อาย-อาย ในผืนป่าทางตะวันออกของเกาะมาดากัสการ์กำลังเกาะใบปาล์ม
ภาพถ่ายโดย Thomaa Marent
บรรดาทาสแมวคงใจสลายถ้าได้ย้อนเวลากลับไปยังทวีปยุโรปในยุคกลาง เพราะขณะนั้นผู้คนกำลังหวาดกลัวแม่มดจนขึ้นสมอง เมื่อความเชื่อฝังรากลึกจนยากที่จะเปิดใจยอมรับ ส่งผลให้ทุกๆ วันมีผู้หญิงและแมวถูกเผาตายด้วยข้อหาที่ไม่อาจโต้แย้งได้
ช่วงที่มีการล่าแม่มดในยุโรป มากกว่า 70% ของผู้ต้องสงสัยล้วนเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะบรรดาหญิงหม้ายที่ไม่มีสมาชิกครอบครัวปกป้องคุ้มครอง นอกจากนั้นหญิงชรา และผู้คนที่มีฐานะยากจนก็มักตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน ทว่าไม่มีกฎเกณฑ์ใดตายตัว และไม่ว่าใครก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดได้เช่นกันแม้แต่ผู้ชาย หนึ่งในสัญลักษณ์ที่เชื่อกันว่าเป็นหลักฐานพิสูจน์ก็คือ “แมว” ผู้คนในยุคกลางมีความเชื่อว่าแมวคือแม่มดที่จำแลงกายมา หรือบางครั้งแมวก็อาจเป็นสมุนของแม่มด นั่นทำให้นอกเหนือจากมนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่าแม่มดแล้ว แมวเองก็ติดร่างแหไปด้วย โดยเฉพาะ “แมวดำ”
ทว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ใช่แค่แมวที่ถูกเข้าใจผิด แต่ยังมีสัตว์อีกมากมายหลายชนิด ซึ่งความเชื่อเหล่านี้สะท้อนแนวคิดและวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคต่างๆ เมื่อครั้งที่องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ยังไม่แพร่หลาย
กระต่ายป่าแปลงกาย
น่าประหลาดใจที่ได้ทราบว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มนุษย์เราหวาดกลัวสัตว์อันบอบบางนี้ ที่สวีเดน ในศตวรรษที่ 18 ผู้คนเชื่อกันว่าแม่มดจะแปลงกายมาในร่างของกระต่าย หรือกระต่ายป่า เพื่อขโมยนมจากปศุสัตว์ นอกจากนั้นพวกมันยังเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ดังปรากฎผ่านภาพเขียนในอดีต สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะกระต่ายคือหนึ่งในตัวทำลายพืชผลทางการเกษตร และด้วยความที่กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ทั่วโลก ในหลากหลายชนชาติจึงมีมุมมองที่แตกต่างจากชาวสวีเดน
ในจีน กระต่ายมีความเกี่ยวพันกับดวงจันทร์ เชื่อกันว่าข้างบนนั้นมีกระต่ายขาวกำลังตำครก เพื่อปรุงยาอายุวัฒนะ ส่วนในอังกฤษมีตำนานเล่าขานว่า “บูดิคา” ราชินีแห่งชนเผ่าอังกฤษใช้กระต่ายในการทำนายศึกสงคราม ด้วยการปล่อยกระต่ายป่าให้วิ่งออกจากเสื้อคลุมก่อนที่จะรบกับกองทัพโรมัน เส้นทางที่กระต่ายป่าวิ่งผ่านสามารถบอกได้ว่าพวกเขาจะชนะศึกนี้ได้หรือไม่ ส่วนที่แอฟริกาใต้ ชาวฮอตเทนทอต (Hottentot) ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ใช้ตำนานกระต่ายอธิบายอาการปากแหว่งเพดานโหว่ที่เกิดขึ้นกับเด็กทารก พวกเขาเล่าว่าพระจันทร์ส่งกระต่ายมาบอกกับมนุษย์ว่า เมื่อตายแล้วพวกเขาสามารถฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง แต่กระต่ายสื่อสารผิดว่าพวกเขาจะตายตลอดไป พระจันทร์โกรธจึงใช้หินขว้างใส่กระต่ายถูกปากเป็นแผล ส่วนกระต่ายเองข่วยกลับจนพระจันทร์ปรากฏเป็นรอยดังที่เห็นในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ไม่มีใครหวาดกลัวกระต่ายอีกแล้ว และพวกมันยังถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไป แต่สำหรับชะตากรรมของกระต่ายป่านั้นยากเข็ญกว่ากระต่ายบ้าน พวกมันต้องเผชิญกับผลกระทบจากการถูกทำลายถื่นที่อยู่อาศัยเพราะกิจกรรมทางมนุษย์ และยังถูกล่าเพื่อเป็นอาหารหรือเกมกีฬา ทว่าด้วยความสามารถในการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้ ณ ตอนนี้สถานะของมันจึงยังถูกจัดว่าไม่ถูกคุกคาม
คางคกสารพัดพิษ
ในองก์ที่ 4 ของบทละครแม็คเบ็ธ โดย วิลเลียม เชกสเปียร์ แม่มดกำลังปรุงยาและส่วนประกอบที่พวกเธอใส่นั้นมี “ดวงตาของนิวต์” ซาลาแมนเดอร์ชนิดหนึ่ง และ “เท้าของกบ” บทบรรยายสั้นๆ นี้นะสะท้อนคติชนพื้นบ้านว่าสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำนั้นมักมีความเกี่ยวข้องกับเวทมนต์ปริศนาและกิจกรรมของแม่มด มากไปกว่านั้นชาวยุโรปในยุคกลางยังมีความเชื่อว่า หากนำคางคกมาเผาในหม้อ และนำขี้เถ้าที่ได้พกใส่ถุงแขวนเอาไว้ใกล้ๆ กับช่องคลอดก็จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ส่วนที่ฝรั่งเศสมีความเชื่อกันว่านรกของหญิงที่คบชู้จะเต็มไปด้วยงูและกบที่หมายจะกัดกินหัวนมของเธอ นอกจากนั้นผู้คนยังเตือนว่าหากไปสัมผัสคางคกเข้า ผิวหนังตามร่างกายของเราก็จะกลายเป็นปุ่ม เป็นหูดเช่นเดียวกับมัน
ความเชื่อเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงตำนาน แต่ดูเหมือนว่าตำนานเหล่านี้จะพอมีที่มาอยู่บ้าง เพราะนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่อยากให้คุณไปจับคางคกในชีวิตจริงมากนัก แม้ว่าในจำนวน 5,000 สายพันธุ์ของกบ จะมีเพียงไม่ถึง 300 สายพันธุ์ที่มีพิษก็ตาม แต่ในพิษของกบและคางคกบางชนิดร้ายแรงจนสามารถฆ่าคุณได้ กลไกดังกล่าววิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อรับมือกับผู้ล่าในธรรมชาติ
อันที่จริงชนเผ่าแอมะซอนในอเมริกาใต้รู้จักสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเหล่านี้ดี และพวกเขายังนำพิษของมันมาให้ประโยชน์ด้วยการอาบหัวลูกศรให้เป็นอาวุธร้ายแรง ซึ่งพิษที่อันตรายที่สุดคือพิษของ กบลูกศรสีทอง เพียงได้รับพิษแค่ 0.2 มิลลิกรัมเท่านั้น ก็สามารถเสียชีวิตได้ ด้านตำราแพทย์แผนจีนเองก็ใช้คางคกเป็นยาขับพิษ และบรรเทาอาการปวดจากเนื้องอกในร่างกาย
อาย-อาย ผู้นำความตาย
บางครั้งสัตว์บางชนิดก็ถูกพิจารณาว่าเป็นปีศาจเพียงเพราะรูปลักษณ์ของมันล้วนๆ ด้วยนิสัยออกหากินในตอนกลางคืน ดวงตาโปนสีเหลือง นิ้วยาวเรียวเล็บแหลมคม นั่นทำให้ผู้คนในมาดากัสการ์เชื่อกันว่าหากเผชิญหน้ากับอาย-อายเข้า สัตว์ชนิดนี้จะนำโชคร้ายและความตายมาแก่สมาชิกในหมู่บ้าน หรือแม้แต่หากร่องรอยการข่วนหรือกัดของมันปรากฏบนพืชผลที่พวกเขาปลูกไว้ก็ตาม ชาวมาดากัสการ์จะออกตามล่าและฆ่าอาย-อาย มิฉะนั้นแล้วโชคร้ายจะไม่หายไป นั่นทำให้ซากของอาย-อายมักถูกพบแขวนอยู่ตามข้างทางบ้าง ตามไร่นาบ้าง ในขณะที่หมู่บ้านทางตอนเหนือไม่ฆ่าอาย-อาย แต่กลับใช้วิธีย้ายบ้านหนีแทน
