คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ว่าเหตุใดเราจึงกลัวฉลาม

แท้จริงแล้ว ฉลามหาใช่สัตว์ที่น่ากลัวอย่างที่มนุษย์จินตนาการ

ฉลาม โดยเฉพาะฉลามขาว กลายเป็นสัตว์ที่น่ากลัวหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง จอว์ส (Jaws) เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ในช่วงฤดูร้อน ปี 1975 จอว์ส เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฉลามขาวขนาดยักษ์ที่คุกคามชาวบ้านในชุมชนริมทะเล นับจากนั้นก็เริ่มมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่วางบทบาทให้ฉลามเป็นผู้ร้าย

แต่เมื่อใดกันที่มนุษย์เราเริ่มกลัวฉลาม

ทำไมมนุษย์ถึงกลัวฉลาม

เบลก แช็ปแมน (Blake Chapman) นักชีววิทยาทางทะเล และผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า การกลัวฉลาม หรือ Galeophobia ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะปลาที่เป็นสัตว์ผู้ล่า เช่นฉลามขาว ก็มีภาพลักษณ์ที่น่ากลัวอยู่แล้ว และภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของฉลามให้เป็นสัตว์นักฆ่าไร้จิตใจที่มีฟันแหลมคมนับร้อยซึ่งพร้อมจมเขี้ยวใส่เหยื่อ ให้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก

แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องกลัวฉลาม เพราะในบรรดาสัตว์มีความหลากหลาย ฉลามก็เช่นเดียวกัน ในโลกนี้มีฉลามถึง 465 สายพันธุ์ ตั้งแต่ฉลามแคระที่มีขนาดลำตัว 18 เซนติเมตร ไปจนถึงฉลามวาฬที่มีขนาด 15 เมตร โดยสัตว์จำพวกฉลามกินปลา สัตว์จำพวกกุ้งกั้งปู มอลลัสกา (หรือสัตว์จำพวกหอย) แพลงก์ตอน เคย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล และฉลามตัวอื่นๆ กล่าวโดยสรุป คือ มนุษย์ไม่ได้เป็นหนึ่งในเมนูอาหารของฉลาม

(เชิญชมวิดีโอคลิป เมื่อฉลามว่ายน้ำในพื้นที่เดียวกันกับมนุษย์ จาก NAT GEO WILD)

อย่างไรก็ตาม เรามักรู้สึกขวัญหนีดีฝ่อ เมื่อคิดว่าฉลามนั้นจะฆ่าเราอย่างไร ทั้งที่ความจริงแล้ว เรามีความเสี่ยงที่จะตายโดยการถูกตู้ขายของอัตโนมัติในสำนักงานล้มทับ หรือถูกวัวในท้องทุ่งขวิดจนตายยิ่งกว่าการตายด้วยคมเขี้ยวของฉลามเสียอีก แต่อย่างไรก็ตาม ความกลัวของมนุษย์มักไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ความกลัวการโจมตีของฉลามนั้นเป็นปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ที่เหนือความเป็นจริง

โดยส่วนใหญ่ อาการกลัวฉลามสัมพันธ์กับการสูญเสียการควบคุมของมนุษย์ เช่นในกรณีที่เราว่ายน้ำเข้าไปในเขตที่ฉลามอาศัยอยู่ เราคงไม่อยากให้คมเขี้ยวใดๆ ของสัตว์นักล่าในทะเลฝังบนร่างกายและพรากชะตาชีวิตของตัวเราไป

ความกลัวฉลามมาจากไหน

ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่มันเป็นสิ่งที่พัฒนามาตลอดช่วงชีวิตมนุษย์ เมื่อเราโตขึ้น สมองของเราก็จะเริ่มตอบสนองต่อความกลัวมากขึ้น โดยความกลัวพัฒนามาจากสัญชาตญาณเพื่อทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตและเอาตัวรอดได้

“ความกลัวเป็นสิ่งที่เราถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ” แช็ปแมนกล่าวและเสริมว่า “เพราะ [ฉลาม] นั้นเป็นสัตว์ โดยสัตว์เป็นถือเป็นสิ่งเร้าทางชีววิทยาที่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะกลัวอยู่แล้ว”

แม้เรารู้ความจริงเช่นนี้ แต่ฉลามก็ยังดูน่ากลัว คำถามคือ แล้วฉลามมีโอกาสทำร้ายมนุษย์ตอนไหนได้บ้าง

