ค้นพบเทอโรซอร์พันธุ์ใหม่ในทรานซิลเวเนีย

ค้นพบเทอโรซอร์พันธุ์ใหม่ในทรานซิลเวเนีย

ค้นพบ เทอโรซอร์ พันธุ์ใหม่ในทรานซิลเวเนีย

ฟอสซิลขากรรไกรล่างที่ถูกค้นพบในโรมาเนียล่าสุดนี้ เป็นชิ้นส่วนกระดูกของ เทอโรซอร์ ที่อาจจะใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา เชื่อกันว่าในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่บนดินแดนที่กลายมาเป็นภูมิภาคทรานซิลเวเนียในปัจจุบัน ระยะห่างจากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างของมันนั้นมีความกว้างถึง 8.8 เมตรเลยทีเดียว

ในช่วงท้ายของยุคครีเตเชียส ช่วงเวลานั้นระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบันมากทรานซิลเวเนียยังคงมีสภาพเป็นหมู่เกาะ มันเป็นช่วงเวลาไม่นานก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตของเทอโรซอร์และไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นกจนหมดโลก จากฟอสซิลขากรรไกรล่างดูเหมือนว่าเทอโรซอร์ที่เพิ่งถูกค้นพบนี้จะเป็นสายพันธุ์ที่ตัวใหญ่แข็งแรง เชื่อกันว่ามันกินไข่ไดโนเสาร์, จระเข้ขนาดเล็ก, เต่า และปลาที่หาได้ตามแนวชายฝั่งเป็นอาหาร

เทอโรซอร์
โครงกระดูกของเทอโรซอร์ “แดรกคูล่า” เทอโรซอร์ที่ถูกค้นพบจากภูมิภาคเดียวกันกับฟอสซิลขากรรไกรของเทอโรซอร์สายพันธุ์ใหม่ล่าสุด
ภาพถ่ายโดย Aart Walen

“มันไม่ใช่เทอโรซอร์ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบมา แต่ขากรรไกรล่างของมันต่างหากที่ใหญ่ที่สุด โดยมีความยาว 110 – 130 เซนติเมตร” Mátyás Vremir นักบรรพชีวินวิทยาจากสมาคมพิพิธภัณฑ์ทรานซิลเวเนียนกล่าว ตัวเขาเป็นผู้นำการวิจัยในการค้นพบใหม่ครั้งนี้ และผลการวิจัยถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Lethaia “ขนาดขากรรไกรของมันบ่งบอกถึงขนาดตัว เจ้าตัวนี้น่าจะมีระยะห่างจากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังปีกอีกข้างราว 8 – 9 เมตร”

เจ้าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้เป็นเทอโรซอร์ชนิดพันธุ์ที่สามแล้วที่พบในภูมิภาคนี้ นั่นหมายความว่าในอดีตเองทรานซิลเวเนียเป็นสถานที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลานบินได้จำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมไปถึงฟอสซิลของเทอโรซอร์ที่ถูกค้นพบในปี 2009 และได้รับการตั้งชื่อว่า “แดรกคูล่า” โดยนักวิจัยสมัยนั้น และมันได้ชื่อว่าเป็นเทอโรซอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาบนโลกด้วยระยะห่างจากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างถึง 12 เมตร และการศึกษาพวกเทอโรซอร์เหล่านี้กำลังมีส่วนช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาเข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเทอโรซอร์ในระบบนิเวศแบบก่อนประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยพวกมันเป็นสัตว์แปลกประหลาดที่ไม่อาจเทียบเคียงกับสัตว์ใดได้ในปัจจุบัน เทอโรซอร์ไม่ใช่ไดโนเสาร์ และเทอโรซอร์มีความหลากหลายมากเสียจนขนาดของพวกมันมีตั้งแต่ตัวเท่านกนางนวลไปจนถึงตัวเท่ายีราฟ

“นอกเหนือจากฟอสซิลชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว หลังผ่านไปหนึ่งศตวรรษของความพยายามค้นหาฟอสซิลในทรานซิลเวเนีย ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเทอโรซอร์เลย จนกระทั่งเมื่อ 16 ปีที่แล้ว”  Vremir กล่าว  “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการค้นพบสำคัญๆ เพิ่มขึ้น และเราสามารถรวบรวมตัวอย่างฟอสซิลได้มากถึง 50 ตัวอย่างจากหลายสถานที่”

เทอโรซอร์
บริเวณหน้าผาที่เป็นแหล่งค้นพบฟอสซิล ในอดีตสถานที่แห่งนี้ถูกน้ำทะเลท่วมและมีสถานะเป็นหมู่เกาะ
ภาพถ่ายโดย Marton Vremir

 

สัดส่วนที่น่าประหลาด

หนึ่งในเทอโรซอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด Hatzegopteryx เองก็มาจากเมือง Hateg  ในภูมิภาคทรานซิลเวเนีย มันมีความสูงเท่ากับยีราฟและเชื่อกันว่าอาจมีระยะห่างจากปลายปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างมากถึง 10.9 เมตร และด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกันของฟอสซิลขากรรไกรที่ค้นพบใหม่นี้กับฟอสซิลเทอโรซอร์จากฮังการีที่มีชื่อว่า Bakonydraco ทำให้ Vremir และทีมวิจัยเชื่อว่าเจ้าเทอโรซอร์ที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อนี้น่าจะมีขนาดใหญ่กว่า Hatzegopteryx ด้วยซ้ำ