อาย-อาย เป็นไพรเมตชนิดหนึ่งจำพวกลีเมอร์ อันที่จริงบนเกาะมาดากัสการ์ยังมีลีเมอร์ชนิดอื่นๆ อาศัยอยู่ แต่ไม่มีลีเมอร์ไหนที่ถูกเข้าใจผิดเช่นอาย-อาย ปัจจุบันสถานะของพวกมันกำลังอยู่ในขั้นใกล้สูญพันธุ์ วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยอาย-อาย ก่อนที่จะถูกล้างผลาญไปจนหมด คือการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจใหม่แก่ผู้คน ถึงความสำคัญของอาย-อาย ในระบบนิเวศ และความเสี่ยงที่พวกมันกำลังจะหายไป ปัจจุบันมหาวิทยาลัยดุ๊ก กำลังดำเนินโครงการนี้ แต่การจะเปลี่ยนความเชื่อฝังหัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่ายังไม่สายไปที่จะปกป้องสัตว์ปีศาจที่น่าสงสารนี้
ชมการล่าเหยื่อตามธรรมชาติของอาย-อายได้ที่นี่
พะยูนโฉมงาม
ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษก่อน ผู้คนคิดกันว่ามหาสมุทรที่กว้างใหญ่คือบ้านของสัตว์ประหลาดนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นคราเคน, งูทะเลยักษ์ ไปจนถึงนางเงือก ที่บันทึกเรื่องราวของครึ่งมนุษย์ครึ่งปลานี้ถูกเล่าขานผ่านนิทานและวรรณกรรมมานาน เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ออกเดินเรือมุ่งสู่มหาสมุทรแอตแลนติกอันเวิ้งว้าง ในปี 1492 เขาเชื่อว่าได้เห็นนางเงือกตามตำนานด้วยตาตนเอง และนี่อาจเป็นบันทึกแรกสุดของการค้นพบพะยูนแมนนาทีในทวีปอเมริกาเหนือ
พะยูนคือสัตว์ที่ทำให้นักเดินเรือเข้าใจผิดบ่อยครั้ง เนื่องจากแม่พะยูนเวลาให้นมลูกมักจะกอดอยู่กับอกและตั้งฉากกับท้องทะเล ทำให้เห็นในระยะไกลคล้ายผู้หญิงอยู่ในน้ำ ในขณะที่หางปลาส่วนท้ายลำตัวยิ่งสร้างความสับสนให้แก่ผู้พบเห็นว่านี่คือสิ่งมีชีวิตใดกันแน่ ในที่สุดตำนานความเชื่อคือกุญแจในการคลายข้อสงสัยนี้
แตกต่างจากนางเงือกในบทกวีที่ล่อลวงกะลาสีให้ถึงแก่ความตายด้วยความงามและเสียงเพลงประสานอันไพเราะ พะยูนไม่มีพิษภัยอันใดต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ พวกมันเป็นสัตว์กินพืชที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร และใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับการดุนพื้นทรายเป็นทาง ทว่าความรักสงบไม่ได้ช่วยให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยเพราะแต่ละปีมีพะยูนถูกล่าเอาเนื้อ น้ำมัน และเขี้ยวเป็นจำนวนมาก ปี 2013 คือปีที่มีรายงานว่าพะยูนแมนนาทีถูกล่ามากที่สุดถึง 829 ตัว คิดเป็น 17% ของประชากรพะยูนทั้งหมด ปัจจุบัน IUCN ชี้ว่ามีพะยูน 3 สายพันธุ์ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และอีกหลายสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม เชื่อกันว่าทุกวันนี้มีประชากรพะยูนหลงเหลืออยู่ราวหลักหมื่นตัว และจำนวนนี้จะลดลงร้อยละ 20 ในอีกสองชั่วอายุคน หากยังไม่มีความจริงจังในการปกป้องพวกมัน
หมาจิ้งจอกอาร์กติกเก้าหาง
นิทานพื้นบ้านของชาวฟินแลนด์เล่าว่า เมื่อหมาจิ้งจอกอาร์กติกกระโจนข้ามยอดเขา พวงหางสีขาวของมันปัดเอาเกล็ดหิมะขึ้นสะท้อนกับแสงจันทร์ เกิดเป็นแสงออโรร่าอันงดงาม ส่วนชาว Dene ชนพื้นเมืองในแคนาดามีตำนานเล่าขานถึงจิ้งจอกอาร์กติกที่ช่วยพวกเขาให้พ้นจากความอดอยาก ด้วยการหาเนื้อกวางคาลิบูมาให้ เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนคติของผู้คนที่อาศัยอยู่กับหิมะว่าพวกเขาเคารพและนับถือจิ้งจอกอาร์กติก
