หากเจ้าของมี ความวิตกกังวล จะทำให้สุนัขกังวลด้วยหรือไม่?

การวิจัยชิ้นใหม่พบว่าสัตว์เลี้ยงและเจ้าของจะแบ่งปันลักษณะบุคลิกภาพซึ่งกันและกัน

เรามักจะรู้สึกขบขันเมื่อเห็นสุนัขและเจ้าของที่มีบุคลิกคล้ายกัน ทั้งคู่มีขาเรียวยาวดูเก้งก้างหรือเส้นผมอันแสนจะยุ่งเหยิง การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าสุนัขจะมีลักษณะที่คล้ายกับเจ้าของ ส่งผลให้บุคลิกของทั้งเจ้าของและสุนัขมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน

วิลเลี่ยม เจ. โชปิก นักจิตวิทยาสังคมที่ มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต และหัวหน้านักวิจัยที่เขียนรายงานการศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความผูกพันของผู้คนที่อยู่ร่วมกับสุนัข พวกเขาเริ่มศึกษาเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงภายในของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ

การศึกษาของเขาได้ทำการเก็บข้อมูลโดยให้เจ้าของสุนัข 1,681 คน ประเมินบุคลิกภาพของตัวเองและสุนัขของพวกเขาจากแบบสอบถาม พบว่าเจ้าของและสุนัขมีการแบ่งปันลักษณะบุคลิกภาพซึ่งกันและกัน คนที่เห็นด้วยส่วนมากมีจำนวนเป็นสองเท่า ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่ไม่เห็นด้วย โดยคนที่มีความคิดเห็นดังกล่าว มักมีสุนัขที่มีความกระตือรือร้น ตื่นตัวสูง และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวน้อย การศึกษายังพบอีกว่าเจ้าของที่มีความเอาใจใส่ต่อสุนัขของตน สุนัขจะให้การตอบสนองต่อการฝึกอบรมมากกว่า ส่วนเจ้าของที่มักใช้แต่อารมณ์จะทำให้สุนัขของพวกเขารู้สึกหวาดกลัวมากกว่า ในทางตรงกันข้าม “ถ้าบุคคลนั้นมีความรู้สึกผ่อนคลายสุนัขของพวกเขาจะรู้สึกผ่อนคลายเช่นกัน” โชปิก กล่าว

โชปิก ชี้ให้เห็นความท้าทายที่ชัดเจนในการศึกษาครั้งนี้ คุณสามารถถามคำถามเกี่ยวกับตัวเองได้ แต่ถามสุนัขไม่ได้ สุนัขกับมนุษย์เป็นเหมือนความผูกพันทางอารมณ์ ในอีกแง่มุมหนึ่งสัตว์เลี้ยงก็คือภาพสะท้อนของตัวเจ้าของเอง การศึกษาที่คล้ายกันพบว่าคนรู้จัก (คนแปลกหน้า เพื่อน หรือคนรับจ้างพาสุนัขเดินเล่น) มีแนวโน้มที่จะให้คะแนนบุคลิกภาพของสุนัขว่ามีความคล้ายคลึงกับเจ้าของ

จากผลการสำรวจ พบว่าผู้คนส่วนมากมีความคิดเห็นว่าสัตว์เลี้ยงมักจะมีลักษณะพฤติกรรมคล้ายคลึงกับเจ้าของ

เหตุใดจึงมีความคล้ายคลึงเหล่านี้อยู่? การศึกษาไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด แต่โชปิก มีสมมติฐานว่า “ส่วนหนึ่งคือการเลือกสุนัขของเจ้าของ โดยปกติแล้วเจ้าของมักมีแนวโน้มเลือกสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะพฤติกรรมคล้ายคลึงกับตัวเอง” เขากล่าว

โชปิก กล่าวว่าเมื่อรับเลี้ยงสุนัขผู้คนมักจะมองหาสุนัขนิสัยร่าเริง “คุณต้องการสุนัขที่มีนิสัยชอบแสดงออก หรือมีปฏิกิริยาการตอบสนองมากกว่าสุนัขที่ใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ อยู่กับที่ใช่หรือไม่?” เขากล่าว “เรามักจะเลือกสุนัขที่เหมาะกับเรา”

จากนั้นไม่ว่าจะผ่านการฝึกอบรมอย่างตั้งใจ หรือการตอบสนองแบบวันต่อวัน เรากำหนดพฤติกรรมของพวกมันได้ โดยพวกมันจะเปลี่ยนต่อเมื่อเราเปลี่ยน “วิถีชีวิตของเราจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ” เขากล่าว

นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ซาซี ทอดด์ ผู้เขียนเว็บไซต์ Companion Animal Psychology กล่าวว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับลักษณะสำคัญห้าประการ ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในการประเมินบุคลิกภาพของมนุษย์ (การแสดงออก ความเห็นใจ ความขยันขันแข็ง ความรู้สึกด้านลบ และการยอมรับความคิดเห็น) และบุคลิกภาพของสุนัข (ความกลัว ความก้าวร้าวต่อผู้คน การก้าวร้าวต่อสัตว์ กิจกรรม หรือความตื่นเต้นง่าย และการตอบสนองต่อการฝึกอบรม) “ถือเป็นการเชื่อมโยงที่น่าสนใจจริงๆ” ระหว่างลักษณะของมนุษย์กับสุนัข ซึ่งคุณสมบัติต่างๆ มักถูกจะจับคู่กัน เธอกล่าว

“แม้ว่าคุณจะประเมินสิ่งต่างๆ ในแบบที่แตกต่างกัน แต่คุณก็จะพบภาวะความสัมพันธ์กัน” โชปิก กล่าว “นั่นทำให้การตรวจจับความคล้ายคลึงทางบุคลิกภาพนั้นยากขึ้น แต่เรายังสังเกตเห็นได้อยู่ดี”

โดยสรุปแล้ว “พฤติกรรมการเข้าสังคม” ไม่ใช่ลักษณะนิสัยพิเศษของสัตว์ ดังนั้นหากเจ้าของชอบเข้าสังคม (ในทางตรงกันข้ามหากเจ้าของมี ความวิตกกังวล อยู่เป็นประจำ) โอกาสที่สุนัขจะมีนิสัยเฉกเช่นเดียวกับเจ้าของ ก็มีความเป็นไปได้สูง

***แปลและเรียบเรียงโดย ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ

โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม: คุณเป็นที่หนึ่งในใจของสุนัขที่เลี้ยงไว้หรือเปล่า มาหาคำตอบกัน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.