ร่องรอยการถูกกัดบนฟอสซิลปีกของเทอโรซอร์สายพันธุ์หนึ่งบอกเล่าประสบการณ์เฉียดตาย เมื่อมันเกือบจะตกเป็นอาหารมื้อใหญ่ของ ฉลามโบราณ อย่าง Squalicorax
ฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานโบราณบินได้นี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2014 ณ แหล่งบรรพชีวินวิทยาในรัฐแอละแบมา เผยให้เห็นว่าปีกอันแปลกประหลาดคือที่หมายปองของสัตว์นักล่าอย่างไดโนเสาร์, จระเข้โบราณ ไปจนถึงปลาขนาดใหญ่ และที่สำคัญก็คือ มันยังสะท้อนว่าร่างกายของเทอโรซอร์ไม่ได้มีลักษณะเป็นหนังหุ้มกระดูกอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ
“จริงๆ เทอโรซอร์มีเนื้อเยอะมาก” Michael Habib ผู้เชี่ยวชาญด้านเทอโรซอร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียกล่าว “พวกมันไม่ใช่สัตว์ผอมแห้งแบบที่ปรากฏในหนังหรือในภาพวาด กล้ามเนื้อปีกของมันเป็นอาหารคุณภาพเลยทีเดียว”
ฟอสซิลปีกที่มีร่องรอยถูกกัดนี้ให้ข้อมูลว่า มันคือเทอโรซอร์สายพันธุ์ที่มีชื่อเรียกว่า เทอราโนดอน มันมีระยะห่างระหว่างปลายปีกทั้งสองข้างยาว 4.5 เมตร และน่าจะมีน้ำหนักตัวราว 27 – 40 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ถูกล่าได้โดยปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่ ไปจนถึง Squalicorax ฉลามโบราณความยาว 4.5 เมตร
รายงานการค้นพบล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Palaios รอยกัดบนกระดูกของมันเข้ากันได้พอดีกับระยะห่างฟันของฟอสซิลปลาโบราณสองสายพันธุ์ หนึ่งคือฉลาม Squalicorax และสองคือปลาในวงศ์ปลาสากความยาว 1.2 – 1.8 เมตร ที่มีชื่อเรียกว่า Sauradon
“ฟอสซิลชิ้นนี้ไม่ธรรมดาครับ เพราะมันสามารถตีความผู้ล่าได้ถึงสองสายพันธุ์” Dana Ehret นักบรรพชีวินวิทยาผู้นำการวิจัย จากพิพิธภัณฑ์รัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าว “เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมาก ปกติแล้วรอยถูกล่าบนตัวเทอโรซอร์ไม่ใช่สิ่งที่พบกันได้ง่ายๆ” Habib กล่าวเสริม
ฉลามชุกชุม
ก่อนหน้านี้ ระหว่างการเตรียมฟอสซิลในพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยแอละแบมา T. Lynn Harrell ผู้เป็นภัณฑารักษ์และอดีตนักศึกษาของ Ehret เข้าใจว่าตัวเขาบังเอิญสร้างความเสียหายให้แก่ฟอสซิลขณะทำความสะอาดชอล์กออกจากผิว แต่ต่อมาหลังการตรวจสอบพบว่านี่ไม่ใช่รอยที่เพิ่งเกิดใหม่ หากคือหลักฐานการเผชิญหน้ากับผู้ล่าสุดสะพรึง
“เขาคิดว่าผมจะต้องโมโหแน่” Ehret กล่าว “แต่แล้วเขาก็นึกขึ้นได้ว่าเคยเห็นรอยขนานสี่รอยนี้บนฟอสซิลอื่น ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นรอยกัด” ในการหาคำตอบ ทั้งคู่ลองเอาขากรรไกรของปลานักล่าที่พิพิธภัณฑ์มีมาวางเทียบกับรอยกัด และพบว่ามันเข้ากันได้พอดีกับฟันของฉลาม Squalicorax และปลา Saurodon
อันที่จริงมีหลายฟอสซิลจากปลายยุคครีเตเชียส ในรัฐแอละแบมา ที่มีร่องรอยถูกฉลามกัด ในจำนวนนี้มีตั้งแต่เต่าทะเลและไดโนเสาร์ รายงานจาก Ehret เนื่องจากในโลกโบราณ ภูมิภาคบางส่วนของแอละแบมาจมอยู่ในเขตน้ำตื้น และเป็นทางออกไปสู่ Western Interior Seaway น่านน้ำขนาดใหญ่กลางทวีปอเมริกาเหนือที่แบ่งแยกทวีปออกเป็นสองฝั่ง และจากหลักฐานทางฟอสซิลบ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณนี้ชุกชุมไปด้วยฉลาม “ผมไม่เคยพบฟันฉลามมากมายขนาดนี้มาก่อน ทั้งยังหลากหลายสายพันธุ์เหลือเกิน” Ehret กล่าว
ที่มารอยกัด
ในปลายยุคครีเตเชียส เทอราโนดอนมีถิ่นอาศัยบริเวณชายฝั่งออกหากินด้วยการล่าปลาขนาดเล็ก ในเขตที่มีฉลามชุกชุม Habib ระบุว่าพวกมันลอยน้ำได้ แต่จะไม่อ้อยอิ่งในน้ำนานเกินไป เนื่องจากที่ข้างใต้มีผู้ล่าดักรออยู่ “พวกมันต้องจับปลาและขึ้นจากผิวน้ำอย่างรวดเร็ว แต่อันที่จริงเทอโรซอร์เหล่านี้เสี่ยงตายจากฉลามตั้งแต่วินาทีที่มันตัดสินใจลงน้ำแล้ว”
Ehret ค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ล่าใต้ทะเลกระโจนขึ้นจากน้ำเพื่อคว้าตัวเทอโรซอร์เอาไว้ แม้ยากที่จะระบุพฤติกรรมได้ชัดเจนจากฟอสซิลชิ้นเดียว หรือพวกมันอาจล้มตายใกล้ฝั่ง และถูกพายุซัดร่างลงน้ำ เหตุที่เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาก็เพราะร่องรอยการถูกล่าบนฟอสซิลเทอโรซอร์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ค้นพบได้บ่อยนัก ด้าน Mark Witton ผู้เชี่ยวชาญเทอโรซอร์จากมหาวิทยาลัย Portsmouth ในสหราชอาณาจักรเสริมว่า อีกหนึ่งปัจจัยก็คือกระดูกของพวกมันค่อนข้างเปราะ และเป็นโพรงอากาศภายใน ดังนั้นจึงแตกกระจายด้วยแรงกัดของฉลาม
“ข้อมูลมีน้อยครับ แต่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” Witton กล่าว ตัวเขาประมาณจำนวนว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างฟอสซิลเทอราโนดอนที่ค้นพบจำนวน 1,100 ตัวอย่าง ล้วนมีร่องรอยถูกฉลามกัด และส่วนใหญ่แล้วยังไม่ได้ถูกศึกษาอย่างละเอียด นอกจากนั้นยังกล่าวชื่นชมการค้นพบของ Ehret และ Harrell ที่ช่วยฉายภาพให้เราเห็นปฏิสัมพันธ์ของสัตว์โบราณที่มีต่อกัน
เรื่อง จอห์น พิคเรล
อ่านเพิ่มเติม