ปลากระเบน ในทุกวันนี้ยังสบายดีอยู่หรือไม่

ปลากระเบน สัตว์น้ำในทะเลที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยสักเท่าไหร่ แต่การดำรงอยู่ของมันก็สามารถชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของโลกใต้น้ำได้ดี ลองมาดูกันว่าชีวิตของเหล่ากระเบนเป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน

แม้ว่าเราอาจจะคุ้นเคยกับการรับประทานสัตว์น้ำหลากชนิด แต่ในชีวิตประจำวันเราคงไม่มีโอกาสได้รับประทาน หรือแม้กระทั่งพบเจอสัตว์น้ำหน้าตาประหลาด และมีรูปร่างน่าเกรงขามอย่าง ปลากระเบน มากนัก แต่ด้วยกระแสการรับประทานอาหารที่ปรุงจากสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เริ่มพูดถึงในกันสังคม อาจทำให้หลายคนเริ่มเกิดความสงสัยว่าในทุกวันนี้ปลากระเบนมีสถานะเช่นไรในท้องทะเล

ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ทีมนักวิจัยเก็บข้อมูลร่างกายของปลากระเบนราหูน้ำจืด (Urogymnus polylepis) ที่ติดเบ็ดของนักตกปลาในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยการที่ประชากรของปลากระเบนชนิดนี้ในประเทศไทยถูกจัดสถานะว่ามีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ (Critically Endangered) โดย IUCN ด้วยลักษณะทางชีววิทยาที่ออกลูกจำนวนน้อยและเจริญเติบโตช้ามากประกอบกับภัยคุกคามจากการที่แหล่งที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรม นักวิจัยจึงพยายามศึกษาปลากระเบนเหล่านี้เพื่อใช้ในการอนุรักษ์ประชากรของพวกมันให้คงอยู่ในสายน้ำของเมืองไทย

ปลากระเบนจัดเป็นปลากระดูกอ่อนจำพวกหนึ่งที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับปลาฉลาม สามารถพบได้ทั่วไปทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล ส่วนใหญ่จะหากินบริเวณพื้นท้องน้ำ และแพร่กระจายทั่วไปตามเขตอุบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ลักษณะที่โดดเด่นของกระเบนคือการมีรูปร่างลำตัวแบนราบ อาจมีปุ่มกระดูกหรือหนามเล็ก ๆ ในบางบริเวณ และมีครีบอกที่แผ่ขยายคลุมส่วนหัวและบางส่วนของลำตัว หรืออาจจะคลุมลำตัวทั้งหมด บางชนิดอาจมีพิษที่เงี่ยง ขยายพันธุ์โดยออกลูกเป็นตัวหรือเป็นไข่แล้วแต่สายพันธุ์

ปลากระเบนพบเจอได้ที่ไหนในประเทศไทย

ปลากระเบนที่พบทั่วโลกมีมากกว่า 600 ชนิด สำหรับในประเทศไทย ได้มีการสำรวจเมื่อปี 2017 พบปลากระเบน 84 ชนิดทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ในแหล่งน้ำจืด ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จัก กระเบนเจ้าพระยา หรือ กระเบนราหู มากกว่าปลากระเบนน้ำจืดชนิดอื่น เนื่องจากเป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปลากระเบนน้ำจืดในประเทศไทยหลัก ๆ นั้นมีอยู่ 7 ชนิด ได้แก่ ปลากระเบนธง ปลากระเบนลาว ปลากระเบนเจ้าพระยา ปลากระเบนบัว ปลากระเบนแม่กลอง ปลากระเบนลาย และปลากระเบนขาว กระจายตัวทั่วไปตามแหล่งน้ำสายหลักของประเทศ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำทั่วไปในภาคกลางและภาคใต้ สำหรับในส่วนของปลากระเบนน้ำเค็มนั้นมีหลากหลายชนิด แต่ชนิดที่นักดำน้ำรู้จักกันดีคือปลากระเบนราหูน้ำเค็ม ปลากระเบนนก ปลากระเบนจุดฟ้า สามารถพบได้ทั้งในทะเลอันดามันและทะเลชายฝั่งอ่าวไทย

ปลากระเบนปิศาจหางหนาม (Mobula mobular) ถูกจับติดขึ้นมาในอวนล้อมของเรือประมงที่ออกหาปลาในทะเลอันดามัน นอกชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ ในปัจจุบันปลากระเบนปิศาจทุกชนิดได้ถูกประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้วโดยกฏกระทรวงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มนุษย์กับปลากระเบน

ปลากระเบนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งในเรื่องของการบริโภค ปรุงเป็นอาหารที่ถูกปากได้หลากหลายเมนู เช่นผัดเผ็ด ผัดขี้เมา หรือผัดฉ่า เช่นเดียวกับปลาฉลาม หรือแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง ปลาป่น แปรรูปเป็นส่วนผสมของเครื่องยาจีน ทำเครื่องประดับ หรือเอาไปทำเป็นเครื่องหนังจากผลิตภัณฑ์ปลากระเบน ด้วยเหตุนี้ ปลากระเบนจึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการล่าของมนุษย์ ไม่ต่างจากสัตว์น้ำหลากชนิดที่เรารับประทานกันอยู่บ่อย ๆ