แต่หากข้ามฝั่งไปที่ญี่ปุ่น หมาจิ้งจอกสีขาวล้วนที่มีหาง 9 หาง หรือที่เรียกว่า “kitsune” กลับกลายเป็นปีศาจที่น่าหวาดหวั่น ชาวญี่ปุ่นเล่าขานกันว่า ปีศาจจิ้งจอกเก้าหางได้แฝงตัวเข้ามาในราชสำนักของจักรพรรดิโทบะ ในรูปของหญิงงาม และต่อมาได้กลายเป็นสนมคนโปรด ความลุ่มหลงของจักรพรรดิที่มีต่อสนมองค์นี้ส่งผลให้พระองค์ไม่สนใจที่จะบริหารงานบ้านเมือง ในขณะเดียวกันเจ้าปีศาจก็คอยซูบเอาพลังชีวิตจากจักรพรรดิจนสุขภาพทรุดโทรม จนในที่สุดขุนนางต้องเชิญนักพรตมาทำพิธี ระหว่างทำพิธีปีศาจเกิดร้องทุรยทุรายและเผยร่างที่แท้จริงออกมา กองทหารติดตามปีศาจไปและในที่สุดก็สามารถปราบมันลงได้ ตำนานดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันในจีน และเกาหลี จึงเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากจีน และญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมมา ทุกวันนี้ที่ราบสูงที่กองทหารของจักรพรรดิโทบะต่อสู้กับจิ้งจอกได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดโทชิงิ
ทะนุกิขี้แกล้ง
ทะนุกิมีตัวตนอยู่จริง โดยเป็นชื่อเรียกของจิ้งจอกแร็กคูนสายพันธู์หนึ่งที่มีถิ่นอาศัยในญี่ปุ่น รูปร่างหน้าตาของมันคล้ายกับแร็กคูน เพียงแต่ทะนุกิจะมีหางที่กลมฟูหนากว่า และมีลายสีดำพาดตาทำให้มันดูเหมือนว่ากำลังใส่หน้ากากอยู่ ทว่าเห็นหน้าตาน่ารักๆ แบบนี้ สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว ทะนุกิคือสัญลักษณ์ของความเจ้าเล่ห์ และขี้โกง
ว่ากันว่าทะนุกิ เป็นปีศาจที่สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ พวกมันชอบดื่มเหล้าสาเกมาก จึงนิยมไปก่อกวนที่ร้านเหล้า วิธีการก็คือทะนุกิจะขยายอัณฑะของตนเองให้มีขนาดใหญ่โตมโหฬารมากๆ จนพวกมนุษย์ตกใจวิ่งหนีไป จากนั้นทะนุกิก็จะคืนร่างเดิมและขโมยกินสาเกจนหมด ทั้งนี้เรื่องเล่าเกี่ยวกับทะนุกินั้นต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค แต่ล้วนมีใจความสำคัญเดียวกันคือทะนุกิมักก่อความวุ่นวายด้วยการทำเรื่องแปลกๆ ต่อมาตำนานเล่าว่าทานุกิรู้สึกผิดจึงหันมาช่วยเหลือมนุษย์แทน
ปัจจุบันญี่ปุ่นได้เอาตำนานความเชื่อนี้มาเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว ตามร้านอาหารจึงมักเห็นรูปปั้นทะนุกิถือขวดเหล้าสาเกยืนอยู่หน้าร้าน นัยหนึ่งแทนสัญลักษณะของความโชคดีรุ่งเรือง นอกจากนั้นยังมีศาลทะนุกิในวัดบางแห่ง และยังมีภาพยนตร์ที่ใช้ทะนุกิเป็นตัวละครหลักด้วยเช่นกัน ในชื่อ “Pom Poko ทะนุกิป่วนโลก” ซึ่งช่วยให้ผู้คนเข้าใจสัตว์ชนิดนี้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนเรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทะนุกิได้อย่างไร
แหล่งข้อมูล
The animals we hane mistakenly thought of as evil
ANIMAL FOLKLORE: CHASING HARES THROUGH STORIES, MYTH, AND LEGEND
From Medieval Magic to Modern Medicine
From Mermaids to Manatees: the Myth and the Reality
East of the Sun, West of the Moon: The Folklore of Arctic Animals
จิ้งจอกเก้าหาง ตำนานอสูรที่ร้ายกาจที่สุดของญี่ปุ่น
“เรื่องเล่าของเจ้าปีศาจทานูกิ!!!”