ท่องเที่ยว ประเพณีบุญฮีต 12 และเรียนรู้วิถีชุมชนกับ บ้านพลไท จ.ร้อยเอ็ด

ท่องเที่ยวประเพณีบุญฮีต 12 และเรียนรู้วิถีชุมชนกับบ้านพลไท จ.ร้อยเอ็ด

บ้านพลไท เป็นชุมชนในอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองประมาณ 1 ชั่วโมง ถนนหนทางไม่ได้เดินทางสะดวกมากนัก แต่ชุมชนแห่งนี้มีความพิเศษคือ ประเพณีบุญฮีต 12 วัฒนธรรมอย่างรำคองก้า มีศูนย์เรียนรู้ตามวิถีชีวิต และผลิตภัณฑ์ของชุมชนอย่างทอเสื่อกก ทอผ้าปีกนก และความน่ารักของคนในชุมชนอย่าง “แม่ ๆ”  เป็นคนในชุมชนและส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมและอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีของบ้านพลไท

เดินทางมาถึงแล้ว “ บ้านพลไท ”

ก้าวลงจากรถ มีแม่ ๆ มารอรับพร้อมกับผ้าถุงและผ้าขาวม้า เพื่อแต่งตัวให้เข้ากับชาวพลไท ก่อนที่จะขึ้นไปสักการะหลวงพ่อพระใส (พระพุทธสมานมิตรมงคลคุณ) ณ วัดสว่างคงคา พระใสถือว่าเป็นพระที่น่าเลื่อมใส และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน แล้วยังใกล้กับพื้นที่ที่เป็นลานกิจกรรม อันเป็นแลนด์มาร์คของที่นี่คือ ต้นสำสา หรือที่เรียกกันว่า ต้นจามจุรี มีอายุมากกว่า 200 ปี ลำต้นใหญ่ 4-5 คนโอบ กิ่งไม้แผ่สยาย คอยให้ความร่มรื่นแก่คนในชุมชนและนักท่องเที่ยมผู้ที่มาเยี่ยมเยือน

การเดินทางไปในตัวชุมชนไม่ไกลจากลานกิจกรรมมากนัก กิจกรรมที่เราได้ทำจุดแรกคือ สาธิตทอเสื่อกก เรามีโอกาสได้ดูแม่ ๆ ทำและได้ลองทำเสื่อกก โดยเสื่อกก ทำจากต้นกก ที่นำมากรีดให้ได้เส้นบาง ๆ และย้อมสีสันตามที่ต้องการ หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการของการทอเสื่อกก ซึ่งลาดลายเป็นลายดั่งเดิม หรือเรียกเป็นภาษาอีกสานว่า ลายบักจับ นอกจากนี้ยังมีลายลูกหวาย ลายดาวพระศุกร์ มีความยากและการจำสูง ทั้งการจำลวดลาย และการสอดไม้สอดกก

จากนั้นเดินต่อไปยังจุดทอผ้าปีกนก โดยมีลักษณะคล้ายปีกของนกนั้นเอง ยังมีลายกังหันลม และลายอื่น ๆ แน่นอนว่าความยากนั้นเริ่มมากขึ้นและใช้ความชำนาญในการจดจำมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องใช้ทั้งมือและเท้าทั้งสองข้างในการทอผ้า การเปลี่ยนกระสวยไปมา และการจดจำตำแหน่งของการเปลี่ยนลาย กว่าที่แม่ ๆ จะทอได้แต่ละผืนนั้นไม่ง่ายเลย การทอผ้าแต่ละผืนต้องใช้เวลา และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ไก่ย่างมดแดงกัด เมนูเอกลักษณ์ของบ้านพลไท

มาถึงบ้านพลไททั้งที พลาดไม่ได้ที่จะลิ้มรสชาติของไก่ย่างมดแดงกัด ในตอนแรกเรานึกภาพไม่ออกว่าจะเป็นแบบไหน ลักษณะจะตรงตามที่ชื่อเรียกเลยหรือเปล่า รสชาติจะเป็นอย่างไร เรามีแต่ความสงสัยเหล่านี้อยู่ในหัว เมื่อถึงเวลารับประธานอาหาร และไก่ย่างมดแดงกัดที่ว่านั้น ค่อย ๆ วางลงต่อหน้าเรา จึงได้ลองลิ้มรสชาติที่อร่อยมาก ๆ ของมัน เนื้อที่นุ่มกำลังพอดี มีมดแดงกัดที่ถูกย่างพร้อมไก่ นับว่าเป็นเมนู เอกลักษณ์ของบ้านพลไท พร้อมกับส้มตำปูปลาร้าสูตรพื้นถิ่นของชาวบ้านที่เข้ากันสุด ๆ และแม้เมนูอาหารจะละลานตามากมาย เราก็ไม่อาจละสายตา และอดใจที่จะไม่ลิ้มลองไก่ย่างมดแดงกัดจานนั้นได้

หลังจากที่ได้รับประทานอาหารแบบชาวพลไทแล้ว เราก็มีโอกาสชมการทำเหล้าสาโท โดยจะมีขั้นตอนตั้งแต่ข้าวเปลือกที่ตำเสร็จนำมาฝัด จนไปถึงการหมัดใส่ไห ทิ้งไว้ 2-4 อาทิตย์ ถึงจะสามารถนำมาดื่มได้