ลูกเรือประมงและสัตว์น้ำหลากชนิดที่ถูกจับขึ้นมาโดยเรืออวนลากที่ออกหาปลาในน่านน้ำของหมู่เกาะมะริด ประเทศพม่า เครื่องมืออวนลากเป็นเครื่องมือประมงที่กวาดจับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิดและเป็นเครื่องมือประเภทที่จับติดปลากระเบนขึ้นมามากที่สุด

สถานะการอนุรักษ์

ปลากระเบนเป็นสัตว์ที่ออกลูกต่อครั้งไม่มากนัก เช่น กระเบนราหูออกลูกได้ครั้งละประมาณ 2-7 ตัวต่อครั้งในช่วงระยะเวลา 1-2 ปี อีกทั้งยังเป็นสัตว์อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม หาได้ยากในแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังถูกคุกคามจากเครื่องมือประมง มีการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัย การล่าเพื่อเกมกีฬา และการจับมาขายตามตลาดขายสัตว์น้ำ จนปัจจุบันมีจำนวนลดลงอย่างมาก นับเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงมีความพยายามในการอนุรักษ์จากหลายภาคส่วนในสังคม กระทั่งในปี 2561 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในประกาศนี้ได้ระบุชนิดปลากระเบนเหล่านี้เป็นสัตว์คุ้มครอง เพื่อควบคุมการนำเข้า ส่งออก และการล่า ดังต่อไปนี้

– ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง
– ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น
– ปลากระเบนปีศาจแคระ
– ปลากระเบนปีศาจหางหนาม
– ปลากระเบนแมนตาแนวปะการัง
– ปลากระเบนแมนตายักษ์
– ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือ ปลากระเบนเจ้าพระยา
– ปลาโรนิน หรือ ปลากระเบนท้องน้ำ

ปลากระเบนนกจุดขาว (Aetobatus ocellatus) ถูกวางไว้บนพื้นเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้ามาทำการประมูล ที่ท่าเรือขององค์การสะพานปลา จังหวัดภูเก็ต ปลากระเบนชนิดนี้มีชื่อสามัญอยู่หลายชื่อ ได้แก่ ปลากระเบนนก ปลากระเบนค้างคาว ปลากระเบนเนื้อดำ และปลากระเบนยี่สน ซึ่งสิ่งมีชีวิตต่างๆมักมีชื่อสามัญหรือชื่อที่เรียกตามท้องถิ่นต่างๆอยู่หลายชื่อ และลวดลายบนลำตัวของกระเบนชนิดนี้ก็สามารถแตกต่างกันได้อย่างมากแม้ว่าเป็นชนิดเดียวกัน (intraspecific variation) ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจผิดถึงชนิดพันธุ์กลายเป็นข้อถกเถียงกันได้

ในระดับโลก ปลากระเบนบางชนิดก็อยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตราย ในการจัดอันดับของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ระบุว่า ปลากระเบนนกจุดขาว (Aetobatus ocellatus) อยู่ในสถานะ ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) หมายความว่า ประชากรของพวกมันถูกคุกคามอยู่และมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต เช่นเดียวกับปลากระเบนสายพันธุ์ในโลกอื่น ๆ ที่มีสถานะใกล้เคียงกัน

การเพาะเลี้ยงในประเทศไทย

เนื่องด้วยปลากระเบนในธรรมชาตินั้นมีปริมาณลดลงย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่ปลากระเบนบางสายพันธุ์นั้นมีลวดลายสวยงาม ในประเทศไทย จึงมีผู้นิยมเพาะเลี้ยงและเพาะพันธุ์เพื่อจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนเกิดฟาร์มขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ปลากระเบนสกุลที่นิยมเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในเชิงอุตสาหกรรม คือ Potamotrygon spp. เป็นปลากระเบนน้ำจืดจากลุ่มน้ำแอมะซอน ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ มีการเพาะพันธุ์สำเร็จเฉพาะในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในปริมาณน้อยมาก โดยตลาดที่รองรับนั้นมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประเทศที่มีการนำเข้ากระเบนสวยงามจากไทยได้แก่ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ประเทศแถบยุโรป และประเทศในตะวันออกกลาง ราคาซื้อขายเริ่มต้นที่ 1,500 ไปจนถึงราวๆ 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสวยงามของลวดลาย ขนาด และสายพันธุ์

ปลากระเบนทอง (Taeniura lymma) หลบซ่อนตัวอยู่ใต้โขดปะการังในแนวปะการังน้ำตื้นของเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปลากระเบนชนิดนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยมักจะซ่อนอยู่ใต้โขดหินหรือปะการังในเวลากลางวัน และออกว่ายหาอาหารโดยการขุดหาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทรายกินในยามค่ำคืน

แม้ว่าการอนุรักษ์ปลากระเบนยังคงทำมาอย่างต่อเนื่องโดยความพยายามของกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ไม่อยากเห็นมันต้องหายไปในท้องทะเล แต่ดูเหมือนว่าคนทั่วไปอาจจะยังไม่ได้ตระหนักว่าพวกมันมีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ไปไม่น้อยกว่าสัตว์คุ้มครองอื่น ๆ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งนักอนุรักษ์ธรรมชาติและคนทั่วไปจะต้องตระหนักถึงสถานะของมันต่อไป


อ่านเพิ่มเติม บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: ชะตากรรมบนเส้นด้ายของปลาโรนัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.