อันที่จริงต้องขอบคุณการกระทำของปลัดและพรรคพวกล่า หมีขอ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค เมื่อหลายวันก่อน แม้ว่าจะไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าการกลายเป็นข่าวดังส่งผลให้ชื่อและเรื่องราวของ “หมีขอ” เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างความสำคัญของมันในระบบนิเวศ และเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงควรอนุรักษ์หมีขอถูกส่งต่อผ่านโลกออนไลน์มากมาย สิ่งนี้คือนัยสำคัญ เพราะยิ่งผู้คนรู้จักมันมากขึ้นเท่าไหร่ ชะตาชีวิตของหมีขอตามธรรมชาติเองก็จะได้รับการปกป้องมากขึ้นเท่านั้นตาม ดูอย่างกรณีของแพนด้า หรือเสือดำ เป็นต้น
ชื่อ “หมีขอ” มาจากการที่เจ้าสัตว์ในวงศ์ชะมดและอีเห็นตัวนี้ดันมีหน้าตาละม้ายคล้ายหมี แต่อันที่จริงมันคือสัตว์น้ำหนักตัวเบา รูปร่างเพรียว คล่องแคล่ว มีอุ้งเล็บ และออกหากินในเวลากลางคืนด้วยการล่าผลไม้ และสัตว์ขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างจากหมีโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นแล้วในสัตว์บางชนิด ชื่อสามัญของมันที่มาจากรูปร่างหน้าตา หรือถิ่นอาศัย จึงไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ชัดเจน และเกิดความสับสน นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่มัน พร้อมแบ่งกลุ่มสัตว์ประเภทนั้นๆ เข้าสกุล (Genus) วงศ์ (Family) และอันดับ (Order) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยฉายภาพให้เห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งมีชีวิตนั้นๆ มีวิวัฒนาการ เครือญาติ และบรรพบุรุษร่วมกันกับใคร เนื่องจากในบางกรณี แม้สิ่งมีชีวิตดังกล่าวจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกับอีกชนิดหนึ่ง แต่หากพิจารณาในทางชีววิทยาแล้วกลับพบว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
และแน่นอนว่าหมีขอ ไม่ใช่สัตว์ชนิดเดียวที่มีชื่อเรียกสามัญไม่ตรงกับวงศ์หรืออันดับของมัน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกรวบรวมรายชื่อส่วนหนึ่งมาให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับสัตว์เหล่านี้มากขึ้นกัน
เสือแทสเมเนีย
พิจารณาจากรูปภาพของเสือแทสเมเนีย คุณคงแย้งขึ้นมาใจในว่าดูยังไงนี่ก็สุนัขชัดๆ ชื่อของมันมาจากลายทางด้านหลังคล้ายเสือ ในขณะที่หน้าตาคล้ายสุนัขก็ทำให้มันถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หมาป่าแทสมาเนียด้วยเช่นกัน แต่อันที่จริงสิ่งมีชีวิตชนิดนี้อยู่ในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupialia) ประเภทเดียวกับจิงโจ้ และโคอาลา โดยคำว่า Marsupialia มาจากภาษาละติน แปลว่า กระเป๋า หรือ ถุง
ปัจจุบันเสือแทสเมเนียสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ญาติของมัน “แทสเมเนียนเดวิล” ในวงศ์ Dasyuridae ซึ่งเป็นชื่อเรียกสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลียและนิวกินียังคงมีชีวิตอยู่ ทว่ามีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และถือเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องประเภทกินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
แพนด้าแดง
โปรดจำไว้ว่าแพนด้าแดงไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับแพนด้ายักษ์ อันที่จริงมันอยู่คนละเส้นทางเลยก็ว่าได้เพราะหมีแพนด้ากินพืช ในขณะที่แพนด้าแดงเป็นสัตว์กินเนื้อ เดิมถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับแรคคูน ด้วยลักษณะทางกายภาพ ต่อมาจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ นักวิทยาศาสตร์พบว่า แพนด้าแดงแยกสายวิวัฒนาการออกมาจากแรคคูนเมื่อราว 40 ล้านปีก่อน นั่นทำให้พวกมันมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างจากแรคคูน แพนด้าแดงจึงถูกจัดอยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ วงศ์แพนด้าแดง (Ailuridae) โดยเฉพาะ และปัจจุบันพวกมันคือสัตว์ชนิดเดียวในวงศ์นี้ เนื่องจากเครือญาติสมาชิกวงศ์ชนิดอื่นๆ ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้วในยุคน้ำแข็ง ดังนั้นแพนด้าแดงจึงได้รับฉายาอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟอสซิลมีชีวิต”
ปลาดาว
