เสือ พูม่า แห่งปาตาโกเนีย

เสือพูม่า แห่งปาตาโกเนีย

เสือพูม่า หรือสิงโตภูเขาตัวแรก ที่ฉันเห็นเป็นสัตว์ที่มีกล้ามเนื้อกำยำ กำลังคำรามด้วยความกลัวอยู่บนต้นสนสูงจากพื้นขึ้นไปหกเมตรในตอนกลางของรัฐยูทาห์ หลังจากถูกสุนัขล่าเนื้อต้อนขึ้นไปบนต้นไม้ เจ้าสัตว์ตัวนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางซึ่งคุ้มครองแกะของเจ้าของฟาร์ม ยิงตาย ถ้าการเผชิญหน้ากันครั้งนั้นรุนแรงเหมือนฉากในหนังล่าสัตว์ การพบเห็นแมวใหญ่ที่ชอบหลบซ่อนตัวชนิดนี้ซึ่งในชิลีเรียกว่า เสือพูม่า ครั้งต่อมาของฉัน ก็แทบจะเหมือนออกมาจากหนังสือนิทานเลยทีเดียว

เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์

ภาพถ่าย อินโก อาร์นดท์

ชาร์เกอาโด (ทางซ้าย) ลูกเพศผู้วัยสี่ปีของซาร์มิเอนโต ไล่ตามเพศเมีย แยกเขี้ยว และคำรามระหว่างการเกี้ยวพาราสีที่กินเวลาทั้งวัน มันผสมพันธุ์กับเพศเมียตัวนั้นห้าครั้งในเวลาหนึ่งชั่วโมงและในบริเวณที่ค่อนข้างเปิดโล่ง ตามคำบอกเล่าของช่างภาพ อินโก อาร์นดท์ จากนั้น แทนที่จะล่าถอยไปยังสถานที่ปลอดภัย ทั้งคู่กลับเดินอย่างสบายๆไปบนแหลมแห่งนี้ในฟาร์มของเอกชนใกล้อุทยานแห่งชาติตอร์เรสเดลไปเน

ฉันเฝ้ามองลูกเสือสีน้ำตาลอ่อนสามตัว ซึ่งแทรกตัวอยู่ระหว่างไม้พุ่มบนลาดเขาที่ลมพัดแรงนอกเขตอุทยานแห่งชาติตอร์เรสเดลไปเนทางตอนใต้ของชิลี หกคะเมนตีลังกาและวิ่งแข่งกันไปตามชายฝั่งของทะเลสาบที่มีน้ำสีฟ้าสดใส เป็นการทดสอบพละกำลัง ฟัน และสถานะทางสังคม บางครั้งบางคราวแม่เสือชื่อ ซาร์มิเอนโต จะหยุดเพื่อประเมินสถานการณ์ เมื่อทั้งสี่ตัวมาถึงแหลมแห่งหนึ่ง แม่เสือและลูกพากันขดตัวอยู่ภายในหมู่โขดหินรูปโดนัทและทำสิ่งที่แมวทำได้เก่งที่สุด นั่นคืองีบหลับ

ไม้พุ่มและหินแหลมคมไม่สร้างความลำบากให้เสือพูมาชื่อ ซาร์มิเอนโต ที่อยู่ตรงกลาง หรือลูกเสือวัย 11 เดือน ซึ่งนอนเบียดกันตอนหมดวันในฤดูหนาวเหนือทะเลสาบซาร์มิเอนโต ใกล้อุทยานแห่งชาติตอร์เรสเดลไปเนของชิลี แม่เสือซึ่งเลี้ยงลูกหลายครอกแล้วตัวนี้ ใช้เวลาส่วนใหญ่ล่าเหยื่อและนอนหลับตามริมฝั่ง

เสือพูม่า (Puma concolor) มีถิ่นกระจายพันธุ์กว้างใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมในซีกโลกตะวันตก  โดยพบได้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของรัฐอะแลสกาไปจนถึงตอนใต้ของประเทศชิลี นักวิทยาศาสตร์คาดว่า รอบๆตอร์เรสเดลไปเนมีจำนวนเสือพูม่ามากกว่าที่อื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเสือพูม่ามีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ ได้รับการคุ้มครองในเขตอุทยาน และไม่ต้องแก่งแย่งกับสัตว์นักล่าเลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น หมาป่า

