แมงกะพรุนถ้วยซึ่งพบได้ในอ่าวน้ำตื้นรอบโลก ดูเหมือนดวงวิญญาณน้อยๆ ที่ไม่เป็นมิตรนัก พวกมันมีลำตัวทรงระฆังโปร่งแสงขลิบด้วยหนวดสีซีด และระหว่างที่พวกมันแหวกว่ายไปด้วยการบีบและคลายลำตัวเป็นจังหวะ ท้องน้ำรอบๆ ก็ดูเหมือนมีชีวิตขึ้นมา ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งชาติในบอลทิมอร์ เมื่อผู้มาเยือนได้รับการเชื้อเชิญให้ลองจับแมงกะพรุนถ้วย ปฏิกิริยาแรกของพวกเขามักเป็นความกลัว แต่หลังได้รับการยืนยันว่า แมงกะพรุน จะไม่ทำร้ายพวกเขา เหล่าผู้มาเยือนก็ถลกแขนเสื้อขึ้น แล้วยื่นมือลงไปในแท็งก์อย่างกล้าๆกลัวๆ
“ตัวมันหยุ่นชะมัด!” ฉันได้ยินเด็กชายคนหนึ่งร้องบอก
“พวกมันเจ๋งสุดๆ ไปเลยค่ะ!” เด็กหญิงคนหนึ่งบอกอย่างตื่นเต้น
“ฉันคิดว่าพวกมันงดงามราวกับมีมนตร์สะกดจริงๆ” เจนนี แจนส์เซน ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลแมงกะพรุนในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้ บอกฉัน
น่ากลัว หยุ่นนิ่ม เจ๋ง ไร้สมอง งดงาม แมงกะพรุนคือทุกอย่างที่กล่าวมาและอีกมากกว่านั้น ในทางกายวิภาค แมงกะพรุนหาใช่เพียงไร้สมอง แต่ยังไร้เลือด ไร้กระดูก และมีอวัยวะรับสัมผัสขั้นพื้นฐานเท่านั้น แม้จะมีชื่อแปลตรงตัวว่า “ปลาวุ้น” (jellyfish) แต่แน่ละ พวกมันไม่ใช่ปลา พวกมันไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันทั้งหมดด้วยซ้ำ
สิ่งมีชีวิตที่เรียกรวมๆ กันว่าแมงกะพรุน ไม่ได้เป็นญาติสนิทชิดเชื้อกันมากไปกว่าม้าน้ำกับม้า พวกมันไม่เพียงอยู่ต่างกิ่งก้านสาขาในสาแหรกตระกูลของสัตว์เท่านั้น แต่ยังใช้ชีวิตในถิ่นอาศัยแตกต่างกันด้วย หลายชนิดชอบพื้นผิวมหาสมุทร ขณะที่ชนิดอื่นๆ ชอบน่านน้ำลึก และบางชนิดชอบน้ำจืดมากกว่า จุดร่วมของพวกมันคือ พวกมันวิวัฒน์กลยุทธ์ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบล่องลอยตามกระแสน้ำ นั่นคือร่างกายที่มีลักษณะคล้ายวุ้น
หากพิจารณาจากประวัติวิวัฒนาการอันหลากหลายของพวกมันแล้ว ไม่น่าแปลกใจที่แมงกะพรุนจะมีขอบเขตความแตกต่างของรูปทรง ขนาด และพฤติกรรม อย่างกว้างขวางน่าทึ่งถึงเพียงนี้ เมื่อพูดถึงการสืบพันธุ์ พวกมันมีวิธีการหลากหลายที่สุดในโลก แมงกะพรุนสามารถผลิตลูกหลานได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดพันธุ์ พวกมันอาจสร้างสำเนาของตัวเองได้โดยการแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง หรือวางตัวอ่อนในรูปกลุ่มเซลล์ทรงยาวรีเล็กๆ หรือสลัดโคลนนิ่งรูปทรงเหมือนเกล็ดหิมะเล็กจิ๋วออกมาในกระบวนการที่เรียกว่า สตรอบิเลชัน (strobilation) และที่น่าทึ่งที่สุดคือ แมงกะพรุนบางชนิดดูเหมือนจะยังสืบพันธุ์ได้แม้กระทั่งหลังความตาย