พิธีสำคัญของชาวพลไท

พิธีผูกข้อมือสู่ขวัญ ถือว่าเป็นพิธีเรียกขวัญกลับมาอยู่กับตัว เพื่อประคับประคองจิตใจ สร้างขวัญกำลังใจ และยังเสริมสิริมงคลให้กับผู้เข้าร่วมพิธี ที่บ้านพลไทก็ได้จัดพิธีนี้เพื่อต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเราและนักท่องเที่ยว โดยพิธีจัดขึ้นโดย “พ่อใหญ่แม่ใหญ่” ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือของบ้านพลไท ผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเพณีอีสานดั้งเดิมแบบฉบับพลไท และนับว่าเป็นการต้อนรับเสมือนเราเป็นลูกหลานชาวพลไทที่น่าอบอุ่น

‘พาแลง’ หลังแสงตะวันลับขอบฟ้า

ในอาหารมื้อเย็นสุดพิเศษนี้ เราได้นั่งล้อมวงปิ้งข้าวจี่กับแม่ ๆ ที่คอยดูแลอยู่ตลอด พอได้ลิ้มลองรสชาติของข้าวจี่ซึ่งไม่เหมือนที่เราเคยกิน ก็ได้กลิ่นหอม ๆ จากไข่ที่ทาไม่ได้เยิ้มจนทำให้ข้าวแข็ง และถ้าหากกินกับน้ำตาลก้อน ก็จะได้รสชาติอีกแบบ นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง รำคองก้า ที่มีการย่ำเท้า หยักไหล่ ทิ้งสะโพก และรำรอบวงที่แม่ ๆ เตรียมการแสดงมาเพื่อแสดงความเป็นอีสาน ที่มีดนตรีสนุกสนานและท่ารำอย่างง่ายๆ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมรำคองก้ากับแม่ ๆ ได้ และเป็นอีกหนึ่งความทรงจำดี ๆ ณ บ้านพลไทของเรา

ช่วงเช้าของวันที่สอง เราได้เดินบริเวณรอบ ๆ ของวัดสว่างคงคา ท่ามกลางบรรยากาศแสงอาทิตย์ยามเช้า บรรยากาศที่สงบร่มรื่น ไออุ่นสัมผัสอากาศลมเย็น ๆ ในช่วงต้นเดือนกุมภา ลมหนาวได้พัดผ่านมาพอดี ณ ช่วงนั้น ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัด ทั้งธรรมชาติ ไออุ่นของคนที่นี่ หลังจากนั้นเราก็มาทำบุญข้าวจี่ หรือการตักบาตรด้วยข้าวจี่นั้นเอง การตักบาตรครั้งนี้มีพร้อมทั้งอาหาร ขนม นม ที่วัดสว่างคงคา โดยในช่วงที่รับประทานอาหารเช้าที่วัด แม่ ๆ สวดบทสรภัญญะประจำงานบุญคูณลานและบุญข้าวจี่ไปด้วย นับว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งแปลกใหม่และน่าสนใจในการเดินทางครั้งนี้เช่นกัน

มูลค่าจากตัวหนอนสู่ผ้าไหมที่สวยงาม

เส้นทางการมาเป็นผ้าไหมผืนสวยงามแห่งบ้านพลไทนี้ ผ่านขั้นตอนตั้งแต่การเลี้ยงตัวหนอนไหม การเก็บเส้นใย การเข็นไหม การนำมาย้อมสี เราได้เห็นแม่ ๆ สาธิตวิธีทำแทบทุกขั้นตอน ทำให้เราได้เห็นถึงกระบวนที่กว่าจะเป็นผ้าไหมแต่ละผืนนั้นไม่ง่ายเลย และยังเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีนกยูงสีทอง คือมาตราฐานของกรมหม่อนไหม โดยผ่านกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ การทอผ้า การเลี้ยงตัวหนอน การสาวไหม การย้อมสีไหม จนได้รับรางวัลที่ 1 ของอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

จากการเพาะ ‘เห็ด’ สู่อาชีพหล่อเลี้ยงครอบครัว

ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เพาะเห็ดของแม่ไสว หรือแม่น้อย ที่เป็นคนในชุมชนบ้านพล เป็นอีกหนึ่งอย่างที่นอกจากการเพาะเห็ดแบบทั่วไปได้แล้ว ยังทำให้เราได้เห็นถึงการนำพืชผักมาแปรรูป เป็นแหนมเห็ดที่ได้ให้รสชาติเปรี้ยวกำลังดี และยังสามารถนำเป็นของฝากติดไม้ติดมือได้

ความประทับใจจากนักเดินทาง

สิ่งที่เป็นประจักษ์ของชุมชนบ้านพลไท นอกจากวัฒนธรรมและประเพณีแล้ว ‘แม่ ๆ’ ผู้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในหมู่บ้านและการเดินทางครั้งนี้ ทำให้การเดินทางนี้อวบอวลไปด้วยความสุข ความสนุกสนาน ความอบอุ่น ความแปลกใหม่ ทำให้บรรยากาศในกิจกรรมต่าง ๆ นั้นล้อมไปด้วยรอยยิ้มและพลังงานดี ๆ ของแม่ ๆ
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาบ้านพลไท จะได้รับทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของอีสาน และความอบอุ่นจากที่นี่แน่นอน

บ้านพลไทเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีของภาคอีสานอย่างประเพณีฮีต 12 การรำคองก้า และผลิตภัณฑ์ในชุมชนอีกมากมาย นอกจากนี้ยังเสมือนบ้านที่หากกลับมาก็อบอุ่นหัวใจ

หากคิดถึงกันก็กลับมาหากันบ้างนะ

เรื่อง กัญญารัตน์ นามแย้ม
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
ภาพ กัญญารัตน์ นามแย้ม, Local Alike

การเดินทางนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Local Alike


อ่านเพิ่มเติม สาร (กำลังใจ) จาก บ้านลวงเหนือ เชียงใหม่

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.