบราณหลายร้อยแห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศ นครวัดถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในกัมพูชา เป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ

การก่อสร้าง นครวัด เริ่มขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1113 ถึงประมาณปี 1150) โดยมีการคาดเดาว่าศาสนสถานขนาดใหญ่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรจุพระอัฐิหรือสุสานส่วนพระองค์ และเพื่ออุทิศให้แก่เทพเจ้าฮินดูสามองค์ คือ พระศิวะ พระพรหม พระวิษณุ ก่อนที่ศาสนสถานแห่งนี้จะมีชื่อว่านครวัดซึ่งมีหมายความว่าเมืองแห่งวัดในภาษาเขมร ในอดีต สถานที่แห่งนี้ถูกเรียกตามพระบาทบรมวิษณุโลก หรือพระนามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 หลังสวรรคตว่า พระวิษณุโลกา (Vrah Visnuloka) ซึ่งมีความหมายว่าที่ประทับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระวิษณุตามอิทธิพลของศาสนาฮินดูในขณะนั้น

นครวัด
นครที่ถูกซ่อนในผืนป่า – แม้ในปัจจุบัน พื้นที่โดยรอบของนครวัดจะล้อมรอบไปด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์ แต่ตัวปราสาทของนครวัดกลับแยกออกจากผืนป่าอย่างชัดเจนจนมีลักษณะคล้ายเกาะที่บริเวณครึ่งหนึ่งถูกไปปกคลุมไปด้วยป่าไม้ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 หรือยุครุ่งเรืองของอาณาจักรขอม เมืองพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรนี้มีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง นักวิชาการบางท่านคาดว่าจำนวนสูงสุดของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้มีมากกว่าแสนคน เมืองพระนครยังเป็นแหล่งที่ตั้งของปราสาทไม้แกะสลักและวัดที่ตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามหลายแห่ง นอกจากนั้นบริเวณนอกกำแพงเมืองยังมีบ้านเรือนยกสูง นาข้าว บ่อน้ำ รวมไปถึงคลองน้ำซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงความสามารถในการจัดการน้ำของชาวขอมตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ (ภาพประกอบโดย RAIDEN STUDIO)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของนครวัดคือพระปรางค์ 5 ยอดใจกลางปราสาทซึ่งถูกสร้างเพื่อจำลองเขาพระสุเมรุขึ้น พระปรางค์องค์ที่สูงที่สุดซึ่งอยู่ตรงกลางหมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ประทับของเหล่าเทพยดาและแกนกลางของจักรวาล ส่วนพระปรางค์อีกสี่องค์ซึ่งตั้งอยู่ตามทิศต่าง ๆ หมายถึงมหาทวีปทั้งสี่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วนครวัดเป็นสถานที่ที่ถูกสร้างเพื่อจำลองโครงสร้างของจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดูขึ้นจากก้อนหิน โดยมีปราสาทปรางค์ประธานที่สูงกว่า 60 เมตรเป็นจุดศูนย์กลาง กำแพงรอบปราสาทเป็นขอบจักรวาล และคูน้ำยาวกว่า 4 กิโลเมตรที่ล้อมรอบบริเวณทั้งหมดเป็นมหาสมุทรที่ล้อมจักรวาลไว้

การเข้าไปยังปราสาทนครวัดนั้นสามารถทำได้โดยการเดินข้ามสะพานที่มีความยาวประมาณ 200 เมตรและผ่านระเบียงคดทั้งสามชั้นเพื่อเข้าไปยังใจกลางของนครวัด เมื่อเข้าไปในตัวปราสาทแล้วจะพบว่ามีภาพของเหล่าเทพเจ้าฮินดู เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของอาณาจักรขอมโบราณ และเรื่องราวของสองมหากาพย์จากวรรณคดีสันสกฤตอย่างมหาภารตะและรามเกียรติ์สลักไว้ตามบริเวณกำแพงและผนังต่าง ๆ

นครวัด – การเปลี่ยนผ่านอำนาจในอาณาจักรขอม

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึง 15 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของอาณาจักรขอมโบราณ เนื่องจากในช่วงนั้นหน้าที่หลักของบรรดาผู้ปกครองอาณาจักรในแต่ละรัชสมัยคือการบริหารและจัดการให้อาณาจักรอันรุ่งเรืองแห่งนี้สามารถแผ่ขยายอาณาเขตออกไปตามพื้นที่หลัก ๆ ของทวีปเอเชียตะวันออก เช่น บริเวณประเทศเมียนมาไปจนถึงเวียดนามได้ นอกจากนั้น ฝนที่ตกอย่างไม่ขาดสายและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากปรากฏการณ์โลกร้อนในยุคกลางยังทำให้ช่วงระยะเวลานี้เป็นยุคเฟื่องฟูของการเกษตรภายในอาณาจักรอีกด้วย

ปราสาทนครวัดถูกสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองพระนคร (Angkor) เมืองหลวงของอาณาจักรขอม โดยกษัตริย์ในขณะนั้นวางแผนจะสร้างนครวัดซึ่งถูกออกแบบขึ้นอย่างซับซ้อนมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของอาณาจักร เช่นเดียวกับการวางแผนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ว่าจะสร้างปราสาทพนมบาเค็ง (Phnom Bakheng) บนยอดเขาใกล้กับพื้นที่ที่จะใช้สร้างปราสาทนครวัด ทว่า ในขณะที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เริ่มสร้างนครวัดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ความเชื่อทางศาสนาในอาณาจักรกลับเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยความเชื่อทางศาสนาพุทธเข้ามาแทนที่ศาสนาฮินดูซึ่งเป็นความเชื่อเดิมของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

นครวัด
ปราสาทอุทิศแด่บิดา – ปราสาทพระขรรค์ (Preah Khan temple) หรือสถานที่ซึ่งชื่อมีความหมายว่าดาบศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1191 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่ออุทิศถวายแด่พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชบิดา โครงสร้างภายในของศาสนสถานขนาดใหญ่แห่งนี้เต็มไปด้วยทางเดินอันสลับซับซ้อนที่นำไปสู่บรรดาห้องและลานต่าง ๆ หลายแห่ง (ภาพถ่ายโดย ALAIN SCHROEDER, GTRES)

ศาสนาพุทธที่เข้ามาในภายหลังอยู่ร่วมกับศาสนาฮินดูอย่างสันติสุขได้นานหลายปี โดยเริ่มแรกนั้นมีการนำศาสนาพุทธเข้ามาในอาณาจักรขอมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยพ่อค้าและผู้เผยแผ่ศาสนาจากประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่อิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อประวัติศาสตร์กัมพูชา ในอดีตอาณาจักรขอมรับศาสนาฮินดูเข้ามาจากอินเดีย และภาษาขอมหรือภาษาเขมรก็ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาฮินดู

เทวดาและอสูร – อสูร (ปีศาจ) ที่กำลังทำหน้ายักษ์เรียงรายอยู่ด้านหนึ่งของทางเข้าถึงประตูทิศใต้ของนครธม ตรงข้ามกันเป็นแถวรูปปั้นของเทวดา เทพเจ้าฮินดู ทั้งเทวดาและอสูรทั้งมวลต่างเกาะอยู่บนหลังนาค TIM LAMAN/NATIONAL GEOGRAPHIC

ราว 30 ปีหลังพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สวรรคต พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์องค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ได้ขึ้นครองราชย์ในปี 1181 พระองค์เป็นผู้ที่ฟื้นฟูอาณาจักรให้กลับมาเฟื่องฟูดังเดิมหลังถูกรุกรานจากชาวจาม และเป็นผู้ที่สร้างความมั่นคงให้พุทธศาสนาโดยการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำอาณาจักร เชื่อกันว่าพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกใช้เป็นแบบของรูปสลักต่าง ๆ ที่ประดับอยู่ตามปราสาทบายน (Bayon temple) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับนครธม (Angkor Thom) หรือเมืองหลวงแห่งใหม่อันแข็งแกร่งซึ่งถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ใกล้กับนครวัด การก่อตั้งนครธมขึ้นแสดงให้เห็นถึงช่วงที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจถึงจุดสูงสุด นอกจากนี้ จำนวนประชากรที่อาศัยในเมืองหลวงในช่วงนั้นยังเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 750,000 คน