แมงกะพรุนที่เรียกกันว่า แมงกะพรุนอมตะ สามารถย้อนกลับกระบวนการชราภาพได้ ดังนั้นแทนที่จะแก่ตายไป พวกมันจะเปลี่ยนตัวเองกลับไปเป็นวัยเยาว์ แล้วแมงกะพรุนวัยเยาว์เหล่านี้ก็เริ่มวงจรชีวิตของแมงกะพรุนซ้ำใหม่อีกรอบ นักวิทยาศาสตร์เรียกกระบวนการใกล้เคียงกับปาฏิหาริย์นี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์แบบข้ามชนิดเนื้อเยื่อ (transdifferentiation)
ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ประชากรแมงกะพรุนในบางพื้นที่ของโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก ในทศวรรษ 1980 หวีวุ้นชนิดหนึ่งที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Mnemiopsis leidyi และเรียกกันทั่วไปว่า วอลนัตทะเล ปรากฏตัวขึ้นในทะเลดำ สัตว์พื้นถิ่นจากแถบตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหล่านี้อาจติดมากับน้ำอับเฉาเรือ ก่อนถูกปล่อยลงสู่ทะเลในเวลาต่อมา พอมาอยู่ในทะเลดำ พวกมันแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกระทั่งถึงปี 1989 ความหนาแน่นพุ่งสูงขึ้นถึง 400 ตัวต่อน้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตร ปลาไม่สามารถแย่งชิงอาหารกับหวีวุ้นพวกนี้ได้ เพราะวอลนัตทะเลกินอาหารมากกว่าน้ำหนักตัวถึงวันละ 10 เท่า และปลาหลายชนิดก็ลงเอยด้วยการกลายเป็นอาหารของหวีวุ้นเหล่านี้เสียเอง กิจการประมงในท้องถิ่นถึงกับล่มสลายเลยทีเดียว
ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ฝูงแมงกะพรุนคุกคามคนลงเล่นน้ำ และทำให้อวนอุดตัน เมื่อปี 2006 ชายหาดหลายแห่งในอิตาลีและสเปนถูกสั่งปิด เพราะการสะพรั่งของแมงกะพรุนที่รู้จักกันในชื่อแมงกะพรุนเพลาเกีย ในปี 2013 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสวีเดนต้องปิดชั่วคราว เพราะแมงกะพรุนถ้วยทำให้ท่อส่งน้ำเข้าอุดตัน
สถานการณ์ทำนองนี้ก่อให้เกิดกระแสข่าวว่า แมงกะพรุนกำลังยึดครองท้องทะเล ทว่านักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า สถานการณ์นี้ซับซ้อนกว่าเนื้อหาของพาดหัวข่าวเหล่านั้น
(เคยเห็นลูกแมงกะพรุนไฟกันไหม?)
“การสะพรั่งครั้งใหญ่ของแมงกะพรุนมักเป็นพาดหัวข่าว แต่เวลาไม่พบเห็นการสะพรั่งของแมงกะพรุนเลยกลับไม่มีค่าพอให้เสนอเป็นข่าวด้วยซ้ำครับ” ลูคัส บรอตซ์ นักสัตววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าว นักวิจัยในหลายพื้นที่ของโลกรายงานถึงการลดจำนวนลงของแมงกะพรุนหลายชนิดที่พวกเขาพบเจอ
คำถามน่าคิดคือ หากผู้คนมีประสบการณ์ไม่น่าพิสมัยจากการพบเจอแมงกะพรุนมากขึ้น นั่นเป็นเพราะพวกมันยึดครองท้องทะเล หรือที่จริงแล้วเป็นพวกเราเองต่างหาก
เรื่อง เอลิซาเบท โคลแบร์
ภาพถ่าย เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์
อ่านเพิ่มเติม