การสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาจหมายถึงการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของอุรังอุตังตาปานูลี

อุรังอุตังตาปานูลี เอปสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปีที่แล้ว อาจจากไปอย่างไม่มีวันกลับ หลังจากการมาของโครงการการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อนในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

อุรังอุตังตาปานูลี เอปสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบในปี 2560 และยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเอปที่หายากที่สุดในโลก ดูท่าจะไม่รอดเสียแล้ว หลังจากได้มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อนมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐท่ามกลางที่อยู่อาศัยที่เหลืออยู่อันน้อยนิดบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

อุรังอุตังตาปานูลีเพียง 800 ตัวเท่านั้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในป่าบาตังโตรู (Batang Toru) ในจังหวัดสุมาตราเหนือ โดยเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหายากอย่างเช่น เสือสุมาตรา และลิ่นซุนดา (หรือตัวนิ่ม) สัตว์ที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อการสูญพันธุ์

และในบริเวณเดียวกันได้มีโครงการสร้างเขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มูลค่ากว่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia Forum of the Environment กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย ได้ออกมาฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อให้หยุดการสร้างเขื่อน โดยมีหลักฐานว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากโครงการนี้ ที่จะส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง

อีกทั้ง นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการออกมาเปิดเผยว่า ลายเซ็นต์ของเขาถูกปลอมแปลงเพื่อให้การขอรับใบอนุญาตที่สำคัญผ่านการอนุมัติ และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการตัดสินได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อขัดแย้งและผลกระทบที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวอ้างนั้น ไม่ถือว่าเป็นความจริงแต่อย่างใด

ทางองค์กรมีแผนที่จะยื่นอุทธรณ์อย่างแน่นอน “เราจะใช้ช่องทางกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดในการต่อสู้ครั้งนี้” Dana Prima Tarigan ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสุมาตราเหนือ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ทั้งที่เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว ทั่วโลกเพิ่งจะรับรู้กันว่ามีการค้นพบเอปชนิดใหม่เกิดขึ้น แม้จากรายงานพบว่ามีการค้นพบสายพันธุ์นี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 แต่ตอนนั้นยังไม่มีการยอมรับว่าพวกมันมีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ถึงได้รับการยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่หลังจากมีการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสายพันธุ์ โดยการศึกษาโครงกระดูกของอุรังอุตังตัวผู้ที่โตเต็มวัยซึ่งถูกชาวบ้านฆ่าตายไปเมื่อปี  2556 ทำให้พบว่าลักษณะของฟันและกะโหลกศีรษะนั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากอุรังอุตังพันธุ์อื่นๆ อย่างอุรังอุตังสุมาตราและอุรังอุตังบอร์เนียว

ไม่มีใครยอมให้โครงการแบบนี้เกิดขึ้น

เป็นไปไม่ได้เลยที่โครงการนี้จะได้รับอนุมัติให้ดำเนินการต่อ เมื่อบริเวณดังกล่าวมีอุรังอุตังเหล่านี้อาศัยอยู่ Bill Laurance แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยเจมส์คุกในประเทศออสเตรเลีย กล่าว นอกจากนี้ เขายังเสริมว่าโครงการเหล่านี้จะไปส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังตาปานูลี

“อุรังอุตังตาปานูลีเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก และการไปบุกรุกถิ่นอาศัยพวกมันมีแต่จะไปร่นระยะเวลาให้มันเกิดไวขึ้น” Laurance กล่าว “หลักฐานทางวิทยาศาตร์ก็มีอยู่ครบ ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องบ้าแน่ๆ หากมีใครอนุมัติให้โครงการนี้ดำเนินต่อไป”

จากการสังเกตการณ์เป็นเวลานานกว่า 3,000 ชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ข้อสังเกตว่าอุรังอุตังตาปานูลีอยู่แต่บนต้นไม้ตลอด ไม่เคยลงมาพื้นดินเลย ทั้งนี้น่าจะมาจากพวกมันกลัวนักล่าอย่างเสือโคร่งสุมาตรา