ใครก็ตามที่ปรารถนาจะเห็นสัตว์นักล่าอันดับสูงสุดในธรรมชาติ ต้องไปเยือนตอร์เรสเดลไปเน ซึ่งประกอบด้วยยอดเขาหินแกรนิต ทุ่งหญ้า ป่าเขตกึ่งอาร์กติก และทะเลสาบที่ลมพัดแรง ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ภูมิทัศน์โล่งกว้าง และเสือพูม่าหลายตัวคุ้นเคยกับมนุษย์เมื่อการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ด้วยความอยากเห็นกิจกรรมของเสือพูม่ามากกว่านี้ ฉันและมัคคุเทศก์ ฆอร์เฆ การ์เดนัส ตามรอยสัตว์นักล่าชนิดนี้เป็นเวลาหลายวัน เราคอยเงี่ยหูฟังเสียงร้องเตือนภัยของกัวนาโค [สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์เดียวกับบีกูญา อัลปากา และยามา] ซึ่งเผยว่าเสือพูม่ากำลังล่าเหยื่อ เราไม่เห็นเหยื่อที่เสือพูม่าล่าได้ แต่ต่อมาภายหลัง ในการประชุมที่กลุ่มอนุรักษ์สัตว์วงศ์แมวแพนเทอราจัดขึ้น ฉันก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงหายนะจากการขยายตัวของประชากรเสือพูม่าในภูมิภาคนี้ การประชุมซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมในหมู่บ้านเล็กๆชื่อเซร์โรกัสตีโยครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่รัฐบาล นักชีววิทยา มัคคุเทศก์ และเจ้าของฟาร์มเข้าร่วม

อาร์ตูโร โกรเอเฆร์ บีดัล เจ้าของฟาร์มเลี้ยงแกะรุ่นที่สอง ออกความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของเขา “ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ ผมตกลงขายแกะ 400 ตัว” เขาพูดอย่างใจเย็น “ห้าวันหลังปิดการขาย ผมมีแกะให้ลูกค้าแค่ 370 ตัว เสือพูม่าฆ่าไป 30 ตัวในคืนเดียว”

เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ผู้ชายอย่างโกรเอเฆร์ ซึ่งขี่ม้า พกปืน และมีสุนัขล่าเนื้อเป็นผู้ช่วย ควบคุมประชากรเสือพูม่าในภูมิภาค แต่เมื่อรัฐบาลชิลีจัดตั้งตอร์เรสเดลไปเนขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 การล่าเสือพูม่าและกัวนาโคก็ถูกห้าม จำนวนเสือเพิ่มขึ้นอย่างมาก แล้วทั้งสัตว์นักล่าและเหยื่อก็เริ่มอพยพออกจากอุทยานไปหาอาหารตามเรือกสวนไร่นาและฟาร์มปศุสัตว์ของเอกชน

“การจัดตั้งอุทยานไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเจ้าของฟาร์มเลยครับ” โกรเอเฆร์กล่าว เพราะเสือพูม่าบางตัวที่ออกมาจากอุทยานเริ่มจู่โจมแกะ ตั้งแต่ก่อตั้งอุทยาน เจ้าของฟาร์มประเมินว่าเสือพูม่ากินแกะไปประมาณ 30,000 ตัว

มัคคุเทศก์และเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานผู้คร่ำหวอดบางคนประเมินว่าในอุทยานมีเสือพูม่า 50 ถึง 100 ตัว ส่วนภายนอกอุทยาน ซึ่งยังต้องมีการสำรวจจำนวนประชากรเสือพูม่าอย่างละเอียด เจ้าของฟาร์มอ้างว่าฆ่าเสือพูม่าไปรวมๆแล้วปีละหนึ่งร้อยตัว “การทำไร่เป็นเศรษฐกิจของเรา” บิกตอร์ มานูเอล ชาร์ป บอกในการประชุมที่โรงแรม “ไม่อย่างนั้นจะให้เราทำอะไรล่ะครับ”

หลังจากนอนซุ่มหลังแนวไม้พุ่มนานหนึ่งชั่วโมง จากนั้นย่องตามเหยื่อฝ่าทุ่งหญ้ารกๆเป็นระยะทางหนึ่งร้อยเมตร อีกครึ่งชั่วโมง ซาร์มิเอนโตก็กระโจนเข้าใส่กัวนาโค กัวนาโคเพศผู้ที่โตเต็มวัยและแข็งแรงเอี้ยวตัวหลบศัตรูที่มีกรงเล็บแหลมคม

ทางเลือกหนึ่งคือเปลี่ยนไปเลี้ยงวัว ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่เสือพูม่าจะตอแย แต่การเลี้ยงแกะเป็นวัฒนธรรมของที่นี่ และใช่ว่าทุกคนจะมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะกับวัว หรือคุณจะใช้สุนัขคุ้มครองแกะก็ได้ เจ้าของฟาร์มและผู้เพาะพันธุ์สุนัข โฆเซ อันโตนิโอ กูซาโนบิก ซึ่งล่าเสือพูม่าก่อนเปลี่ยนมาทำธุรกิจฝึกสุนัข กล่าว แต่เพียงแค่จ้าง เลโอเนโร หรือพรานล่าสิงโต จะถูกกว่ามาก

ชาร์ลส์ มันน์ ชาวอเมริกันซึ่งดำเนินกิจการบริษัทท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ลุกขึ้นพูดว่า “ผมทำให้การดูเสือจากัวร์เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวในปันตานัลของบราซิล เสือพูม่าอาจทำเงินให้คุณมหาศาลเลยครับ”

