เหยื่อรายแรกของ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อหนูบนเกาะ Bramble Cay สูญพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทางการออสเตรเลียออกมารายงานว่า หนูหางโมเสก หรือ Bramble Cay melomys (Melomys rubicola) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกที่สูญพันธุ์ เนื่องจาก สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change)

รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมาประกาศว่าหนูหางโมเสก ชนิด Melomys rubicola ได้สูญพันธุ์ลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ที่มีส่วนจากกิจกรรมของมนุษย์ หลังจากนักวิทยาศาตร์ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ว่าพวกหนูตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในเกาะ Bramble Cay น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ถิ่นฐานของหนูหางโมเสก อยู่บนเกาะเล็กๆ ในแนวปะการัง Great Barrier Reef บริเวณช่องแคบทอร์เรส ครั้งสุดท้ายที่มีคนพบเห็นเจ้าหนูตัวเล็กพวกนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 เลยทีเดียว โดยในปี พ.ศ. 2557 นักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ได้พยายามกอบกู้พันธุ์สัตว์ชนิดนี้เอาไว้ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

Bramble Cay melomys หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนาม “หนูหางโมเสก” (mosaic-tailed rat) เป็นสัตว์ฟันแทะที่ได้รับการตั้งชื่อตามเกาะที่มันอาศัยอยู่อย่าง Bramble Cay เกาะเล็กๆ ที่มีความสูงอยู่เหนือน้ำทะเลเพียงแค่ 3 เมตร

หนูหางโมเสกปรากฏตัวให้มนุษย์เห็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2387 แต่แล้วในปี พ.ศ. 2541 ก็มีข่าวร้ายเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินบางส่วนของเกาะได้ทรุดตัวลง ทำให้พื้นที่จากตอนแรกที่มีพื้นที่น้อยอยู่แล้วจาก 40,000 ตารางเมตร ลดลงไปอีกเหลือเพียงแค่ 25,000 ตารางเมตรเท่านั้น เรียกได้ว่าหายไปเกือบครึ่งเลยทีเดียว นั่นแปลว่า เหล่าบรรดาพืชและต้นไม้บนเกาะก็ต่างมีจำนวนที่ลดลงไปด้วย ทำให้หนูหางโมเสก สูญเสียที่อยู่อาศัยของพวกมันไปประมาณร้อยละ 97 เลยทีเดียว จึงพอสรุปได้ว่าการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล กลายเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พวกมันสูญพันธุ์

หากผู้คนยังไม่ตระหนักกับปัญหาภาวะโลกร้อน หนูหางโมเสก อาจไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์เดียวก็ได้ ที่ต้องประสบพบเจอกับปัญหาสูญพันธุ์ครั้งนี้

ทั้งนี้ ทั่วโลกต่างประสบปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้นเกือบ 20 เซนติเมตร ในระหว่างปี พ.ศ. 2444 ถึง พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 6,000 ปีที่ผ่านมา และในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2536 ถึงปี พ.ศ. 2557 ระดับน้ำทะเลบริเวณรอบๆ ช่องแคบทอร์เรส ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าของอัตราเฉลี่ยทั่วโลก

จนถึงตอนนี้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอย่างหนูหางโมเสก อาจจะเป็นเพียงสายพันธุ์แรกของสัตว์อีกหลากหลายสายพันธุ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่มีปัจจัยส่วนหนึ่งจากกิจกรรมของมนุษย์

“ทั้งที่พวกเราก็ทำใจไว้ก่อนแล้ว ว่าจะต้องมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแน่ๆ แต่ก็อดที่จะใจหายไม่ได้เลย” ลี แฮนนาห์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านชีววิทยาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Conservation International บอก

นอกจากนี้ ลียังได้เผยแพร่รายงาน กล่าวว่าสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆ หรือภูเขาอาจจะถูกคุมคามจากภาวะโลกร้อนนี้มากที่สุด เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ ทำให้สัตว์พวกนั้นไม่มีที่จะอพยพ หรือย้ายถิ่นฐานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

“แน่นอนว่าสัตว์บางชนิดอาจได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็ถือเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น”

แต่ถึงอย่างไร พวกเราเองก็สามารถหาทางออกที่ส่งผลเสียน้อยที่สุด โดยการออกแบบพื้นที่คุ้มครองที่สามารถรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“สำหรับผม หากเราตื่นตระหนักกันเรื่องภาวะโลกร้อนกันมากกว่านี้ พวกมัน (หนูหางโมเสก) คงไม่ต้องมาพบเจอกับชาตะกรรมที่เลวร้ายแบบนี้”

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม : เพราะเหตุใดแมลงสาบถึงไม่สูญพันธุ์

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.