๑๐๐ ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

๑๐๐ ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

9 มีนาคม 2559  คือวันครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มีนาคม 2459 – 9 มีนาคม 2559) ในวาระนี้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดงานฉลองเชิดชูเกียรติของดร.ป๋วยให้เป็นที่รู้จักยิ่งๆขึ้นไป ทว่าการแนะนำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักกับ “บุคคลสำคัญของโลก” คนล่าสุดของไทยกลับไม่ใช่เรื่องง่าย  ในกิจกรรม “ป๋วยเสวนาสัญจรสู่ภูมิภาค 10 จังหวัด” ซึ่งเป็นวงเสวนาเกี่ยวกับคุณค่าและงานของ ดร.ป๋วยตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เพื่อนผู้จัดงานของผมเคยเล่าให้ฟังว่า ก่อนกำหนดการจะเริ่ม นักศึกษาคนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบมายังสถานที่จัดงานและสอบถามว่า “อาจารย์ป๋วยจะมาหรือยังคะ นี่ก็ใกล้จะได้เวลาเริ่มงานแล้ว” สิ้นประโยคนั้น ทีมงานได้แต่มองหน้ากันแล้วหัวเราะเบาๆ

หากค้นชื่อของป๋วย อึ๊งภากรณ์จากกูเกิล (Google)  เราจะได้คำตอบคล้ายๆ กันว่า ดร.ป๋วยคือนักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สมาชิกเสรีไทย นักพัฒนาชนบท ฯลฯ  ทว่าหากเรียงลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของดร.ป๋วยตั้งแต่ถือกำเนิดจนถึงแก่กรรม  ผมอดคิดไม่ได้ว่า  ชีวิตของดร.ป๋วยช่างคล้ายพระเอกในนวนิยายมาก ตั้งแต่ภูมิหลังของครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก  แต่เรียนเก่งจนได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และยังได้ภรรยาเป็นฝรั่งอีก (ในยุคนั้นชายเอเชียมีภรรยาฝรั่งถือว่ามีหน้ามีตามาก)  มีบทบาทในสนามรบ และเป็นตัวแทนเจรจาผลประโยชน์ของประเทศหลังสงคราม  เมื่อกลับมาประเทศไทยก็สร้างคุณูปการไว้มากมาย ต่อมาถูกวิบากกรรมทางการเมืองเล่นงาน จนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และถึงแก่กรรมที่นั่น

ดร.ป๋วยถือกำเนิดที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ย่านตลาดน้อย เป็นบุตรคนที่สี่ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน  ทว่าแม้ครอบครัวจะไม่ได้ร่ำรวยและยังสูญเสียบิดาผู้เป็นกำลังหลักไปตั้งแต่อายุเพียงเก้าขวบ  เด็กชายป๋วยก็ยังได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก แผนกภาษาฝรั่งเศส ซึ่งถือกันว่าเป็นโรงเรียนที่ดีและค่าเล่าเรียนแพงที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น โดยมีมารดาเป็นผู้กัดฟันส่งเสียจนบุตรชายคนนี้เรียนจบ

บ้านพักของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในซอยอารีย์ กรุงเทพฯ สะท้อนให้เห็นถึงความสมถะของผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ปัจจุบัน ไมตรี อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนกลางเป็นเจ้าของบ้าน และเหลือเพียงคนดูแลกับ “เจ้ากล้วย” สุนัขของ ใจ อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนสุดท้อง อาศัยอยู่

ป๋วยเข้าศึกษาที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตรุ่นแรก จากนั้นจึงสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ในประเทศอังกฤษ ผลการเรียนของเขาดีเยี่ยมมากจนสามารถศึกษาต่อปริญญาเอกได้ทันที  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  ดร.ป๋วยเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนไทยในต่างประเทศเพื่อต่อต้านฝ่ายญี่ปุ่นที่กำลังพยายามยึดครองเอเชีย  (รัฐบาลไทยในขณะนั้นเข้าร่วมกับญี่ปุ่น) ดร.ป๋วยและขบวนการเสรีไทยกลับมายังประเทศไทย  แทรกซึมทั้งการข่าวและประสานงานให้เครื่องบินของอังกฤษทิ้งระเบิดจนมีชัยเหนือญี่ปุ่น ผลจากการต่อต้านในครั้งนั้นทำให้ไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และดร.ป๋วยเองก็เป็นผู้เจรจาร้องขอ ให้อังกฤษปล่อยเงินตราสำรองที่รัฐบาลไทยฝากไว้อีกด้วย

หลังกลับมาถึงประเทศไทย ดร.ป๋วยเข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง และคลุกคลีในแวดวงเศรษฐศาสตร์ ทั้งการดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยาวนานที่สุด 12 ปี เป็นคณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นที่ปรึกษารัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการอีกมากมาย อาทิ การก่อตั้ง “มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย” ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท

