ทำไม ยีราฟ ต้องมีลวดลายด้วย? และเป็นไปได้ไหมที่รูปแบบลายเหล่านี้ ลูกยีราฟ ได้รับมาจากพ่อแม่ไม่ต่างจากมรดก? นี่คือปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถไขได้ชัดเจน และขณะนี้ Derek Lee และ Monica Bond นักวิจัยที่ลงพื้นที่สำรวจยีราฟป่าทางตอนเหนือของแทนซาเนีย มาตั้งแต่ปี 2011 กำลังพยายามหาคำตอบ
จากรายงานการค้นพบใหม่ที่เผยแพร่ลงในวารสาร PeerJ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ลักษณะรูปแบบของลวดลายบนตัวยีราฟคือมรดกตกทอด และดูเหมือนว่าเหตุผลเบื้องหลังก็เพื่อช่วยให้ลูกยีราฟมีชีวิตรอด ซึ่งแม่ยีราฟเป็นผู้ถ่ายทอดลวดลายเหล่านี้ให้แก่บรรดาลูกๆ
นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบอีกว่า การมีลายจุดที่กลมและใหญ่ในลูกยีราฟเชื่อมโยงกับอัตราการรอดชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น แม้จะยังไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน สันนิษฐานว่าลวดลายดังกล่าวช่วยพรางตัวลูกยีราฟจากบรรดานักล่า หรืออาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ไปจนถึงคุณประโยชน์อื่นๆ ที่ขณะนี้ยังคงไม่ทราบชัดเจน
“การค้นพบนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่า เรามีองค์ความรู้น้อยมากเกี่ยวกับรูปแบบลวดลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” Lee กล่าว ในฐานะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์ Wild Nature Institute ร่วมกับ Bond “พวกเราไม่เคยมองลายใกล้ๆ กันเลย ว่ามันมีความหมายอะไร”
รายงานจาก Julian Fennessy หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Giraffe Conservation Foundation และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้มีความน่าสนใจและถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ ทว่านี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างเท่านั้น และจะเยี่ยมยอดกว่านี้ถ้าเปรียบเทียบงานวิจัยนี้กับงานวิจัยยีราฟในพื้นที่อื่นๆ ไปจนถึงยีราฟต่างสายพันธุ์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบใหม่นี้ที่สุดเกิดขึ้นในปี 1968 โดย Anne Innis Dagg ผู้เชี่ยวชาญด้านยีราฟ ซึ่งค้นพบหลักฐานบ่งชี้ว่าขนาด, รูปร่าง, สี และจำนวนของลายจุดบนตัวยีราฟสามารถส่งต่อไปยังลูกได้ ทว่าในเวลานั้นงานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นเพียงงานวิจัยจากประชากรยีราฟในสวนสัตว์เท่านั้น ไม่ใช่ยีราฟในธรรมชาติ
สำหรับการค้นพบล่าสุดนี้ นักวิทยาศาสตร์มุ่งเป้าการศึกษาไปที่ยีราฟมาไซ ที่มีถิ่นอาศัยในแอฟริกาตะวันออก และเป็นสายพันธุ์ยีราฟที่มีมากที่สุดในโลก งานวิจัยเริ่มต้นในปี 2012 Lee และ Bond เดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวไม่นิยมไปในอุทยานแห่งชาติ Tarangire ของแทนซาเนีย พวกเขาต้องสู้รบปรบมือกับแมลงวัน tsetse จำนวนนับไม่ถ้วน ในระหว่างการถ่ายภาพ และสังเกตพฤติกรรมการดูดนมแม่ของลูกยีราฟตลอด 4 ปี ทั้งยังทำงานวิจัยยีราฟแม่ลูกจำนวน 31 คู่ จากนั้นพวกเขาร่วมงานกับ Douglas Canener เพื่อใช้ซอฟแวร์ในการวิเคราะห์ลวดลายของยีราฟที่พวกเขาถ่ายภาพมาได้ จากข้อมูลที่มี พวกเขาแบ่งรูปแบบลวดลายออกเป็น 11 แบบด้วยกัน จากรูปร่าง, สี, ขนาด และจำนวน ตลอดจนความคล้ายคลึงกันของรูปแบบลวดลายในยีราฟแม่กับลูก
พวกเขาพบว่า ในลูกยีราฟที่มีลายจุดขนาดใหญ่และไม่สม่ำเสมอกันจะมีอัตราการรอดชีวิตในช่วงเดือนแรกมากกว่ายีราฟทั่วไปราว 7.5% พร้อมระบุว่าลวดลายของมันจะไม่เปลี่ยนแปลง แม้มีอายุมากขึ้น นั่นหมายความว่าลายของยีราฟสามารถใช้ระบุอัตลักษณ์ของยีราฟแต่ละตัวได้ และในจำนวนนี้มีอยู่ 2 รูปแบบของลวดลายที่ถูกส่งผ่านจากแม่ไปสู่ลูก
ด้าน Craig Holdrege ผู้เขียนหนังสือ “The Giraffe’s Long Neck” ชี้ว่าจากการวิจัยค่อนข้างมีหลักฐานชัดเจนว่าลวดลายบนตัวยีราฟนั้นถูกถ่ายทอดมาจากแม่ แต่เสริมว่าข้อสรุปที่ระบุว่าลวดลายดังกล่าวมีผลเกี่ยวกับการอยู่รอดของลูกยีราฟนั้นยังเป็นเพียงสมมุติฐาน “มันง่ายที่จะสรุปความเชื่อมโยงระหว่างลวดลายกับการป้องกันตัวจากผู้ล่า แต่นั่นยังเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น” ในขณะที่ Lee เสริมว่า ข้อสมมุติฐานของพวกเขามีความเป็นไปได้ และการทดลองซ้ำคือกระบวนการสำคัญในฐานะวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ Lee คาดหวังว่างานวิจัยของเขาจะเป็นข้อมูลอ้างอิงให้แก่งานวิจัยยีราฟอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงสัตว์สายพันธุ์อื่นด้วย “มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกมากที่มีลวดลายสลับซับซ้อน และเรามีความรู้เกี่ยวกับมันเพียงน้อยนิด”
เรื่อง Tik Root
อ่านเพิ่มเติม