ภาพของกบมากมายที่ตายเนื่องจากเชื้อก่อโรคที่เป็นฟังไจ ไคทริด ชื่อว่า Batrachochytrium dendrobatidis (Bd) ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NAT GEO IMAGE COLLECTION
เป็นเวลานับทศวรรษแล้วที่ “เพชฌฆาตเงียบ” ชนิดหนึ่งได้สังหารบรรดากบและซาลาแมนเดอร์รอบโลกด้วยวิธีการกินผิวหนังของพวกมันแบบเป็น ๆ ในขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ 41 คนจากทั่วโลก ประกาศว่าเพชฌฆาตนี้คือเชื้อก่อโรค (Pathogen) ซึ่งมนุษย์ได้ทำให้มันระบาดไปทั่วโลกโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมากกว่าโรคร้ายอื่น ๆ ที่โลกได้บันทึกเอาไว้
งานศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเร็วๆ นี้ คือการสรุปจำนวนของเชื้อก่อโรค ซึ่งเป็นฟังไจในกลุ่ม ไคทริด (Chytrid) ที่ชื่อว่า Batrachochytrium dendrobatidis (Bd) และ Batrachochytrium salamandrivorans (Bsal) โดยฟังไจ ไคทริด เป็นเหตุให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกว่า 501 ชนิด มีจำนวนที่ลดลง หรือ 1 ในทุกๆ 16 สายพันธุ์ที่วิทยาศาสตร์รู้จักภายในระบบนิเวศสมบูรณ์หลายแห่งทั่วโลก
ในบรรดาสายพันธุ์กบที่เป็นโรค กว่า 90 สายพันธุ์ได้สูญพันธุ์หรือคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนอีก 124 สายพันธุ์มีจำนวนประชากรลดลงมากกว่าร้อยละ 90 โดยเหล่ากบจำนวน 501 ชนิดนี้ลดลงเพราะติดเชื้อฟังไจ ไคทริด ที่ชื่อว่า Bd
“เราทราบดีว่าฟังไจ ไคทริด นั่นเลวร้าย แต่เราก็ไม่ทราบเช่นกันว่ามันเลวร้ายแค่ไหน เรารู้แค่เพียงว่ามันเลวร้ายกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้” Ben Scheele นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้นำคณะวิจัยครั้งนี้ กล่าวและเสริมว่า “ผลการวิจัยใหม่ของเรายังคงแสดงจำนวนเท่าเดิม ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ ดังเช่น แมว หนู และสายพันธุ์รุกราน (Invasive Species)”
Scheele เคยเห็นการกระทำอันนองเลือดของเชื้อก่อโรคพวกนี้มาก่อน ในการวิจัยภาคสนามของเขาครั้งหนึ่งที่ออสเตรเลีย ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้กบจำนวนมากแพร่พันธุ์และกระจายออกไป ซึ่งทำให้เชื้อโรค Bd ได้แพร่กระจายตามไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยก่อนหน้าที่เชื้อราชนิดนี้ระบาด จำนวนกบต้นไม้ภูเขา (Alpine Tree Frog) มีจำนวนประชากรมากในพื้นที่ เขาต้องระมัดระวังการก้าวเดินเมื่อต้องออกไปสำรวจในตอนกลางคืน แต่ในขณะนี้ กบชนิดดังกล่าวกลับพบเจอได้ยากขึ้น
ถึงแม้ว่า Scheele จะตกใจและเสียใจกับการะบาดของโรคนี้ เขาก็ได้แก้ปัญหาจำนวนที่ลดลงของกบ หลังจากใช้เวลาอยู่ 4 ปี ทีมนักวิจัยของเขาได้รวบรวมรายงานเกี่ยวกับฟังไจ ไคทริด ให้เป็นฐานข้อมูลเดียว ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงพบว่าฟังไจทั้ง Bd และ Bsal มีจำนวนมากกว่าที่เคยบันทึกไว้
“ฟังไจไคทริดเป็นเชื้อก่อโรคที่ทำลายล้างมากที่สุดเท่าที่ทางวิทยาศาสตร์จะมีคำอธิบาย นี่คือความจริงที่เราตกใจมาก” Wendy Palen นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Simon Fraser ในมลรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ผู้เขียนงานศึกษานี้ให้กับ วารสาร Science กล่าว
เชื้อรา Bd นั้นอันตรายเนื่องจากมันพุ่งเป้าไปที่ผิวหนังของบรรดาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ปกติแล้วสัตว์เหล่านี้ใช้ผิวของมันในการแลกเปลี่ยนก๊าซและดูดซึมความชื้น เมื่อพวกมันติดโรคจากเชื้อราอาการของโรคจะมีลักษณะหลากหลายตามแต่สายพันธุ์ตั้งแต่ ง่วงซึม ไม่กินอาหาร ผิวหนังบริเวณท้องมีสีแดง เกิดอาการชักเกร็ง หรือมีการก่อตัวหนาขึ้นของผิวหนังตามมา ซึ่งในที่สุดแล้วสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกนั้นๆ ที่ติดเชื้อจะตายลงในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ อาจมีบางสายพันธุ์ที่สามารถทนทานต่อเชื้อราได้ แต่เท่าที่ทราบมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกว่า 695 สายพันธุ์แล้วที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อรา Bd ในระดับที่แตกต่างกัน
