ไขปริศนา “The Pool” จระเข้ปีนขึ้นท่อได้จริงไหม?

ไขปริศนา “The Pool” จระเข้ปีนขึ้นท่อ ได้จริงไหม?

หลังตัวอย่างของภาพยนตร์ “The Pool นรก 6 เมตร” ออกเผยแพร่ นอกจากจะสร้างความสงสัยว่าตัวละครหลักในภาพยนตร์จะสามารถปีนออกจากสระว่ายน้ำความลึก 6 เมตรได้อย่างไรแล้ว อีกหนึ่งข้อสงสัยใหญ่ไม่แพ้กันคืออุปสรรคที่มีชีวิต มันคือ “จระเข้” ที่บังเอิญเข้ามาติดอยู่ในสระว่ายน้ำร่วมกับตัวละคร

“The Pool” ว่าด้วยเรื่องราวของ เดย์ ฝ่ายอาร์ตกองโฆษณาที่เผลอหลับบนแพยาง โดยไม่ทราบว่าน้ำในสระได้ถูกปล่อยไปแล้ว เขาต้องหาทางเอาชีวิตรอดออกไปจากสถานการณ์นี้ให้ได้ จากตัวอย่างที่ปล่อยออกมาจะเห็นภาพความพยายามเอาชีวิตรอดของตัวละครด้วยการลองหลากหลายวิธี ฉากที่น่าสะพรึงที่สุดคือการปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นที่ต้อนรับในนาทีที่ 1.30 เมื่อมันมุดขึ้นมาจากท่อ อันที่จริงหากได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ “The Pool” บอกเล่าที่มาของจระเข้อย่างชัดเจนว่ามันเข้ามาติดอยู่ในสระว่ายน้ำด้วยได้อย่างไร ทว่าการปรากฏตัวขึ้นจากท่อยังคงเป็นปริศนาคาใจว่าในโลกแห่งความเป็นจริงจระเข้ “ปีน” ขึ้นมาจากท่อระบายน้ำได้จริงไหม? และมีอะไรบ้างที่พวกมันปีนได้?

 

ปีนต้นไม้ได้แน่นอน

หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์คับขันเมื่อต้องเผชิญหน้ากับจระเข้ และตั้งใจที่จะปีนหนีขึ้นต้นไม้ ขอให้รู้ไว้ว่าต้นไม้ไม่ใช่ที่ปลอดภัยเสมอไป เพราะจระเข้ปีนต้นไม้ได้! จากงานวิจัยที่เผยแพร่ลงใน Herpetology Notes ระบุว่า แม้สรีระของจระเข้จะไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อโหนกิ่งไม้ไปมาเช่นลิง หรือสลอธ แต่พวกมันสามารถไต่ลำต้นของต้นไม้ได้ ด้วยขาและเล็บอันแข็งแรง

ในการสำรวจว่าบ่อยแค่ไหนที่จระเข้จะปีนขึ้นต้นไม้ตามธรรมชาติ รายงานระบุว่าในสามทวีปตั้งแต่ต้นไม้ในออสเตรเลีย ไปจนถึงป่าโกงกางของอเมริกากลางล้วนเคยมีผู้พบเห็นจระเข้ปีนไปเกาะอยู่บนต้นไม้ ในขณะที่แอฟริกาเอง ชาวอียิปต์เคยพบเห็นลูกจระเข้อยู่บนต้นไม้ที่สูงเหนือแม่น้ำไนล์ถึง 10 เมตรเลยทีเดียว โดยในจำนวนนี้พวกเขาพบจระเข้จำนวน 4 สายพันธุ์ที่มีความสามารถในการปีนต้นไม้

“ผู้คนที่มีชีวิตใกล้แหล่งจระเข้รู้พฤติกรรมนี้ดี แต่สำหรับคนทั่วไปนี่เป็นเรื่องใหม่” Vladimir Dinets ศาสตราจารย์ผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทนเนสซีกล่าว “และหลักฐานทางวิวัฒนาการเองก็บ่งชี้ว่าในสายพันธุ์จระเข้ที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้น พวกมันมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อปีนต้นไม้ได้ดีกว่าจระเข้ในปัจจุบันเสียอีก”

อัลลิเกเตอร์ปีนขึ้นต้นไม้ ภาพจากรัฐมิสซิสซิปปี พฤติกรรมดังกล่าวเป็นที่พบเห็นได้ทั่วไป
ภาพถ่ายโดย Kristine Gingras

ว่าแต่พวกมันปีนขึ้นไปทำไม? ในฐานะสัตว์เลื้อยคลาน พวกมันต้องการความร้อนจากแสงแดดเพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญ และช่วยให้ร่างกายอบอุ่น นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าจระเข้เหล่านี้ตั้งใจปีนขึ้นไปบนที่สูงเพื่อรับแสงแดดให้มากขึ้น ดังนั้นในสภาพแวดล้อมที่ยากจะหาพื้นที่ตากแดด ทีมวิจัยระบุว่าให้ลองมองดูบนต้นไม้คุณอาจจะพบจระเข้ หรือบางทีพวกมันอาจต้องการล่าเหยื่อใหม่ๆ ก็เป็นได้ อย่าลืมว่าพวกมันเป็นสัตว์แข็งแรงมาก จระเข้สามารถลากเหยื่อที่ใหญ่กว่าลงไปในน้ำได้ แค่เรืองปีนต้นไม้คงไม่เกินกำลังของมัน อย่างไรก็ดีด้วยความที่จระเข้เป็นสัตว์ขี้ตกใจ เมื่อนักวิจัยเริ่มเข้าไปใกล้จระเข้ที่อยู่บนต้นไม้ พวกมันก็หนีลงน้ำไปเสียแล้ว…

สำหรับคำถามสำคัญที่ว่าจระเข้จะสามารถปีนขึ้นมาจากท่อได้ไหมนั้น เริ่มต้นจากการพิจารณาลักษณะของท่อ จากในภาพยนตร์เมื่อตัวละครมุดเข้าไปในท่อพวกเขาต้องนั่งคุดคู้ และเคลื่อนที่ไปมาด้วยการคลาน คาดว่าความสูงของท่อไม่น่าจะเกิน 1 เมตร หากรวมช่วงแนวดิ่งก็น่าจะราว 1.50 – 1.80 เมตร ทว่าพื้นผิวที่เรียบและลื่นของท่อซึ่งแตกต่างจากเปลือกไม้กลับไม่เป็นปัญหาเหมือนที่ใครหลายคนคิด

ภาพตัวอย่างจำลองการปีนขึ้นจากท่อในลักษณะเดียวกับภาพยนตร์ “The Pool นรก 6 เมตร” จระเข้สามารถใช้หางดันตัวเองขึ้นมาได้

คุณมนตรี สุมณฑา นักวิจัยปลาและสัตว์เลื้อยคลาน กรมประมง ให้ความเห็นว่า จากขนาดของจระเข้ในตัวอย่างแล้วมีความเป็นไปได้ที่จระเข้จะสามารถยกตัวขึ้นมาจากท่อได้ด้วยการใช้หางและขาหลังช่วยดันเหมือนสปริง ซึ่งอวัยวะดังกล่าวเป็นอวัยวะที่แข็งแรงมาก “จระเข้ตัวประมาณในเรื่องสามารถปีนออกจากบ่อสูง 2 เมตรได้สบายๆ โดยใช้หางช่วยครับ” คุณมนตรีกล่าว พร้อมเสริมว่าขนาดของจระเข้มีความสัมพัทธ์กับความยาวของท่อ หากตัวใหญ่กว่านี้ส่วนหัวอาจติดขัดช่วงที่ท่อหักจากแนวนอนไปเป็นแนวดิ่งสู่ฝาท่อระบายน้ำ “แต่ถ้าตัวเล็กกว่านี้ก็ยังพอใช้หางดันตัว หรือตะกุยขึ้นมาได้” เขากล่าว

อันที่จริงในต่างประเทศมีรายงานข่าวพบจระเข้ปีนรั้วบ่อยครั้ง ยกตัวอย่างจากจระเข้อินเดียตัวนี้ที่สามารถปีนรั้วความสูง 1.20 เมตร ออกไปยังแหล่งน้ำ ในขณะที่สายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานที่มีบรรพบุรุษร่วมกันอย่างตัวเงินตัวทองนั้น หากเป็นท่อลักษณะดังกล่าวพวกมันสามารถปีนออกมาได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะกำแพงที่ใช้กั้นตัวเงินตัวทองโตเต็มวัยนั้นต้องสูงถึง 1.80 เมตรเลยทีเดียว

จระเข้ในรัฐราชสถาน ทางตอนเหนือของอินเดียปีนรั้วความสูง 1.20 เมตรออกไปยังแหล่งน้ำ
ภาพถ่ายโดย Ram Kishan

ในต่างประเทศเอง จระเข้ก็เคยปีนขึ้นมาจากท่อ สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็น

 

ฉันมันแค่วายร้าย

จระเข้-กินคน คำพ่วงนี้สะท้อนมุมมองที่ผู้คนมีต่อสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ประกอบกับข่าวสารหรือแม้แต่นิทานพื้นบ้านอย่างไกรทอง ยิ่งตอกย้ำความร้ายกาจของจระเข้ในความรู้สึกของมนุษย์ ทว่าพวกมันดุร้ายเช่นนั้นจริงหรือ?