ฝูงฉลามแห่งหมู่เกาะกาลาปาโกส ประเทศเอกวาดอร์ ภาพถ่ายโดย TUI DE ROY, MINDEN PICTURES, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ในหนังสือ การจู่โจมของฉลาม ความเชื่อ ความเข้าใจผิด และความกลัว (Shark Attack: Myth, Misunderstandings and fear) แช็ปแมนพบว่า สมองของมนุษย์มีแนวโน้มที่จะแปลงตัวเลขให้เข้าใจง่ายกว่าความเป็นจริง เช่น ถ้าแช็ปแมนบอกว่าคุณมีโอกาส 1 ใน 3,748,067 ครั้ง ที่ฉลามจะโจมตีและฆ่าคุณ เป็นเรื่องธรรมดาที่สมองของเราจะไม่ได้ตอบสนองต่อตัวเลขอันซับซ้อนเช่นนี้เท่าใดนัก

โอกาส (อันน้อยนิด) ที่การโจมตีของฉลามจะขึ้นกับเรานั้นดูเป็นความคิดที่ไม่ถูกจุด เนื่องจาก เมื่อเราได้ยินคำว่า “ฉลาม” สมองก็ของเราก็เชื่อมโยงคำว่า “โจมตี” ตามมาโดยอัตโนมัติ

“เมื่อเราสามารถสัมผัสและเข้าใจความกลัว เราก็เริ่มรู้สึกว่าความกลัวนั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้” แช็ปแมน กล่าว

เราสามารถต่อสู้กับความกลัวนี้ได้อย่างไร

เพื่อให้เรากลัวฉลามน้อยลง เราต้องควบคุมมายาคติแห่งความกลัวนี้ให้ได้ เพราะถ้าเราควบคุมตัวเองในเรื่องนี้ไม่ได้ หลายๆ สิ่งในชีวิตก็จะดูน่ากลัวมากขึ้น

ดังนั้น เราสามารถอ่านและศึกษาล่วงหน้าเกี่ยวกับฉลามที่อยู่ในบริเวณน่านน้ำที่คุณจะไปว่ายน้ำได้ หรือศึกษาประเภทของฉลามที่ชอบไล่ตามมนุษย์ หรือถ้าคุณว่ายน้ำในบริเวณที่มีน้ำใส คุณสามารถสร้างจินตนาการกับตัวเองได้ว่าคุณคงไม่พบฉลาม (อย่างไรก็ตาม ฉลามขาวสามารถว่ายน้ำได้เร็วกว่ามนุษย์ 10 เท่า ดังนั้น ในความเป็นจริง คุณไม่สามารถว่ายน้ำหนีได้ทัน ในกรณีที่ฉลามเข้าใกล้ตัวคุณ แต่ถ้าเข้าใกล้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าฉลามจะคายคุณออกมา)

เพื่อเลี่ยงการโจมตีของฉลาม คุณสามารถศึกษาวิธีที่คุณจะไม่กลายเป็นเหยื่อของมันได้ โดยการไม่ว่ายน้ำตอนที่คุณมีเลือดออก หรือไม่นอนบนกระดานโต้คลื่น (เนื่องจากฉลามนั้นชอบไล่ตามแมวน้ำ และบางครั้ง ฉลามสามารถเข้าใจได้ว่ากระดานโต้คลื่นนั้นคือแมวน้ำ ถ้ามองจากที่ไกลๆ) และหลีกเลี่ยงการตกปลาด้วยหอก หรือไม้แหลม เพราะปลาที่ถูกแทงเหล่านั้นสามารถส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ดึงดูดฉลามเข้ามาได้

(เชิญชมคลิปวิดีโอ ฉลามพยายามขโมยกล้องถ่ายทำสารคดีใต้น้ำ จาก NAT GEO WILD)

แต่ถ้าในกรณีที่มีฉลามเข้ามาโจมตีคุณจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าควรสู้มันกลับ แช็ปแมนแนะนำให้คุณโจมตีไปที่ตาหรือเหงือกถ้าเป็นไปได้ ซึ่งถ้าคุณสามารถควบคุมตัวเองได้ คุณจะรู้สึกว่าอยู่ในอันตรายน้อยลง

เหตุใดเราต้องใส่ใจฉลาม

ในทุกวันนี้ ฉลามมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากความต้องการครีบฉลามเพื่อไปทำซุปหูฉลาม โดยชาวประมงบางคนในทวีปเอเชียจะจับฉลามเพื่อหั่นครีบของแล้วปล่อยให้มันค่อยๆ ตายลงในทะเล หรือบางครั้งฉลามก็ถูกจับขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ

ฉลามนั้นมีความสำคัญที่ต่อห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร มีการศึกษาค้นพบว่าประชากรฉลามมีผลต่อองค์ประกอบของหญ้าทะเลและการดำรงอยู่ของสัตว์ในพื้นที่อาศัย โดยรวมแล้ว การดำรงอยู่ฉลามนั้นมีข้อดีมากมาย

“พวกมันคือผู้รอดชีวิตที่มีการวิวัฒนาการภายใต้ความตึงเครียดมากมาย” แช็ปแมน กล่าว

เรื่อง ELAINA ZACHOS


อ่านเพิ่มเติม ภัยคุกคามฉลามวาฬคือเรื่องจริง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.