สำหรับมนุษย์เราแล้วการระบาดของเชื้อรา Bd อาจมีลักษณะเทียบได้กับวันสิ้นโลกตามคัมภีร์ไบเบิล ทุกๆ ปีในช่วงเดือนสิงหาคมบรรดาคางคกในทะเลสาบของเทือกเขาพิเรนีส ในฝรั่งเศส จะพากันปีนออกมาจากสถานที่ที่พวกมันเกิดเพื่อสำรวจโลกกว้างใหญ่เป็นครั้งแรก แต่สำหรับคางคกที่ติดเชื้อพวกมันจะไปได้ไม่ไกลนัก “พวกมันจะกระโดดได้ไม่กี่ครั้งและตายลงตรงนั้น” Mat Fisher นักพฤกษศาสตร์จาก Imperial College London หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว “ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปที่ทะเลสาบจะเห็นกบนอนตายเกลื่อนกลาด เหมือนพื้นตรงนั้นปูพรมที่สร้างจากกบตายไม่มีผิด”
งานวิจัยในเรื่องเดียวกันอีกฉบับก่อนหน้านี้ที่ได้เผยแพร่ลงในวารสาร Science เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 เผยให้เห็นช่วงเวลาและสถานที่ที่มีการอุบัติของเชื้อราชนิดนี้ นั่นคือบริเวณคาบสมุทรเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950 และกิจกรรมของมนุษย์เรานั้นมีส่วนช่วยให้เชื้อราเกิดการแพร่ระบาด
“การแพร่กระจายของเชื้อราอาจมาจากเหตุการณ์ใหญ่ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นสงครามเกาหลี” Simon O’Hanlon นักวิจัยจาก Imperial College London หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว จากการศึกษาค้นคว้า ตอนนี้พวกเขาทราบแล้วว่าเชื้อราเหล่านี้มาจากไหน ทั้งยังสามารถติดตามความหลากหลายของเชื้อราในกลุ่มไคทริดเหล่านี้ ตลอดจนมองหาสายพันธุ์ที่อันตรายที่สุด อีกทั้งการค้นพบครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า การค้าที่เชื่อมต่อโลกทั้งใบสามารถก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศได้อย่างไร
ความตายในลักษณะนี้เริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อทศวรรษ 1970 แต่ในตอนนั้นนักวิจัยยังไม่ทราบว่ามันจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นช่วงที่โรคนี้เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก และจนกระทั่งเมื่อทศวรรษ 1990 เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้รู้จักกับเชื้อรา Bd และอีกสิบปีต่อมามันก็ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไปจำนวนมาก และเหตุการณ์ที่สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวนมากตายไปจำนวนการตายนี้ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ที่อเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยกระบวนการล้างบางยังคงดำเนินต่อไปจนวันนี้ จากปี 2004 – 2008 แค่ภูมิภาคเดียวในปานามา มีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากถึง 41 สายพันธุ์แล้วที่ต้องสูญหายไปเพราะเชื้อราดังกล่าว
จากนั้นการแพร่ระบาดนี้ก็เกิดขึ้นที่ทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และแอฟริกา แต่ไม่มีผลกระทบในทวีปเอเชีย สถานที่ซึ่งมีเชื้อโรคนี้อยู่ร่วมมานานนับล้านปี
ในผลการวิจัยพวกเขาพบว่าบรรพบุรุษของเชื้อรา Bd ในทุกวันนี้ เกิดขึ้นในเอเชียเมื่อราวต้นศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งเมื่อการส่งออกทั่วโลกเริ่มเป็นที่นิยมในทศวรรษ 1950 เชื้อราเหล่านี้จึงมีโอกาสได้เดินทางไปยังท้องถิ่นอื่น