นครวัดถูกใช้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูถึงช่วงปี 1300 หลังจากนั้นได้เปลี่ยนให้กลายเป็นพุทธสถาน แม้คติความเชื่อจะเปลี่ยนไปแต่ผู้ดูแลสถานที่นี้ยอมรับในความแตกต่างทางศาสนา งานประติมากรรมฮินดูต่าง ๆ ภายในนครวัดจึงไม่ถูกทำลายทิ้งหรือถูกแทนที่ด้วยสิ่งอื่น มีเพียงพระพุทธรูปที่ถูกนำไปประดิษฐานเพิ่มเติม ทว่าผ่านไปไม่นาน นครวัดกลับถูกลดความสำคัญลงเนื่องจากปัจจัยภายในหลาย ๆ อย่างของอาณาจักรขอม จนกระทั่งในช่วงปี 1430 ผู้ปกครองอาณาจักรได้ตัดสินใจที่จะละทิ้งปราสาทต่าง ๆ ในเมืองพระนครและย้ายไปตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองพนมเปญซึ่งอยู่ตอนใต้ของอาณาจักร

นครวัด
นครวัดจากฟากฟ้า – นอกจากภาพถ่ายนครวัดจากมุมสูงจะแสดงให้เห็นหมู่ปราสาทอายุ 900 ปีในมุมมองที่ต่างออกไปแล้ว ภาพนี้ยังสามารถเก็บรายละเอียดของรูปทรงอันซับซ้อนและความยิ่งใหญ่ของสถานที่แห่งนี้ไว้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกำแพงสูงกว่า 4.5 เมตรซึ่งล้อมรอบบริเวณปราสาทไว้หรือจุดเข้าออกทั้งสี่ทิศ (ภาพถ่ายโดย MICHELE FALZONE, AWL IMAGES)

สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศอาจเป็นเหตุผลหลักในการย้ายเมืองหลวงในครั้งนั้น เมืองนครธมมีบาราย (ทางทิศตะวันตกเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีขนาดความยาวกว่า 8 กิโลเมตรและความกว้างกว่า 2 กิโลเมตร กล่าวได้ว่าความสามารถทางวิศวกรรมชลศาสตร์ในยุคนั้นถือเป็นความสำเร็จอันน่าทึ่งของชาวขอม นอกจากนั้นปริมาณน้ำที่ถูกกักเก็บตามระบบจัดการน้ำยังมีมากพอที่จะให้ประชาชนกว่า 750,000 คนในเมืองก่อนยุคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ใช้สอยและนำไปจัดสรรเพื่อการทำนาได้ บรรดานักประวัติศาสตร์ต่างเชื่อกันว่ามรสุมหนักหลายระลอกและภัยแล้งที่ตามมาเป็นปัจจัยหลักที่อาจทำให้ระบบชลประทานเสียหายอย่างหนักและเป็นสิ่งที่เร่งให้เมืองพระนครล่มสลายเร็วขึ้น

การค้นพบ นครวัด ที่สูญหาย

หลังจากนครธมและเมืองพระนครถูกปล่อยทิ้งร้าง พื้นที่ที่เคยเป็นเมืองมาก่อนก็ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้และพืชพรรณอย่างหนาแน่น จนในที่สุด อดีตเมืองหลวงแห่งนี้ก็กลายเป็นป่ารกทึบ บริเวณซากปราสาทแห่งต่าง ๆ เริ่มมีต้นนุ่นขนาดยักษ์ขึ้น รากของต้นไม้เหล่านี้แผ่ขยายขึ้นไปตามเสาและผนังจนโอบล้อมปกคลุมตัวปราสาทเอาไว้ อย่างไรก็ดีปราสาทนครวัดนั้นไม่เคยถูกปล่อยทิ้งร้างโดยสมบูรณ์ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 นครวัดได้รับการบูรณะโดยผู้แสวงบุญชาวพุทธและพระสงฆ์จากนั้นจึงถูกใช้เป็นแหล่งจาริกแสวงบุญ

ในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 16 เริ่มมีชาวยุโรปเดินทางมายังเมืองพระนคร พ่อค้าชาวโปรตุเกสเดินทางมาเป็นกลุ่มแรกเมื่อราวปี 1555 ตามมาด้วยกลุ่มมิชชันนารีที่มุ่งหมายจะเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในอาณาจักรนี้ ดิโอกู ดู โกตู (Diogo do Couto) พ่อค้าและนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสได้บรรยายถึงนครร้างที่ถูกซ่อนอยู่ภายในป่าไว้ว่า “กำแพงของเมืองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยหินสกัดทั้งหมด มันถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบและถูกจัดวางอย่างประณีตจนเหมือนกับว่ากำแพงเหล่านี้สร้างขึ้นจากหินเพียงก้อนเดียว ซึ่งเป็นหินที่คล้ายกับหินอ่อนมาก”

ชาวยุโรปกลุ่มต่อมาที่เดินทางมายังอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรขอมคือพ่อค้าและมิชชันนารีชาวสเปน เฟรย์ กาเบรียล กีโรกา เด ซาน อันโตนีโอ (Fray Gabriel Quiroga de San Antonio) หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในราชอาณาจักรกัมพูชา (A Brief and Truthful Relation of Events in the Kingdom of Cambodia) ขึ้นในปี 1604 โดยกีโรกาบรรยายถึงเมืองพระนครด้วยความชื่นชมและนับถือไว้ว่า

“เมืองนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 945 กิโลเมตร ตัวเมืองโดยรอบได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและระดับน้ำของแม่น้ำที่น้ำขึ้นลงเหมือนกับแม่น้ำกัวดัลกิบีร์ในเมืองเซบิยา สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ บ้านเรือนอันสวยงามที่สร้างจากหินเรียงรายอย่างเป็นระเบียบตามริมถนน งานฝีมือตามหน้าอาคาร ลาน โถง และห้องหับต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมโรมัน”

กลุ่มผู้สำรวจและช่างถ่ายภาพ – ในปี 1866 แอร์แน็สต์ ดูดาร์ เดอ ลาเกร (Ernest Doudart de Lagrée) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะสำรวจแม่น้ำโขง เขาและคณะพยายามจะรวมพื้นที่ของอาณาจักรขอมที่ถูกฝรั่งเศสปกครองเข้าด้วยกันภายใต้ข้ออ้างในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และการทำแผนที่ ต่อมาดูดาร์ได้เดินทางไปยังนครวัดตามเส้นทางการสำรวจของอ็องรี มูโอ (Henri Mouhot) พร้อมพา เอมีล เฌเซลล์ (Émile Gsell) หนึ่งในช่างภาพคนแรก ๆ ซึ่งเป็นผู้บันทึกภาพเมืองหลวงโบราณของกัมพูชาร่วมคณะไปด้วย

เสน่ห์ดึงดูดของนครวัด

ในช่วงไม่กี่ศตวรรษต่อมา นครวัดกลายเป็นสถานที่ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้อย่างล้นหลาม เหตุเพราะในสมัยนั้นมีพ่อค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะพ่อค้าชาวมลายูมุสลิมและพุทธศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นเดินทางมาทำการค้าขายในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพร้อมกับพ่อค้าบางคนได้ทิ้งรอยขีดเขียนไว้ตามผนังของตัวปราสาท โดยพบรอยที่ถูกขีดเขียนในระหว่างปี 1612 ถึงปี 1632 ทั้งหมด 14 ตัวอย่าง นอกจากนั้นยังพบว่าแผนที่ฉบับแรกที่ใช้สีในการอธิบายส่วนต่าง ๆ ของนครวัดถูกสร้างขึ้นโดยหนึ่งในนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมชมเมืองนี้

