ผู้คนมักกล่าว่า แมวดำนำมาซึ่งโชคร้าย แต่เมื่อ นิก พิลฟอร์ด รับรู้ว่ามี เสือดาว (สีดำ) ตัวหนึ่งป้วนเปี้ยนอยู่ในเคนยา เขารู้ทันทีว่าเขากำลังจะพบเจอกับสิ่งพิเศษ
พิลฟอร์ด เป็นนักชีววิทยา ที่ทำงานวิจัยอยู่ในเคนยา เมื่อต้นปี 2018 เขาและทีมได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ (Camera trap) ทั่วพื้นที่อนุรักษ์ลอยซาบา (Loisaba Conservancy) เข้าใช้เวลาไม่นานก็ได้พบกับสิ่งที่เขาตามหา เสือดาว ที่มีภาวะเมลานิสซึม ซึ่งหาตัวได้ยากมากๆ
เสือตัวเมียวัยเยาว์ปรากฏตัวเคียงข้างกับเสือดาวอีกตัวที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีสีสันปกติ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นแม่ของมัน
ภาวะที่ตรงข้ามกับผิวเผือก หรือที่เรียกว่าเมลานิสซึม เป็นผลมาจากการแสดงออกของยีน (Gene expression) มีผลให้เซลล์ผลิตเม็ดสีออกมามากกว่าปกติ จึงปรากฏเป็นสีดำที่เส้นขนและผิวหนัง ในเคนยาเคยมีการกล่าวถึงถึงเสือดาวสีดำเมื่อนานมาแล้ว แต่การยืนยันทางวิชาการยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ
เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ภาพเสือดาวสีดำที่บันทึกได้จากทีมวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร African Journal of Ecology ซึ่งเป็นภาพแรกที่ใช้การอ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในรอบกว่า 100 ปีในแอฟริกา
เมื่อปี 2017 มีการยืนยันว่าพบเสือดาวสีดำด้วยตาเปล่า ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาอ้างอิงได้ ภาพล่าสุดที่เคยบันทึกไว้ย้อนกลับไปเมื่อปี 1909 คือภาพเสือดาวสีดำที่เมืองอัดดิสอาบามา ประเทศเอธิโอเปีย ปัจจุบัน ภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การกระจายพันธุ์ของพวกมันลดลงราวร้อยละ 66 เนื่องจากสูญเสียพื้นที่อาศัย และปริมาณเหยื่อลดลง
“แทบทุกคนเล่าให้ผมฟังว่าเคยเห็นเสือดาวสีดำ มันเป็นสัตว์ที่ลึกลับมาก” พิลฟอร์ด จากองค์การสวนสัตว์นานาชาติซานดิเอโกเพื่อการวิจัยเชิงอนุรักษ์ กล่าว
“ในตอนนั้น ชายสูงอายุที่เป็นผู้นำทางของผมในเคนยา เล่าว่าเคยเจอเมื่อหลายปืที่แล้ว และย้อนกลับไปในยุคที่การล่ายังเป็นเรื่องถูกกฎหมาย (ราวปี 1950-1960) เป็นที่รู้กันในกลุ่มนายพรานว่า คุณไม่มีทางล่าเสือดาวสีดำได้ แม้ว่าคุณเห็นมัน แต่คุณไม่มีทางได้ตัวมัน”
ชีวิตในร่มเงา
ปัจจุบันมีเสือดาวอยู่เก้าสายพันธุ์แพร่กระจายจากแอฟริกาจนถึงรัสเซียตะวันออก และมีเพียงร้อยละ 11 ของเสือดาว ที่ปรากฏลักษณะเมลานิสซึม พิลฟอร์ดอธิบาย ส่วนใหญ่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งป่าเขตร้อนหยิบยื่นร่มเงาให้แก่สรรพชีวิต (อ่านเพิ่มเติม: เกร็ดความรู้ว่าด้วยเสือดำ)
ขนสีดำช่วยเรื่องการพรางตัวในป่าทึบ และทำให้มันเป็นผู้ล่าที่ได้เปรียบเมื่อออกหาอาหาร วินเซนต์ นอด์ ผู้ประสานโครงการวิจัยนิติวิทยาศาสตร์ของเสือดาว กล่าว
แต่ในเคนยา เสือดาวสีดำ บางครั้งถูกเรียกว่า “เสือดำ” (Black Panther) ซึ่งเป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกครอบคลุมเสือที่มีขนสีดำทุกชนิด “เสือดาวในเคนยาอาศัยอยู่ในภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาห์ ซึ่งการมีลำตัวสีดำไม่ได้ส่งผลดีต่อการดำรงชีวิต” นอด์ อธิบาย
ความจริงข้อหนึ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องนี้คือ การปรากฏตัวร่วมกันกับแม่ของมันชี้ให้เห็นว่า สีขนไม่มีผลต่อสายสัมพันธ์ในฝูง พิลฟอร์ดกล่าวเสริม
ความบังเอิญที่ชวนขำ
หลังจากเรื่องราวการค้นพบของพิลฟอร์ดแพร่ออกไป เจ้าหน้าที่จากเขตอนุรักษ์โอลอะริไนโรที่ห่างจากลอยซาบาไปทางตะวันตกราว 65 กิโลเมตร ได้ออกมาแสดงภาพเสือดาวสีดำอีกตัวที่ถ่ายไว้ได้เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2007
จากหลักฐานทางภาพถ่าย นักวิจัยให้ข้อสรุปว่า มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันของเสือดาวสีดำแต่ละตัว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเสือดำมีความชุกชุมในเคนยามากกว่าประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา
แต่เสือดำสัญชาติแอฟริกันยังคงเป็นสัตว์ที่หายาก นักวิจัยจึงไม่มีข้อมูลด้านพันธุกรรมที่พอจะอธิบายในเชิงพันธุศาสตร์
พิลฟอร์ดกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องให้ชวนขำเมื่อนึกถึงเมืองวากันดา จากภาพยนต์แนววิทยาศาสตร์ของค่าย Marvel ซึ่งเป็นบ้านของ Black Panther ตัวละครในเรื่อง โดยมีการระบุที่ตั้งเมืองวากันดาว่าอยู่ทางแอฟริกาตะวันออก ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับเคนยา “มันบังเอิญมากๆ ครับ” พิฟอร์ดกล่าว “สถานที่เดียวที่มีเสือดำ คือแห่งเดียวกับที่ถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์ของมาร์เวล”