ว่ากันว่า ดร.ป๋วยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากมารดาอย่างมาก  สะท้อนได้จากบทความและงานเขียนที่เขามักเขียนถึงแม่บ่อยๆ เช่น บทความเรื่อง “ผู้หญิงในชีวิตของผม – แม่”  ครั้งหนึ่งดร.ป๋วยพูดถึงคาถาของแม่ว่า “แม่มีความมานะเด็ดเดี่ยว แม่รักเสรีภาพ แม่มีความใจกว้างเมตตากรุณา และแม่เน้นเรื่องความซื่อสัตย์” สิ่งเหล่านี้ทำให้ดร.ป๋วยซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว

คนไร้บ้านอาศัยห้องใต้สะพานย่านรังสิตเป็นที่คุ้มแดดฝน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วาดภาพสังคมอุดมคติไว้ในบทความ เรื่อง “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ทว่าจนถึงปัจจุบัน คนไร้บ้านยังเป็นกลุ่ม คนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ อันเป็นผลพวงจากความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง

นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันว่า  ข้อเขียนอันลือลั่น “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของดร.ป๋วยมีน้ำเสียง “ผู้หญิง” ปะปนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความรู้สึกของความเป็นเพศแม่ที่อยากดูแลผู้อื่น นายแพทย์สงวน นิตยารัมพงษ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้วางรากฐานโครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค  (ปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว)  เคยบันทึกไว้ว่า  บทความจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเป็นหนึ่ง   ในแรงบันดาลใจให้เขาผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนสำเร็จและมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยาวนานถึง 12 ปี ดร.ป๋วยได้วางรากฐานทางการเงินและระบบธนาคารไว้อย่างมั่นคง มีความก้าวหน้าในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นโรงพิมพ์ธนบัตร การส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศ  หรือแม้แต่พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงินซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มีรากฐานมาจากสมัยดร.ป๋วย   กระทั่งในระดับภูมิภาค ดร.ป๋วยยังเป็นผู้ริเริ่มผลักดัน South East Asian Central Banks หรือ SEACEN ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2509

นอกจากการได้รับยกย่องว่าเป็นข้าราชการที่ซื่อตรงแล้ว  วิถีชีวิตของดร.ป๋วยยังขึ้นชื่อเรื่องความสมถะ มีเรื่อง เล่าว่า ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ป๋วยขับรถส่วนตัวคันเก่าเดินทางมาทำงานด้วยตัวเอง  สร้างความงุนงงให้บรรดาบุคคลสำคัญและเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่มารอต้อนรับอย่างมากว่า  ทำไมไม่นั่งรถประจำตำแหน่งที่ทางธนาคารจัดเตรียมไว้ให้  ดร.ป๋วยชี้แจงว่า  รถประจำตำแหน่งใช้เฉพาะในเวลาราชการและเฉพาะกิจในธนาคารเท่านั้น  ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้รถประจำตำแหน่งในเรื่องส่วนตัว  จึงกำหนดไว้ตายตัวว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนี้จะขับรถมาทำงานเอง  เมื่อเลิกงานก็จะขับรถส่วนตัวกลับบ้านเอง หรือกรณีที่มีผู้แวะเวียนนำของกำนัลไปมอบให้ดร.ป๋วยที่บ้านพักในซอยอารีย์อยู่เนืองๆ  ปรากฏว่าผู้นำไปฝากถูกปฏิเสธจากมาร์กาเร็ต สมิท ภรรยาชาวอังกฤษของดร.ป๋วยจนบางคนถึงกับโมโหก็มี

 

แม้จะเป็นการถ่ายภาพเซลฟี่ คู่กับอนุสาวรีย์ปูชนียบุคคลของมหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่นักศึกษากลุ่มนี้ยืนยันว่า พวกเขารักและเคารพ ในแง่ของแบบอย่างการใช้ชีวิต มากกว่าการกราบไหว้แบบเทวดาเพื่อขอให้สอบผ่านหรือได้เกรดดีๆ

