สิ่งมีชีวิตไม่มีสมองเหล่านี้ทำสิ่งที่น่าทึ่งได้

สิ่งมีชีวิตไม่มีสมอง เหล่านี้ทำสิ่งที่น่าทึ่งได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสติปัญญาของมนุษย์นั้นทำให้สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ของเราโดดเด่นขึ้นมาจากทุกสรรพชีวิตบนโลกนี้ สมองของเราคือความสำเร็จทางวิวัฒนาการอย่างแท้จริง ที่ช่วยให้เราสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ทำลายล้างหลายสิ่งบนโลกใบนี้

กว่าจะมาเป็นมันสมองสมัยใหม่เช่นทุกวันนี้ได้ มันเดินทางบนเส้นทางของวิวัฒนาการมานานถึง 520 ล้านปี และแม้ว่าสมองของเราจะเลิศล้ำเพียงใด แต่อย่าลืมว่าเราไม่ใช่สัตว์เพียงชนิดเดียวบนโลกที่มีความเฉลียวฉลาด

“สติปัญญา” คำๆ นี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนิยามมันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์พบว่ากระบวนการตัดสินใจและการเรียนรู้สามารถพบได้ในสิ่งมีชีวิตไม่มีสมองเช่นกัน และนี่คือตัวอย่างของชีวิตเหล่านั้นที่มีความฉลาด แม้จะปราศจากอวัยวะอย่างสมองก็ตาม

 

เขาวงกตเมือก

ถ้าพูดถึงอัจฉริยะ คุณอ่านคิดถึงนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง หรือนักดนตรีชื่อก้องโลกก่อนเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าคงไม่มีใครคิดถึงเมือกวุ้นสีเหลืองที่เติบโตอยู่ตามซากพืชที่กำลังย่อยสลายบนพื้นป่าในละแวกบ้านคุณ

เจ้าสิ่งมีชีวิตนี้มีชื่อเรียกว่า “ราเมือก” (Slime Molds) หรือ Physarum polycephalum สัตว์เซลล์เดียวที่อาศัยอยู่รวมกัน ในหนึ่งราเมือกอาจพบเซลล์ได้ตั้งแต่พันไปจนถึงล้านเซลล์ ราเมือกสามารถปลดปล่อยสปอร์ได้ไกลหลายฟุต นอกจากนั้นพวกมันยังสามารถเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กันเพื่อหาอาหาร และยังสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ ด้วยการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในแบบที่นิยามได้ว่ามีสติปัญญา

งานวิจัยในปี 2016 พบว่า ราเมือกสามารหาอาหารที่ตั้งอยู่ยังทางออกเขาวงกตได้ ด้วยการเติบโตขยายเครือข่ายของมันไปเรื่อยๆ และเมื่อเมือกส่วนหนึ่งพบอาหารแล้ว นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันสื่อสารกับเมือกส่วนที่เหลือไม่ให้ไปผิดทาง หรือไปยังที่ที่เคยสำรวจมาแล้ว นอกจากนั้นพวกมันยังมีหน่วยความจำเพื่อใช้ในการนำทางพวกมันไปยังสิ่งแวดล้อมใหม่หรือใช้ในการมองหาอาหาร และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ ได้ด้วยการหลอมรวมตนเองเข้ากับราเมือกอื่นๆ

ราเมือกสามารถหาอาหาร (วัตถุสีเหลืองและชมพู) ในเขาวงกตได้
ภาพถ่ายโดย Yang Joon Kim

แต่ทักษะที่ทำให้มนุษย์ต้องอึ้งก็คือในการทดลองที่ให้ราเมือกออกสำรวจอาหารที่ทิ้งไว้ในแต่ละจุด ราเมือกกระจายกิ่งก้านสาขาออกไป และเมื่อพบอาหารมันจะสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้นมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่ายเครือข่ายของมันเป็นรูปแบบเดียวกับเส้นทางรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียว ความสามารถของมันนี้เทียบได้กับคอมพิวเตอร์ แม้ว่าพวกมันจะเป็นสิ่งมีชีวิตไม่มีสมองก็ตาม ซึ่งขณะนี้บรรดานักวิจัยทั่วโลกกำลังพยายามถอดรหัสความอัจฉริยะของพวกมัน เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาหุ่นยนต์ให้ดียิ่งขึ้น

