ความลับหลังลิ้นสีฟ้าของจิ้งเหลนบลูทั้งค์

ความลับหลังลิ้นสีฟ้าของ จิ้งเหลนบลูทั้งค์

เมื่อ จิ้งเหลนบลูทั้งค์ (bluetongue skinks) เผชิญหน้ากับศัตรู พวกมันไม่ขดตัวหรือวิ่งหนี ตรงกันข้ามมันจะแลบลิ้นสีฟ้าอันโดดเด่นออกมาแทน เพื่อข่มขู่ผู้รุกราน

ปฏิกิริยาดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “deimatic display” พบได้ในสัตว์หลากหลายสายพันธุ์แม้ว่าจะมีสีสันไม่สดใสเท่าจิ้งเหลนบลูทั้งค์ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น หนอนของมอธที่สามารถยิงกรดใส่ศัตรูได้ หรือแม้แต่แมวบ้านที่ส่งเสียงขู่ และยิงเขี้ยวเตือนผู้บุกรุกไม่ให้คิดทำอะไร

สีฟ้าที่เห็นในลิ้นเกิดจากเมลานิน ส่งผลให้ลิ้นของมันมีสีสันราวกับจุ่มลงในหมึกมา และผลการศึกษาใหม่ที่ถูกเผยแพร่ลงใน Behavioral Ecology and Sociobiology ได้เผยให้เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของลิ้นสีน้ำเงินโคบอลต์นี้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่าด้านหลังของลิ้นจิ้งเหลนบลูทั้งค์เหนือนั้นมีความสามารถในการสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลต (รังวียูวี) ได้มากกว่า ทั้งยังมีสีสันที่สว่างกว่าด้านหน้าอีกด้วย ซึ่งลิ้นด้านหลังนี้จะถูกใช้เป็นไม้ตายสุดท้าย ในการจัดการกับผู้ล่าที่มองเห็นรังสียูวี

 

แลบลิ้นแล้วร้องอาห์

ผลการศึกษาวิจัยนี้นำโดย Arnaid Badiane นักวิจัยจากสถาบันนิเวศวิทยา และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในปารีส ร่วมด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคควอรี่, มหาวิทยาลัยวาเลนเซีย และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ โดยพวกเขามุ่งเป้าการศึกษาไปที่จิ้งเหลนบลูทั้งค์เหนือ (Tiliqua scincoides intermedia) ซึ่งมีขนาดตัวยาวมากกว่า 1 ฟุต เมื่อโตเต็มที่ และเป็นสายพันธุ์จิ้งเหลนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

เจ้าสัตว์เลื้อยคลานที่ออกหากินตามพื้นดินนี้มีถิ่นอาศัยในออสเตรเลีย, อินโดนีเซียตะวันออก และปาปัวนิวกินี ซึ่งนอกเหนือจากลิ้นอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว พวกมันยังมีลำตัวป้อม หัวทรงสามเหลี่ยม ขาและหางที่สั้นแต่แข็งแรงอีกด้วย

จิ้งเหลนบลูทั้งค์เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวช้า ทว่าร่างกายสีน้ำตาลของมันช่วยพรางพวกมันให้กลมกลืนไปกับภูมิทัศน์ และช่วยให้มันรอดพ้นจากบรรดานก, งู และตัวเงินตัวทองที่ล่ามันเป็นอาหาร ซึ่งในงานวิจัยก่อนหน้าระบุว่าจิ้งเหลนสายพันธุ์นี้สามารถมองเห็นรังสีอัลตราไวโอเล็ตได้

ในการวิจัยครั้งนี้ทีมวิจัยใช้เครื่องวัดสเปกโตรโฟโตมิเตอร์แบบพกพา เพื่อวัดความเข้มข้นของแสง ในการทดลองพวกใช้งานเครื่องมือดังกล่าวกับลิ้นของจิ้งเหลนบลูทั้งค์จำนวน 13 ตัว และพบว่าด้านหลังลิ้นของมันสว่างกว่าด้านหน้าเป็นสองเท่า

 

จำลองการโจมตี

ในอีกขั้นของการศึกษา ทีมนักวิจัยจำลองสถานการณ์ให้พวกมันเผชิญหน้ากับศัตรู เพื่อหาคำตอบว่าพวกมันแลบลิ้นออกมากี่ครั้งเมื่อถูกคุกคาม การทดลองเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย พวกเขาใช้โมเดลของนก, งู, ตัวเงินตัวทอง ไปจนถึงสุนัขจิ้งจอก ในการโจมตีจิ้งเหลนบลูทั้งค์

ผลปรากฏว่าจิ้งเหลนยังคงซ่อนลิ้นของมันไว้ตราบเท่าที่ยังไม่เป็นอะไร ทว่าเมื่อผู้ล่าปลอมเข้าใกล้มากขึ้น มันก็แลบลิ้นออกมา ส่งเสียงขู่ฟ่อ และพองตัวใหญ่ขึ้น

และยิ่งมันรู้สึกว่าถูกคุกคามมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งแลบลิ้นออกมามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งงู และตัวเงินตัวทองมักไม่ทำให้พวกมันแลบลิ้นเต็มๆ ออกมา แต่หากเป็นนก และสุนัขจิ้งจอกล่ะก็ ผู้ล่าเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นที่ดี

“จิ้งเหลนแลบลิ้นเต็มๆ ออกมา เมื่อพวกมันคิดว่ากำลังเสี่ยงชีวิตสุดๆ” Badiane กล่าวในระหว่างการแถลงผลการวิจัย “ดูเหมือนว่าปฏิกิริยาเช่นนี้มีขึ้นเพื่อต่อต้านผู้ล่าทางอากาศเป็นพิเศษ” ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวโฟกัสที่ตัวจิ้งเหลนเป็นหลัก จึงยังไม่ทราบว่าผู้ล่ามีปฏิกิริยาอย่างไร ในอนาคตทีมวิจัยเตรียมที่จะหาคำตอบว่านักล่าเองรู้สึกอย่างไรกับลิ้นอันน่าสะพรึงนี้

เรื่อง Elaina Zachos

 

อ่านเพิ่มเติม

สัตว์เหล่านี้ดื่มน้ำด้วยวิธีแปลกๆ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.