การตระหนักถึงพลังของคนหนุ่มสาว ทำให้ดร.ป๋วยตัดสินใจรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยอมควบสองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน โดยขอลดเงินเดือนตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมรับสี่หมื่นบาทลดลงเหลือสองหมื่นบาท แต่ไปรับเงินเดือนเต็มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แค่เจ็ดพันบาท เขาชี้ว่า “ถ้าเราไม่สามารถเจียดเงินมาเพื่อการศึกษา  ก็ไม่น่าจะสามารถเจียดเงินไปสำหรับเรื่องอื่น เพราะปัญหาอื่่นๆ เช่น อาชญากรรม วัยรุ่น การปกครองประชาธิปไตย หรือแม้แต่การเศรษฐกิจและการผลิตต่ำ  ปัญหาเหล่านี้จะป้องกันแก้ไขไม่ได้  ถ้าเราไม่ยอมลงทุนในสิ่งที่ประเสริฐที่สุด คือคน”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม  เล่าว่า“อาจารย์ป๋วยไม่ถือว่าเศรษฐศาสตร์เป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง  ดังพวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ประชุมกันเป็นประจำทุกปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ถือว่าเศรษฐศาสตร์อยู่เหนือการเมืองการปกครองเลยด้วยซ้ำ  ป๋วยวิพากษ์ทั้งเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและเศรษฐศาสตร์สังคมนิยม โดยที่ท่านมีความอ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมจะรับฟังคำเตือนจากบัณฑิต ดัง ม.จ.สิทธิพร กฤดากร  (ผู้บุกเบิกการทำเกษตรกรรมแนวใหม่) รับสั่งกับท่านว่า คุณป๋วย เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง’”

อาจพูดได้ว่านี่เป็นประโยคที่เปลี่ยน ดร.ป๋วยให้หันมาสนใจคนยากจนก็ว่าได้ กอปรกับพื้นฐานชีวิตที่มาจากความยากจน  ทำให้ ดร.ป๋วยมองว่า  เศรษฐศาสตร์ไม่ควรมองแค่การเติบโตทางตัวเลข  เขาเคยเขียนถึงความผิดพลาดของตัวเองไว้ว่า  “ผมเสียดายที่รู้สึกว่า ได้บกพร่องไปในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ (จีดีพี) ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง อาจารย์บางท่านบอกว่า ควรพัฒนาเศรษฐกิจเสียก่อน ถึงคนมีจะมีมากขึ้น คนจนจะจนลงก็ตาม  ในไม่ช้าความเจริญก็จะลงมาถึง  คนจนเอง  เราได้ใช้วิธีนี้มา 20 – 30  ปีแล้ว  ปรากฏว่าไม่ได้ผล”

ใน พ.ศ. 2510 ดร.ป๋วยจัดตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท ต่อมาจึงริเริ่มก่อตั้งสำนักบัณฑิตอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านและนำมาพัฒนาชุมชน จนเป็นแบบอย่างของค่ายอาสาพัฒนาชนบทตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งในทุกวันนี้

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลผู้มีชีวิตหลากสีสัน ตั้งแต่การมีพื้นเพจากครอบครัวยากจน จบการศึกษาสูงสุด จากต่างประเทศ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษา ไปจนถึงลี้ภัย ทางการเมือง จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ดร.ป๋วยได้รับการยกย่องในฐานะผู้ดำรงตนอยู่ในความจริง ความงาม และความดี (ภาพวาด: หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ ถ่ายภาพโดยได้รับความอนุเคราะห์จากธนาคารแห่งประเทศไทย)

หลังผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาได้ระยะหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายซ้ายซึ่งโน้มเอียงไปทางสังคมนิยม และฝ่ายขวาซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  เกิดขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” มีการลอบสังหาร นักกิจกรรมและคู่ขัดแย้งทางความคิดจำนวนมาก  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นสถานที่จัดการชุมนุมบ่อยครั้ง และดร.ป๋วยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีอยู่ขณะนั้น ต้องคอยรับแรงปะทะจากทั้งสองฝ่ายอย่างตึงเครียด

กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดเหตุวิปโยคครั้งใหญ่ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ป๋วยถูกฝ่ายขวา ตามล่าตัวจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอย่างเร่งด่วน และเย็นวันนั้นเองก็เกิดรัฐประหาร ต่อมาเมื่อบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเริ่มผ่อนคลาย ดร.ป๋วยจึงกลับมาเมืองไทยเป็นครั้งคราว ทว่าด้วยความชราและสภาพร่างกายที่ไม่ปกติอีกต่อไปจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกระหว่างที่อาศัยในต่างประเทศ  ในที่สุดดร.ป๋วยก็ถึงแก่กรรมที่ประเทศอังฤษเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ญาติได้ประกอบพิธีฌาปนกิจศพของเขาเช่นเดียวกับข้อความย่อหน้าสุดท้ายที่เขาเขียนไว้ใน “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” แล้วจึงนำอัฐิกลับมาประเทศไทย บรรจุไว้ในระเบียงคดวัดปทุมคงคา ย่านตลาดน้อยอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด

เรื่อง ใบพัด นบน้อม

ภาพถ่าย สิทธิชัย จิตตะทัต

 

อ่านเพิ่มเติม

ใครคือผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.