 

แมงกะพรุนขี้เซา

การนอนหลับไม่ใช่กิจกรรมที่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทำเท่านั้น ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าพฤติกรรมการนอนหลับพบได้ในแมลงวันผลไม้, หนอนตัวกลม หรือแม้แต่สัตว์ไม่มีสมองอย่าง แมงกะพรุน

ในหนึ่งวัน ชีพจรของแมงกะพรุนหัวคว่ำหรือ Cassiopea จะเต้นทุกๆ วินาที แต่ในช่วงกลางคืนชีพจรของมันจะเต้นช้าลง 30% พฤติกรรมลักษณะนี้บ่งชี้ว่ามันกำลังนอนหลับ และเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ เมื่อแมงกะพรุนหัวคว่ำนอนหลับมันจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกน้อยลง และหากมันถูกกวนการหลับ ในวันต่อมามันยังเฉื่อยชาอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ต่างจากมนุษย์ที่อดหลับอดนอนตลอดคืน

แมงกะพรุนหัวคว่ำ ภาพถ่ายโดย Norbert Wu

งานวิจัยครั้งนี้เผยแพร่ลงใน Current Biology เมือปี 2017 และนับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบพฤติกรรมการนอนหลับในสัตว์ที่ไม่มีระบบประสาทกลาง บ่งชี้ว่าการนอนของเรานั้นอาจถือกำเนิดในบรรพบุรุษของสัตว์ตั้งแต่เมื่อ 600 ล้านปีก่อน

กลไกการนอนหลับของแมงกะพรุนเป็นอย่างไร เรื่องนี้ยังมีคำตอบไม่ชัดเจนนัก แต่เราทุกคนรู้ดีว่าการนอนมีประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย ตั้งแต่การฟื้นฟูระบบประสาท ช่วยเพื่มประสิทธิภาพความทรงจำ ไปจนถึงรักษาพลังงานในร่างกาย

 

ต้นไม้นับจำนวน

ต้นไม้ไม่มีระบบประสาท แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันคิดไม่เป็น? นั่นคือข้อสงสัยที่คาใจบรรดาผู้ศึกษาในสาขาประสาทชีววิทยาพืช และทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่าบรรดาพืชพันธุ์หลายชนิดมีสติปัญญาที่น่าอัศจรรย์ ยกตัวอย่างเช่น ต้น Lavatera cretica ที่สามารถหมุนใบไม้ในช่วงกลางคืนให้เตรียมรับแสงแดดสำหรับเช้าวันใหม่ได้ หรือหน่อต้นข้าวโพดเองก็สามารถจดจำทิศทางของแสงที่จะมาได้

Monica Gagliano นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ชี้ว่าต้นไม้สามารถเรียนรู้พฤติกรรมได้ไม่ต่างจากสุนัขของพาฟลอฟ (การทดลองให้สุนัขหลั่งน้ำลายเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง) ในการศึกษาที่เผยแพร่ลงใน Scientific Reports เมื่อปี 2016 Gagliano และทีมวิจัยของเธอพบว่าต้นถั่วลันเตาสามารถปรับตัวให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าสองอย่างที่ต่างกันได้ คืดพัดลม และแสงสีฟ้า

อีกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Würzburg ในเยอรมนี แสดงให้เห็นว่าต้นกาบหอยแครงรู้จักการนับจำนวน เมื่อแมลงสัมผัสกับเส้นขนในใบที่เป็นกับดักของมัน สัญญาณจะถูกส่งให้เตรียมปิดกับดัก ทีมนักวิจัยพบว่าหากเส้นขนสองเส้นถูกสัมผัสภายในเวลา 15 วินาที กับดักจะปิดทันที และหากแมลงตัวดังกล่าวยังคงดิ้นรนต่อไปและสัมผัสเส้นขนอีกมากกว่า 3 ครั้ง ต้นกาบหอยแครงจะปล่อยน้ำย่อยออกมา เพื่อย่อยสลายเหยื่อและดูดกินเอาสารอาหาร

อาจฟังดูเล็กๆ น้อยๆ แต่สติปัญญาเหล่านี้ก็น่าสะพรึงกลัวไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว…

เรื่อง มิคาเอล เกรสโค

 

อ่านเพิ่มเติม

นกแสนรู้ : ไขปริศนาความฉลาดของนก

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.