แมว มักจะเชื่อมโยงชื่อของพวกมันกับของรางวัลอย่างเช่น อาหารหรือการลูบหัว ภาพถ่ายโดย MARC MORITSCH, NAT GEO IMAGE COLLECTION
เจ้าแมวเหมียวสามารถทำอะไรได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจับหนู แยกแยะได้ว่าเสียงไหนคือเสียงเรียกกินข้าว หรือแม้กระทั่งการครองโลก..
แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านแมว อะซุโกะ ไซโตะ มักถูกถามอยู่เป็นประจำคือ แมว สามารถรับรู้ชื่อของตัวมันเองได้แบบสุนัขหรือไม่
ในการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Scientific Reports นักจิตวิทยาชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัย Sophia University ในกรุงโตเกียว ชี้ว่า แท้จริงแล้ว เจ้าแมวรู้ว่าพวกมันชื่ออะไร แม้กระทั่งเวลาคนแปลกหน้าเรียก พวกมันก็รู้
แมว ถือว่าเป็นสัตว์ที่ไซโตะโปรดปรานเป็นอย่างมาก หลังจากเธอได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เธอก็ได้มุ่งมั่นที่จะทำวิจัยในเรื่องที่ผู้คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
“ฉันชอบแมวนะ พวกมันทั้งน่ารักแล้วก็เห็นแก่ตัวมาก เวลาไหนมันอยากให้ฉันลูบหัว มันก็เดินมา เวลาไหนมันไม่อยากสุงสิงกับใคร มันก็เมินฉันเลย” เธอกล่าวพร้อมกับหัวเราะ
การทดลองในอดีตของเธอแสดงให้เห็นว่า แมวสามารถเข้าใจท่าทางการสื่อสารของมนุษย์ พวกมันสามารถดูสัญญาณมือของมนุษย์แล้วเข้าใจได้ว่าเรากำลังจะสื่ออะไรถึงพวกมัน พวกมันจำเสียงของเจ้าของได้ และพวกมันก็มักจะชอบอ้อนขออาหารกับใครก็ตามที่เรียกชื่อหรือมองมาที่มัน ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าแมวเหมียวสามารถรับรู้ได้ว่าพวกมันชื่ออะไร
ชื่อนั้นสำคัญไฉน
ไซโตะและทีมคณะวิจัยของเธอได้ทดลองข้อสันนิษฐานโดยการสังเกตแมวบ้านทั้งหมดกว่า 78 ตัว และเหล่าแมวที่อาศัยอยู่ตามคาเฟ่แมวในประเทศญี่ปุ่น
ทีมคณะวิจัยได้วานให้ทั้งเจ้าของและคนแปลกหน้าลองเรียกชื่อพวกแมวเหล่านั้นดู จากนั้นก็ถ่ายคลิปท่าทีตอบรับของพวกมันที่บ่งบอกได้ว่าพวกมันรู้ว่ากำลังถูกเรียกอยู่ เช่น การขยับของใบหูหรือหัว และการกระดิกหาง
พวกเขาได้ทำการทดลองกว่า 4 ครั้งโดยในแต่ละครั้งนั้นก็มีความแตกต่างกันออกไป ทีมคณะวิจัยได้ค้นพบว่าแมวมีการตอบรับในด้านบวกเมื่อพวกมันได้ยินชื่อของตัวเอง
นอกจากนี้พวกมันก็ยังมีท่าทีการตอบรับในด้านบวกด้วยเช่นกันเวลาคนแปลกหน้าเรียกชื่อ ทำให้ทีมคณะวิจัยเชื่อว่าพวกมันอาจจะเรียนรู้หรือจำได้ว่า หากชื่อของพวกมันถูกเรียก พวกมันจะได้รางวัลตอบแทนตลอด อย่างเช่น อาหาร หรือการลูบหัว ไซโตะอธิบาย
“การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นการศึกษาที่ตอบคำถามทุกข้อที่เคยมีเลย” เจนนิเฟอร์ วอนก์ นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยออกแลนด์ ในรัฐมิชิแกน ผู้ที่ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยครั้งนี้
วอนก์เองก็ได้เคยทำการทดลองเล่นที่มีความคล้ายคลึงกับการศึกษาครั้งนี้มาแล้วกับแมวของเธอ โดยสามีของเธอได้ทำการร้องเพลงที่ประกอบไปด้วยชื่อต่างๆ เพื่อที่จะดูว่าแมวจะมีปฏิกิริยาตอบรับอะไรหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือ พวกมันไม่ค่อยสนใจกันเลย
สุนัขยังมีความได้เปรียบอยู่เยอะ
ไซโตะระบุว่าเหล่าสุนัขนั้นเรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อที่จะให้ผู้คนเรียกชื่อของพวกมันเลย นั้นเองก็เป็นตัวอธิบายได้ว่าทำไมพวกมันถึงแลดูตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลาที่มีคนเรียกชื่อพวกมัน ตัดภาพมาที่แมวนั้น ถึงแม้ว่าการศึกษาล่าสุดจะแสดงให้เห็นแล้วว่าพวกมันก็รู้และจดจำชื่อของพวกมันได้ แต่ท่าทางการตอบรับของพวกมันก็ไม่ได้มีความน่าตื่นเต้นเท่ากับพวกสุนัข
กว่าร้อยปีที่ผู้คนเลือกเพาะพันธุ์สุนัขเพื่อที่จะให้พวกมันมีการตอบสนองกับคำสั่งได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่แมวนั้น เส้นทางของการมาเป็น “สัตว์เลี้ยง” ของพวกมันกลับเริ่มจากการที่พวกมันวิ่งไล่ตามหนูมา จนเข้ามาถึงบริเวณเพาะปลูกของชาวไร่ชาวสวน ทำให้พวกมัน ถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น หากนับกันจริงๆ แล้ว พวกสุนัขถือว่าคุ้นเคยกับมนุษย์ก่อนแมวมากถึง 2 หมื่นปี
โดยสุนัขได้เรียนรู้การขานชื่อของพวกมันเองเป็นสิ่งแรกๆ ในการฝึกอบรมคำสั่งต่างๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการขานชื่อจะทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และสุนัขมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
“พวกเรามักจะพาสุนัขพวกนี้ออกไปเดินเล่น และให้พวกมันมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ อยู่เป็นประจำ การฝึกสุนัขถือเป็นเรื่องง่าย แค่มีรางวัลหรือของกินมาล่อ พวกมันก็ใจอ่อนแล้ว” วอนก์ระบุ
“ส่วนแมวน่ะเหรอ พวกมันมักจะนิ่งอยู่ตลอดเลยเวลาฝึก”
วิวัฒนาการกำลังทำหน้าที่อยู่
ไซโตะให้ความเห็นว่า แมวก็กำลังปรับตัวอยู่เฉกเช่นเดียวกันในการอยู่ร่วมกับมนุษย์
ย้อนกลับไป 10-20 ปีก่อน แมวที่ผู้คนเลี้ยงส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากกว่า โดยจะอาศัยอยู่ในบ้านก็ต่อเมื่อตอนกลางคืนหรือวันที่มีสภาพภูมิอากาศที่แย่เท่านั้น
ยิ่งแมวใช้เวลากับมนุษย์ในบ้านมากขึ้นเท่าไร การตอบสนองของมันกับท่าทางการสื่อสารของมนุษย์ก็จะยิ่งมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
เรื่องโดย CARRIE ARNOLD
***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย