ข้อมูลทั่วไป
ชื่อสามัญ: ฉลามหูดำ หรือฉลามครีบดำ (Blacktip Shark)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Carcharhinus limbatus
ชั้น: ปลา
การกินอาหาร: สัตว์กินเนื้อ
ความยาว: สูงสุด 2.43 เมตร
น้ำหนัก: 30 ถึง 100 กิโลกรัม
ที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์
เป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ตามชายฝั่ง น้ำกร่อยแนวป่าชายเลน แนวปะการัง และชายฝั่งน้ำตื้นบริเวณปากแม่น้ำ ในช่วงฤดูร้อน ปลาฉลามหูดำบางตัวจะอพยพไปสู่กระแสน้ำที่เย็นกว่า เช่น แหลมค้อด รัฐแมสซาชูเสตต์ แต่บางตัวก็พบว่าอาศัยอยู่ในกระแสน้ำอุ่นตามแนวเส้นศูนย์สูตรตลอดทั้งปี มีรายงานว่า ปลาฉลามหูดำจะอาศัยอยู่เป็นฝูงแบบแยกเพศ ยกเว้นฤดูกาลผสมพันธุ์
การล่าและอาหาร
บางครั้ง ปลาฉลามหูดำพบได้เหนือผิวน้ำ โดยการกระโจนขึ้นเหนือผิวน้ำ แลัวพลิกตัวกลับลงสู่ผิวน้ำด้วยครีบหลัง การกระโจนเช่นนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การล่าเหยื่อที่อยู่ใกล้ๆ ผิวน้ำ ปลาฉลามหูดำมักจะโจมตีเหยื่อจากด้านล่างของเหยื่อ นอกจากฝูงปลาตามชายฝั่งแล้ว อาหารของปลาฉลามหูดำยังมีปลาโรนัน หมึก และครัสตาเชีย (กุ้ง กั้ง และปู) บางชนิด ฉลามหูดำเป็นปลาที่ชอบติดตามเรือประมงและคอยกินปลาที่ชาวประมงคัดทิ้งจากเรือ
การสืบพันธุ์โดยที่เซลล์สืบพันธุ์ไม่ได้ผสมกัน หรือ Parthenogenesis
ในปี 2008 หลักฐานทางพันธุกรรมชี้ให้เห็นว่า ฉลามเพศเมียให้กำเนิดลูกฉลามโดยไม่ได้รับการผสมพันธุ์กับเพศผู้ ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนในกลุ่มปลาฉลาม (อ่านเพิ่มเติม: ฉลามให้กำเนิดลูกโดยไม่ผ่านการผสมพันธุ์)
การสืบพันธุ์
ระหว่างช่วงที่มีการรวมกลุ่มเพื่อผสมพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสสำรวจพฤติกรรมในช่วงนี้ ฝูงฉลามทั้งเพศผู้และเพศเมียจะรวมตัวกันบริเวณชายฝั่งตื้นๆ และสร้างแหล่งอนุบาลตัวอ่อนขึ้น ฉลามเพศเมียจะให้ลูกออกมาประมาณสี่ถึงสิบตัวต่อคอก โดยฉลามเพศเมียจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุได้สี่ปี และจะสืบพันธุ์ปีละครั้งตลอดช่วงชีวิต ลูกของปลาฉลามหูดำจะอยู่ในแหล่งอนุบาลจนกระทั่งเจริญสู่วัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เหมาะสม และมีความสามารถหลบหลีกผู้ล่าได้ (อ่านเพิ่มเติม: ฉลามหูดำว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลเพื่อผสมพันธุ์)
การคุกคามและความอยู่รอด
ฉลามที่ชอบอยู่ใกล้แนวชายฝั่งส่งผลให้พวกมันถูกคุกคามจากการพัฒนาของชายฝั่ง (ท่าเรือ, การท่องเที่ยว และการประมง) ซึ่งอาจเป็นการทำลายแหล่งอนุบาลของตัวอ่อน และอาจเกิดปัญหาเรื่องจำนวนประชากรจากการทำประมงเชิงพานิชย์ ทั่วโลก ปลาฉลามหูดำจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ตามบัญชีของไอยูซีเอ็น โดยปัจจัยหลักเกิดจากการล่าเพื่อนำครีบไปประกอบเป็นอาหาร
อ่านเพิ่มเติม: บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: “ฉลาม” นักล่าผู้ตกเป็นเหยื่อ
ชมวิดีโอการช่วยชีวิต ฉลามหูดำ ได้ที่นี่