เจ้าของฟาร์มพากันพึมพำ พวกเขารู้ว่าไม่สามารถคิดเงินนักท่องเที่ยวจากการตามรอยเสือพูม่าบนที่ดินของตนขณะยังคงฆ่าพวกมันต่อไป (รัฐบาลชิลีอนุญาตให้เจ้าของฟาร์มฆ่าเสือพูม่าถ้าพิสูจน์ได้ว่ามันฆ่าแกะ แต่เจ้าของฟาร์มส่วนใหญ่ไม่ขออนุญาตเลยด้วยซ้ำ)

“คุณกำลังบอกว่าเราต้องให้อาหารเสือพูม่าเพื่อให้คุณมีเสือพูม่ามากขึ้นสำหรับการท่องเที่ยว” เจ้าของฟาร์มอีกคนพูดอย่างฉุนเฉียว “ผมแก่เกินกว่าจะทำธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว”

ซาร์มิเอนโตดูเหมือนจะเพลิดเพลินและถึงกับชวนลูกๆเล่นต่อสู้กันบนหมวดหินปูนที่เรียกว่า สโตรมาโตไลต์ โดยไม่แยแสกับลมแรงที่ซัดกระหน่ำทะเลสาบ โขดหินเหล่านี้เก็บกักความอบอุ่นของดวงอาทิตย์ไว้ ส่วนถ้ำและวงหินรูปโดนัทมากมายตามแนวชายฝั่งเป็นที่หลบซ่อนชั้นเยี่ยมของเสือพูมา แม้ว่าเสือพูมาในชิลีจะไม่มีสัตว์นักล่าอื่น นอกจากมนุษย์ก็ตาม

มันน์ยกตัวอย่างพี่น้องโกอิก คือโตมิสลาฟและฆวน ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังห้อง หลายปีที่ผ่านมา แกะของพวกเขา 5,500 ตัว ซึ่งเล็มหญ้าอยู่ตามแนวเขตด้านตะวันออกของอุทยาน ลดลงเหลือประมาณ 100 ตัว ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มาดู    เสือพูม่าประมาณปีละ 800 คนจ่ายค่าธรรมเนียมมากมายแก่พี่น้องโกอิกเพื่อขับรถและเดินป่าในที่ดินขนาด 62 ตารางกิโลเมตรของพวกเขาไปกับมัคคุเทศก์และนักแกะรอย

ที่ฟาร์มของโกอิก นักท่องเที่ยวแทบจะได้รับการรับประกันว่าจะได้เห็นซาร์มิเอนโตและลูกๆ ได้แก่ อาร์โล  หรือเอร์มานิตาที่ชอบป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้แนวรั้วกั้นที่ดินของโกอิกกับอุทยาน พี่น้องโกอิกเปิดฟาร์มสำหรับการตามรอยเสือพูม่าในปี 2015 เมื่ออุทยานเริ่มบังคับใช้กฎควบคุมนักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้ใช้เส้นทางที่กำหนด อันเป็นการจำกัดโอกาสการเห็นเสือพูม่า ภายใต้แรงกดดันจากลูกค้าเพื่อให้เห็นเสือพูม่า มัคคุเทศก์อิสระจะย่องเข้าหาเหยื่อของพวกเขาในเวลากลางคืน โดยฉายแสงไฟ และเคลื่อนตัวช้าๆเข้าใกล้เสือมากเกินไป ในตอร์เรสเดลไปเน ซึ่งเป็นอุทยานที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดของชิลี มีผู้เสียชีวิตจากการเผชิญหน้าเสือพูม่าเพียงรายเดียว และพวกเขาต้องการคงสถิตินี้ไว้

แนวทางปฏิบัติในการป้องกันนักท่องเที่ยวของอุทยานจะยังมีผลต่อไปจนกว่านักวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ได้ว่าอุทยานมีเสือพูม่าอาศัยอยู่มากเท่าไร หากินไกลแค่ไหน มีนิสัยการกินอย่างไร และพฤติกรรมทางสังคมเป็นอย่างไร

ข้อมูลที่ได้จะช่วยร่างแผนการอนุรักษ์  และคาดว่าจะทำให้การท่องเที่ยวชมเสือพูม่าปลอดภัยมากขึ้นทั้งต่อเสือและคน ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวอาจใช้เป็นค่าชดเชยแกะที่ถูกเสือพูม่าฆ่าแก่เจ้าของฟาร์ม แนวคิดคือการทำให้สัตว์นักล่าสำคัญชนิดนี้ซึ่งช่วยรักษาระดับประชากรเหยื่อให้อยู่ในภาวะสมดุล มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาค พอๆกับที่มันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของที่นี่


อ่านเพิ่มเติม

วิทยาศาสตร์น่ารู้: เสือและสิงโตข้ามสายพันธุ์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.