เทอโรซอร์ทั้งหลายล้วนเป็นสมาชิกในวงศ์สัตว์ที่เราเรียกกันว่าอัซห์ดาร์คิด (azhdarchid) เมื่อไม่ได้บิน พวกมันจะเดินสี่ขาไปมาและล่าเหยื่อบนพื้นดิน โดยมีเอกลักษณ์คือหัว คอ และปีกขนาดใหญ่รายงานจาก Michael Habib ผู้เชี่ยวชาญด้านเทอโรซอร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ยกตัวอย่างเช่น Quetzalcoatlus เทอโรซอร์ที่มีส่วนหัวยาวเป็นสามเท่าของความยาวจากหัวไหล่ไปยังสะโพก

เทอโรซอร์
Mátyás Vremir นักบรรพชีวินวิทยาจากสมาคมพิพิธภัณฑ์ทรานซิลเวเนียนกำลังค้นหาฟอสซิลของเทอโรซอร์
ภาพถ่ายโดย Marton Vremir

“บางตัวก็ยิ่งยาวและผอมกว่านี้อีกนะครับ ในขณะที่บางตัวก็ใหญ่หนาแข็งแรง เพื่อสำหรับล่าเหยื่อขนาดใหญ่” Habib กล่าว “เราต้องคาดคะเนพวกมันมากพอสมควรเลย เพราะว่าไม่มีฟอสซิลของเทอโรซอร์หลงเหลือมากนัก แต่จากฟอสซิลล่าสุดที่พบนี้มันมีขากรรไกรที่แข็งแรงกว่าเทอโรซอร์อื่นๆ ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจชื่นชอบการล่าเหยื่อตัวใหญ่ๆ”

 

ชีวิตบนพื้นดิน

ฟอสซิลชิ้นล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคขนาดใหญ่ในการตามหาเทอโรซอร์ที่เคยมีชีวิตอยู่สมัยปลายยุคครีเตเชียส ในทรานซิลเวเนีย ซึ่ง Vremir ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยการแข่งขันเอาชีวิตรอดของสัตว์ใหญ่ยักษ์ เทอโรซอร์สักคู่หนึ่งอาจบังเอิญบินมายังหมู่เกาะในโรมาเนีย และพวกมันกลายเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในห่วงโซอาหาร สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่ปลอดภัยสำหรับการสร้างรังและวางไข่

แม้จะยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับมัน แต่ขณะนี้คุณสามารถชมเทอโรซอร์จำลองที่มีขนาดตัวเท่าของจริงได้ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ Altmühltal ในเยอรมนี มันมีความสูงถึง 3.5 เมตร และมีระยะห่างระหว่างปลายปีกทั้งสองข้างถึง 11.8 เมตรเลยทีเดียว และที่มากไปกว่านั้นก็คือเห็นได้ชัดว่ารูปร่างกระดูกส่วนไหล่และปีกของมันนั้นไม่น่าจะสามารถใช้ในการบินได้จริง เมื่อพิจารณาประกอบกับขนาดตัวอันใหญ่โตของมัน

เทอโรซอร์
ตัวอย่างกระดูกข้อมือของเทอโรซอร์ “แดรกคูล่า” จากโรมาเนีย
ภาพถ่ายโดย Vremir Matyas
เทอโรซอร์
ฟอสซิลบางส่วนของเทอโรซอร์แดรกคูล่า จากเมือง Sebes ในโรมาเนีย
ภาพถ่ายโดย Vremir Matyas

อย่างไรก็ดี Habib กล่าวว่า นั่นไม่ได้หมายความว่าเทอโรซอร์บินไม่ได้เลยตลอดช่วงชีวิตของมัน เป็นไปได้ว่าพวกมันอาจจะต้องพึ่งพาการบินในช่วงแรกๆ ที่เพิ่งฟักออกจากไข่ จนกระทั่งเมื่อเติบโตและมีน้ำหนักมากขึ้น การบินก็ไม่สำคัญอีกต่อไปเมื่อไม่มีนักล่าที่ตัวใหญ่กว่ามัน

“ผมค่อนข้างมั่นใจนะว่าเจ้ายักษ์ใหญ่นี่บินไม่ได้”  Vremir กล่าว “ข้อเปรียบเทียบที่ดีก็คือการดูจากนกช้างในมาดากัสการ์ เนื่องจากในปลายยุคครีเตเชียสทรานซิลเวเนียเองก็ยังเป็นเกาะเช่นกัน”

เทอโรซอร์ยักษ์ใหญ่จากทรานซิลเวเนียดูเหมือนจะมีความหลากหลายมากและแปลกประหลาดกว่าสิ่งใดที่เรารู้จัก Dave Hone นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ในลอนดอนกล่าว “ระบบนิเวศของเกาะเป็นที่รวมเรื่องประหลาด ก่อนหน้านี้เราก็ค้นพบฟอสซิลแปลกๆ จากเมือง Hateg มาแล้ว และด้วยความที่บนเกาะไม่มีนักล่าอื่น ดังนั้นสถานะของเทอโรซอร์เหล่านี้จึงไม่ต่างจากไทแรนโนซอรัสแห่งหมู่เกาะ”

เรื่อง John Pickrell

 

อ่านเพิ่มเติม

เทอโรซอร์ ยักษ์ใหญ่ครองเวหา

Recommend