ทีมนักวิจัยตั้งทฤษฎีว่า กิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อราในสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วโลก ซึ่งนอกเหนือจากการขนส่งสินค้าแล้ว ยังรวมถึงความนิยมในการส่งกบข้ามประเทศในฐานะตัวทดสอบการตั้งครรภ์, อาหาร, สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ในอุตสาหกรรม ตลอดจนความขัดแย้งอย่างสงครามเกาหลีก็มีส่วนเช่นกัน ซึ่งในความขัดแย้งครั้งนั้นมีทหารเดินทางเข้าไปในภูมิภาคถึงหลายล้านคน และเมื่อกลับออกมาบรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางส่วนก็ติดมากับข้าวของและอุปกรณ์ด้วย
โดยคณะผู้ทำศึกษาครั้งใหม่นี้คาดหวังว่างานวิจัยชิ้นใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์จะเป็นสัญญาณเตือนเพื่อให้รับมือกับภาวะระบาดของโลกนี้
“ผมเข้าใจดีว่าทำไมผู้คนถึงมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กและเป็นปัญหาที่สายเกินแก้ แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะการพูดแบบนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการพิจารณาว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้มันแย่แค่ไหน” Jonathan Kolby หนึ่งในทีมศึกษา ผู้เป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายที่ U.S. Fish and Wildlife Service
บรรดานักวิจัยกล่าวว่าเราไม่สามารถกลับไปแก้ความเสียหายที่ Bd ได้ก่อเอาไว้ เพราะเชื้อโรคตัวร้ายนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว และการกำจัดมันออกไปจากธรรมชาติก็เป็นไปไม่ได้ ถึงแม้ว่ายาฆ่าเชื้อราทางผิวหนัง (Topical Fungicide) จะสามารถช่วยบรรดาสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ติดเชื้อในธรรมชาติได้ แต่วิธีนี้ไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทั้งโลก
เพื่อเผชิญความเป็นจริง บรรดาผู้เขียนงานวิจัยกล่าวเราต้องลองเดิมพันกับการจำกัดการจำหน่ายสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั่วโลก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรปรับปรุงการควบคุมและคัดกรองการนำเข้าสัตว์เหล่านี้ เนื่องจากจากการขายสัตว์เลี้ยงและเนื้อสัตว์คือสาเหตุหลักที่ทำให้เชื้อก่อโรคนี้แพร่กระจาย ในปี 2018 มีงานศึกษาวิจัยยืนยันว่ามีการค้นพบร่องรอยของ bd ในร้านขายสัตว์เลี้ยง
ถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบมากมาย แต่ปัญหาเชื้อรานี้กลับไม่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนมากเท่ากับโรคของสัตว์ป่าอื่นๆ เช่น เชื้อราจมูกขาว (White Nose Syndrome) โรคเชื้อราที่ติดต่อกับค้างคาว
ในทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐทั่วโลกกำลังทำงานเพื่อจัดการปัญหานี้ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้จัดตั้งเครือข่ายภูมิภาคเพื่อติดตามการแพร่กระจายของเชื้อรา และ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health) ได้ออกคำแนะนำในเรื่องวิธีการซื้อขายผลิตภัณฑ์สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่สามารถลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของ bd ได้
ในขณะนี้ สัตว์บางสายพันธุ์กำลังมีวิวัฒนาการเพื่อต่อสู้กับ bd และ Bsal สัตว์ที่ติดเชื้อ The Chytrid จำนวน 292 สายพันธุ์มีชีวิตรอด และอีก 60 สายพันธุ์มีสัญญาณของการฟื้นตัวจากโรคนี้
Scheele กล่าวว่า โลกของเราต้องการลดภาวะคุกคามอื่นๆ ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่พวกมันกำลังเผชิญอยู่ ตั้งแต่การถูกบุกรุกที่อยู่อาศัยไปจนถึงโรคที่คุกคามพวกมัน นอกจากนี้ วิธีการขยายพันธุ์ในที่กักขัง (Captive Breeding) สามารถช่วยรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกมันได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม Palen ชี้แจงว่าวิธีการรักษาแบบพื้นฐานของทศวรรษที่แล้วนั้น “ค่อนข้างเป็นการนิ่งเฉย ที่เราไม่สามารถทำในสิ่งที่ชัดเจนออกมาเกี่ยวกับปัญหานี้ บางทีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะปลุกเราให้รับรู้ถึงปัญหานี้เสียที”
เรื่อง MICHAEL GRESHKO