ปลาดาว หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ดาวทะเล ห่างไกลจากปลาชนิดที่เรียกว่าคนละไฟลัมเลยทีเดียว เพราะปลาจัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ส่วนดาวทะเลอยู่ในไฟลัมของสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อันที่จริงยังมีสัตว์น้ำอื่นๆ อีกเช่น โลมา, วาฬ และหมึก ที่ถูกเหมารวมเรียกว่าปลา ด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วด้วยลักษณะทางกายภาพพวกมันไม่ใช่ปลา เนื่องจากการจะถูกพิจารณาว่าเป็นปลาได้นั้น สิ่งมีชีวิตดังกล่าวต้องหายใจด้วยเหงือก และเป็นสัตว์เลือดเย็น
สำหรับดาวทะเลถูกจัดอยู่ในไฟลัมย่อยอิคีเนอเดอร์เมอเทอ (Echinodermata) กลุ่มเดียวกับปลิงทะเล เม่นทะเล และพลับพลึงทะเล มีความหมายว่าผิวหนังที่เป็นหนาม มีเอกลักษณ์คือช่องปากกลางตัว และรยางค์ที่ยื่นออกไปรอบๆ และหายใจด้วยเหงือกซึ่งอยู่บริเวณผิวหนัง หรือช่องท่ออื่นๆ และมักอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล
สิงโตทะเล
สิ่งมีชีวิตประหลาด ส่วนผสมของสัตว์น้ำและสัตว์บก สิงโตทะเลมีใบหูแบบสัตว์บกที่ไม่พบในสัตว์น้ำ ในขณะเดียวกันกลับมีครีบ พวกมันอยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อร่วมกับสิงโต แต่หากพิจารณาลงมาแล้วสิงโตทะเลอยู่ในวงศ์ใหญ่สัตว์ตีนครีบ (Pinnipedia) วงศ์ที่ใช้จำแนกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลที่มีตีนเป็นครีบโดยเฉพาะ เช่น แมวน้ำ และวอลรัส ทั้งยังมีหนวดคล้ายแมวที่ใช้ตรวจจับความเคลื่อนไหว นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า บรรดาสัตว์ในวงศ์สัตว์ตีนครีบเหล่านี้วิวัฒนาการมาจากสัตว์จำพวกหมีในอดีต ก่อนที่ตีนของมันจะเริ่มเปลี่ยนเป็นครีบ นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกมันได้ชื่อสามัญอีกชื่อว่า หมีทะเล (Sea bears)
หนูผี
หนูผีดูจากลักษณะทางกายภาพแล้ว แทบไม่แตกต่างจากหนูที่อยู่ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) แต่สำหรับหนูผี พวกมันอยู่ในอันดับของสัตว์จำพวกตุ่น (Soricomorpha) แตกต่างจากสัตว์ฟันแทะที่มีขากรรไกรและฟันอันแข็งแรง หนูผีมีหูและสายตาที่ไม่ดี พวกมันพึ่งพาประสาทสัมผัสการดมกลิ่นเป็นหลัก ด้วยจมูกที่ยื่นยาวออกมา และบางชนิดยังมีพิษอีกด้วย สายพันธุ์ของหนูผีนั้นมีมากมายถึง 385 สายพันธุ์ กระจายถิ่นอาศัยในทั่วโลก นอกจากนั้นมันยังเป็นสัตว์ที่มีระบบเผาผลาญสูงมาก ส่งผลให้พวกมันต้องหาอาหารกินตลอดเวลา มิฉะนั้นแล้วจะอดตาย
หมูหริ่ง
ที่มาของชื่อมาจากจมูกยื่นยาว และอุปนิสัยในการเอาจมูกดุนขุดคุ้ยหาอาหารไม่ต่างจากหมู แต่อันที่จริงหมูหริ่งคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์เพียงพอน (weasel family) สกุล Arctonyx ซึ่งปัจจุบันนับเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้ และยังเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์เช่นกัน เอกลักษณ์ของสัตว์ในวงศ์นี้คือ พวกมันจะมีต่อมผลิตกลิ่นเหม็นรุนแรงที่ใช้ในการขับไล่ศัตรู แตกต่างจากหมูที่เราคุ้นเคย ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ หมูและหมูป่ามีกีบเท้า ในขณะที่หมูหริ่งมีอุ้งเล็บตีนแหลมคม ทั้งนี้พวกมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535
ม้าน้ำ
น่าประหลาดใจที่ม้าน้ำคือ ปลากระดูกแข็ง ในอันดับและวงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้และม้าน้ำ (Syngnathiformes) แตกต่างจากปลาชนิดอื่นๆ ม้าน้ำมีกระดูกหุ้มภายนอกเป็นเกราะป้องกันตัว ในขณะที่หางไม่ได้ใช้ในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่กลับพัฒนาให้มีลักษณะโค้งไว้สำหรับเกาะเกี่ยวแทน เอกลักษณ์ของสัตว์ในวงศ์นี้คือตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลและฟักไข่แทนตัวเมีย และด้วยความแปลกประหลาดนี้ส่งผลให้ม้าน้ำถูกจับไปเลี้ยงในฐานะสัตว์แปลกสวยงาม ไปจนถึงผลิตเป็นยาแผนโบราณจำนวนมากมาย ส่วน “ม้า” สัตว์ที่ผู้คนเรียกเพราะหน้าตาของม้าน้ำดันไปเหมือนกับมันนี้ ม้าอยู่ในอันดับสัตว์กีบคี่ วงศ์ม้า ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับม้าน้ำเลย
*และอย่าพลาดชมวิดีโอการออกลูกของพ่อม้าน้ำอันน่ามหัศจรรย์
แหล่งข้อมูล
ลำดับหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต (Taxonomic category)
อ่านเพิ่มเติม