Gabriella Fredriksson นักชีววิทยาสัตว์ป่า กล่าวว่า อุรังอุตังตาปานูลีใช้เวลานานมากกว่าจะคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมเวลามีนักสำรวจอยู่ด้วย ซึ่งปกติแล้วสัตว์ตัวอื่นๆ จะใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่อุรังอุตังมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ทั้งนี้น่าจะมาจากการที่พวกมันมักจะถูกไล่ล่าอยู่ประจำโดยคนท้องถิ่น

ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 

อุรังอุตังตาปานูลีจำนวนกว่า 800 ตัว ได้แบ่งถิ่นอาศัยออกเป็น 3 ส่วนในพื้นที่ทั้งหมด 1,100 ตารางกิโลเมตรโดยมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่มีจำนวนมากพอ (500 ตัว) ที่จะใช้ชีวิตและสืบพันธุ์ต่อไปได้

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าการก่อสร้างของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและเขื่อน อาจส่งผลกระทบกับอุรังอุตังตาปานูลีอย่างร้ายแรง จนถึงขนาดทำให้พวกมันสูญพันธุ์ไปจากโลก

อีกปัญหาหนึ่งคืออุรังอุตังนั้นใช้เวลานานมากในการสืบพันธุ์ ตัวเมียมีลูกครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 15 ปี โดยจะให้กำเนิดลูกทั้งหมดหนึ่งหรือสองตัวในทุกๆ 8-9 ปี เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ Fredriksson กล่าวว่าเหตุใดนักวิจัยถึงใช้เวลาหลายปีในการพยายามเชื่อมโยงประชากรทั้งสามเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะให้ขั้นตอนการผสมพันธุ์นั้นง่ายขึ้นและมีจำนวนมากขึ้นนั่นเอง

การสร้างเขื่อนพลังน้ำในถิ่นอาศัยที่สำคัญที่สุดของอุรังอุตังจะนำมาซึ่งด้วยถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทำให้อาจจะไปส่งผลกระทบต่อพวกมัน หรือแย่ไปกว่านั้นอาจถึงขนาดทำให้พวกมันสูญพันธุ์

บริษัทสัญชาติอินโดนีเซียอย่าง North Sumatera Hydro Energy ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของโครงการนี้ได้บอกกับสื่ออินโดนีเซียว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้นไม่ได้อยู่ในป่าปฐมภูมิ และพื้นที่ที่ถูกทำลายไปกว่า 6.5 ตารางกิโลเมตรนั้นจะกลับเข้าสู่สภาพดั้งเดิม

“เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่าบริษัทควรจะถูกลงโทษนะกับการบิดเบือนความจริงแบบนั้น” Laurance กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญยังได้ตั้งแง่ถึงความจำเป็นของโครงการดังกล่าว เพราะในปัจจุบัน เกาะสุมาตราไม่เพียงแต่มีการผลิตไฟฟ้าที่มีจำนวนมากเกินไป ยังมีโครงการไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพที่สามารถขยายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออุรังอุตังด้วย เธอกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นภูมิภาคที่เขื่อนกำลังถูกสร้างนั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่อันตรายสูงอีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ได้ยื่นอุทธรณ์โดยตรงไปยังประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Joko Widodo แล้วเรียบร้อย เพื่อหยุดยับยั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำครั้งนี้ และปกป้องถิ่นอาศัยของอุรังอุตังตาปานูลี โดย Avaaz องค์กรประชาสังคมระดับสากลได้รวบรวมลายเซ็นต์จำนวนกว่า 1.3 ล้านคน ในคำร้องออนไลน์ขอให้ประธานาธิบดียกเลิกโครงการเพื่อปกป้องเจ้าสัตว์พวกนี้

“ชะตากรรมของเผ่าพันธุ์พวกมันทั้งหมดอยู่ในมือคุณ” ข้อความบางส่วนที่ Avaaz ส่งถึงประธานาธิบดี Joko Widodo โดยทาง Avaaz ได้มีแผนที่จะประชาสัมพันธ์สู่สายตาคนทั่วโลกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบนเกาะสุมาตรา

“ฉันคิดว่ารัฐบาลก็เริ่มตื่นตัวกับปัญหานี้บ้างแล้วละ” Fredriksson กล่าว

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม : ทำไมลิงพวกนี้ถึงไปช่วยดูแลลูกลิงวัยแรกเกิดให้ลิงตัวอื่น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.