หลังอิทธิพลของสเปนและโปรตุเกสอ่อนลง ชาวดัตช์ก็เข้ามาตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (The Dutch East India Company) ในกัมพูชา แม้จะไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าตัวแทนของชาวดัตช์ได้เดินทางไปเยี่ยมชมนครวัดแต่การค้นพบภาพเขียนเรือดัตช์บนกำแพงทางเข้าหลักของปราสาทถือเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการเข้ามาของชาวดัตช์นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวกัมพูชาในขณะนั้น

คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ชาวยุโรปให้ความสนใจกับนครวัดมากที่สุด สาเหตุเป็นเพราะในช่วงปลายปี 1859 อ็องรี มูโอ (Henri Mouhot) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เดินทางไปเยือนนครวัดภายใต้การสนับสนุนจากราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งลอนดอน (Royal Geographical Society of London) มูโอเริ่มออกเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ในเดือนเมษายน ปี 1858 พร้อมพาไทน์ไทน์ สุนัขผู้ช่วยของเขาขึ้นเรือไปเพื่อที่จะเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชพรรณและสัตว์ชนิดต่าง ๆ จากแถบเอเชียกลับมาให้บรรดานักสะสมชาวยุโรป

นครวัด
ในภาพถ่ายเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสถานที่แห่งนี้ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2409 เผยให้เห็นพระสงฆ์ยืนอยู่ใต้ใบหน้าหนึ่งจากใบหน้านับพันที่ประดับประดาพระวิหารบายนแห่งนครธม MNAAG/RMN-GRAND PALAIS

มูโอใช้เวลาสามเดือนในการสำรวจซากปรักหักพังของปราสาท ร่างแบบของนครวัด และบันทึกความประทับใจที่เขามีต่อเมืองพระนครและชาวกัมพูชาลงในสมุดบันทึก “เมื่อได้เห็นซากปรักหักพังของความยิ่งใหญ่ในอดีต ในเมืองที่ยังใช้ชื่อเรียกว่านครเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมอย่างยิ่งจนต้องการจะทราบว่าสิ่งใดกันที่ทำให้ชนชาติผู้อยู่เบื้องหลังปราสาทขนาดมหึมาเหล่านี้เปี่ยมไปด้วยความทรงพลัง ความรู้แจ้ง และความเจริญรุ่งเรือง” มุมมองอันน่าประทับใจที่มูโอมีต่อนครวัดพร้อมทั้งความทรงจำของเขาที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพวาดถูกตีพิมพ์ในปี 1864 และภาพเหล่าทำให้ชาวยุโรปหันมาสนใจเมืองหลวงโบราณของประเทศกัมพูชามากกว่าเดิม

ต่อมาคณะสำรวจชาวฝรั่งเศสได้เดินทางไปถึงนครวัดในปี 1867 โดยมีจุดประสงค์หลักคือการสำรวจเส้นทางของแม่น้ำโขง ภาพเหมือนที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไร้ที่ติโดยหลุยส์ เดอลาปอร์ต (Louis Delaporte) หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางและสิ่งพิมพ์อีกสองฉบับซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะสำรวจเป็นสิ่งที่เพิ่มกระแสความนิยมของศาสนสถานแห่งนี้ในฝั่งตะวันตก ในช่วงปี 1867 ถึงปี 1922 แบบจำลองของศิลปะขอมหรือศิลปะเขมรโบราณถูกนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างงานนิทรรศการโลก (World Exhibitions) และในปี 1931 ฝรั่งเศสได้สร้างแบบจำลองของนครวัดขนาดเท่าของจริงขึ้นเพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการอาณานิคม ณ กรุงปารีส (Paris Colonial Exhibition)

เรื่อง เวโรนิกา วอล์กเกอร์ (Veronica Walker)

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ชัยวรมันที่ 7 ณ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

Recommend