คุณรุจิระ มหาพรหม นักวิจัยด้านสัตว์ป่า จากองค์การสวนสัตว์เล่าว่า ในธรรมชาติจระเข้ไม่ได้ดุร้ายเหมือนภาพที่ถูกนำเสนอ สัตว์แทบทุกชนิดกลัวคน เพียงแค่เดินเข้าไปใกล้ เมื่อมันรับแรงสั่นสะเทือนได้ก็จะหนีไปตามสัญชาตญาณแทนที่จะต่อสู้กับมนุษย์ เว้นแต่อยู่ในสถานการณ์จวนตัวจริงๆ หรือคนไปเหยียบมันเข้า “ภาพนี้มันทำให้สัตว์เลื้อยคลานเป็นผู้ร้าย เราถูกสอนมากันว่าเจองูให้ตีไว้ก่อน กลายเป็นว่าพอมาถึงยุคหนึ่งเมื่อ 60 – 70 ปีก่อน จระเข้ในธรรมชาติถูกล่าจากเมืองไทยแทบหมด ผลกระทบนี้ยังกระทบไปถึงไข่และลูกๆ ของพวกมันด้วย ทำให้ปัจจุบันบ้านเรามีจระเข้ในธรรมชาติน้อยมาก”

“จระเข้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ควบคุมประชากรสัตว์ครับ ธรรมชาติมีสมดุลในระบบนิเวศของมัน” ในอีกมุมหนึ่งจระเข้จากฟาร์มคือสัตว์เศรษฐกิจที่นำมาซึ่งรายได้มหาศาล ไม่ใช่แค่หนังที่ถูกนำไปทำกระเป๋าและเข็มขัด แต่ยังรวมถึงเนื้อที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย คุณรุจิระเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของจระเข้ “จะเปลี่ยนมุมมองได้ เราต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้คนรู้ว่ามันมีประโยชน์ยังไง”

พญาชาละวัน ตำนานจระเข้แห่งเมืองพิจิตร แตกต่างจากพ่อที่เป็นจระเข้ทรงศีลไม่กินเนื้อสัตว์ ชาละวันกลับอาละวาดสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน

ทว่าหากมองในมุมของทฤษฎีวิวัฒนาการแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ หากความเกลียดกลัวที่เกิดขึ้นเป็นสัญชาตญาณ สถาบันมักซ์พลังค์ในเยอรมนีเคยทดลองว่าทารกวัย 6 เดือนมีความกลัวสัตว์หรือไม่? ด้วยการทดสอบปฏิกิริยาที่มีต่อรูปภาพต่างๆ ผลการทดลองพบว่าเมื่อทารกเห็นภาพงูและแมงมุม พวกเขาตอบสนองด้วยรูม่านตาที่เบิกกว้าง บ่งชี้ว่าความหวาดกลัวลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดีผลการทดลองนี้ยังไม่สามารถให้เหตุผลได้ว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมบางคนจึงเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานหรือแมงมุมเป็นสัตว์เลี้ยง? (อ่านเกี่ยวกับการทดลองเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

“ก็เป็นไปได้นะครับ เพราะคนเราก็วิวัฒนาการมาจากลิง ในธรรมชาติสัตว์ที่ล่าเราก็คงหนีไม่พ้น เสือ จระเข้ งู สิ่งนี้อาจฝังในหัวเรามาตั้งนานแล้ว” คุณรุจิระให้ความเห็น “สำคัญคือการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นก่อนครับ แค่รับรู้ว่าบทบาทของจระเข้ในธรรมชาติมันมีความสำคัญ ดีต่อระบบนิเวศยังไง แค่นั้นก็โอเคแล้วครับ”

ฉะนั้นแล้วหากใครที่ยังคงฝังใจกับชาละวันเอย หรือไอ้ด่างเกยชัยเอย ก็ไม่ผิดอะไร เพียงตระหนักไว้ว่าหากคุณไม่ทำอะไรมันก่อน วายร้ายเหล่านี้ก็ไม่อยากทำร้ายคุณเช่นกัน ในกรณีที่คุณไม่ได้เอาตัวเองไปเสี่ยง เช่น ลงว่ายน้ำในพื้นที่ห้าม หรือบุกรุกเข้าไปในถิ่นที่อยู่ของมัน

 

อ่านเพิ่มเติม

เป็นคุณจะทำอย่างไร? เมื่อปากจระเข้อยู่ใกล้แค่เอื้อม

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

คุณมนตรี สุมณฑา นักวิจัยปลาและสัตว์เลื้อยคลาน กรมประมง

คุณรุจิระ มหาพรหม นักวิจัยด้านสัตว์ป่า จากองค์การสวนสัตว์

SO, TURNS OUT CROCODILES CAN CLIMB TREES

Beware in the Bayou: Alligators and Crocodiles Can Climb

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.