“มีช่วงหนึ่งที่วาฬเกร็งตัว สำรอกเอาพลาสติกออกมา ตอนนั้นไม่มีใครเห็นว่าออกจากปากวาฬหรือเปล่า เพราะอยู่ในทะเลไม่รู้ว่ามาจากข้างนอกหรือไม่ แต่สังเกตแล้วว่ามีความเป็นไปได้ว่ามาจากวาฬ” ส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของสัตวแพทย์หญิงวัชรา ศากรวิมล ที่ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวบีบีซีไทย ตัวเธอเป็นสัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร หนึ่งในทีมแพทย์ที่เข้าช่วยเหลือ วาฬนำร่องครีบสั้น
เจ้าวาฬตัวผู้ตัวนี้พลัดหลงเข้ามาในคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มันอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถว่ายน้ำได้ เจ้าหน้าที่จึงต้องช่วยพยุงร่างมัน และดูแลอย่างใกล้ชิด ในระหว่างการช่วยเหลือ วาฬสำรอกเอาถุงพลาสติกออกมาห้าใบ ก่อนที่มันจะตายลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2018 หรือห้าวันหลังได้รับความช่วยเหลือ
ผลการชันสูตรเผยว่า มีขยะพลาสติกน้ำหนักมากถึง 8 กิโลกรัมในท้องของมัน นั่นทำให้วาฬตัวนี้ไม่สามารถรับสารอาหารได้ ขยะที่ว่าประกอบด้วยถุงพลาสติกที่เราเห็นตามซุปเปอร์มาร์เก็ตกว่า 80 ใบ และเศษขยะพลาสติกอื่นๆ “เราพบว่ามีพลาสติกบางส่วนที่มันย่อย ดูผุ ๆ พัง ๆ แต่ด้วยความที่กรดค่อนข้างสูงก็อาจจะทำให้เกิดการย่อย แต่เท่าที่ดูน่าจะเกินหนึ่งอาทิตย์” สัตวแพทย์หญิงวัชรากล่าว
Regina Asmutis-Silvia ผู้บริหารโครงการอนุรักษ์วาฬและโลมา ระบุว่า กรณีนี้ฉายให้เห็นถึงปัญหาขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นกับมหาสมุทรทั่วโลก “เราไม่รู้เลยว่ามีสัตว์อีกกี่ตัวที่เผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ นี่ขนาดแค่วาฬนำร่องครีบสั้นแค่ตัวเดียว ยังไม่รวมถึงสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังกลืนกินพลาสติก สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณว่าเราจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง”
(ชมผลกระทบจากพลาสติกต่อชีวิตสัตว์โลก)
อาหารเป็นพิษ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าวาฬตัวนี้เข้าใจผิดว่าถุงขยะคืออาหาร การกลืนกินขยะพลาสติกเข้าไปเรื่อยๆ จะทำให้มันคิดว่าตนเองน่าจะอิ่มแล้ว และลดสัญชาตญาณการมองหาอาหารจริงๆ นานวันเข้าขยะที่ไม่ให้สารอาหารใดๆ ต่อร่างกายเหล่านี้ก็จะทำให้มันป่วย และเมื่อร่างกายอ่อนแอลง มันจึงไม่สามารถหาอาหารได้ในที่สุด
“ท้องของมันเต็มไปด้วยขยะ และมันก็ไม่สามารถหาอาหารจริงๆ ได้” Asmutis-Silvia กล่าว “นอกจากคุณจะไม่ได้รับสารอาหารใดๆ แล้ว ระบบย่อยอาหารยังอุดตันอีก”
ปกติแล้ววาฬนำร่องครีบสั้นล่าหมึกเป็นอาหาร และมันอาจกินปลาขนาดเล็กด้วย ในกรณีที่อาหารหลักของมันนั้นหายาก ขยะพลาสติกกลายมาเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของหลายมหาสมุทรทั่วโลก ในน่านน้ำของประเทศไทยมีสัตว์น้ำมากกว่า 300 ตัวแล้วที่ตายเพราะกินพลาสติกเป็นอาหาร ในจำนวนนี้รวมไปถึงวาฬนำร่องครีบสั้นตัวนี้ ตลอดจนเต่าทะเล และโลมาตัวอื่นๆ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา วาฬสเปิร์มตัวหนึ่งขึ้นมาตายเกยชายหาดของสเปน ภายในท้องของมันมีขยะมากถึง 29 กิโลกรัม และล่าสุดมีรายงานกรณีหายาก เมื่อลูกแมวน้ำในสกอตแลนด์ตายเพราะเศษพลาสติกเข้าไปอุดตันในระบบย่อยอาหาร ซึ่งปกติแล้วแมวน้ำจะสามารถแยกแยะได้ระหว่างเหยื่อ และขยะที่กินไม่ได้
วิกฤติขยะพลาสติก
มองไปที่ภาพรวมทั่วโลก ทุกๆ ปีมีขยะพลาสติกมากถึง 18,000 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทร คนอเมริกันทิ้งขยะกันเฉลี่ยปีละ 80 กิโลกรัม ปริมาณนี้อาจดูมากมาย แต่คุณผู้อ่านสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่าง หลอด, แก้วน้ำ หรือช้อนส้อม รวมไปถึงการรีไซเคิลเองก็มีส่วนสำคัญในการลดปริมาณขยะพลาสติก
Asmutis-Silvia เสริมว่าวาฬเป็นสัตว์สำคัญที่มีบทบาทในฐานะ ผู้เติมปุ๋ยให้แก่มหาสมุทร การฆ่าพวกมันทางอ้อมด้วยพลาสติกจากชีวิตประจำวันของเราไม่เพียงแค่ทำร้ายชีวิตของสัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังทำลายสมดุลของระบบนิเวศ นอกจากนั้นพลาสติกขนาดเล็กอย่าง ไมโครพลาสติกยังสามารถสะสมในระบบย่อยอาหารของตัวปลาที่เรากินอีกด้วย
“ความตายของวาฬนำร่องครีบสั้นเป็นสัญญาณเตือนอันตราย” Asmutis-Silvia กล่าว “ว่าเราต้องหยุดฆ่าตัวตายทางอ้อมได้แล้ว”
เรื่อง Elaina Zachos
อ่านเพิ่มเติม