เมื่อปี 1997 นักนิติวิทยาศาสตร์จากกรุงเบอร์ลิน รายงานคดี สุนัขกินเจ้าของ สุดพิศวงซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Forensic Science International เมื่อชายวัย 31 ปีรายหนึ่งใช้เวลาในช่วงเย็นที่เพิงในสวนหลังบ้านแม่ของเขากับสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ต่อมาเวลาประมาณ 20.15 น. เพื่อนบ้านได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด 45 นาทีต่อมา แม่ของชายคนดังกล่าวและเพื่อนบ้านเดินทางมาถึงพบว่าชายคนดังกล่าวเสียชีวิตไปแล้ว จากการฆ่าตัวตายด้วยการอมปากกระบอกปืน อาวุธสังหารยังคงคาอยู่ในมือ จดหมายอำลาวางอยู่บนโต๊ะ แต่บางส่วนของใบหน้าและลำคอของเขานั้นหายไปพร้อมกับรอยฟันแทะรอบๆ บาดแผล ที่บนพื้นมีชามอาหารสุนัขตั้งอยู่ ภายในมีอาหารเหลืออยู่ครึ่งหนึ่ง
เจ้าสุนัขเยอรมันเชพเพิร์ดนั่งอยู่อย่างสงบเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึง มันอาเจียนเอาชิ้นส่วนของเจ้าของออกมา ในที่นี่เห็นได้ชัดว่าเป็นผิวหนังที่ยังคงมีหนวดเคราติดอยู่
ไม่เคยมีรายงานใดติดตามความถี่ของการที่สุนัขกินเจ้าของมาก่อน แต่กรณีทำนองนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารดังกล่าวจำนวนหลายสิบครั้ง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ฉันอ่านย้อนหลังคดีที่เกิดขึ้นร่วม 20 คดี ควบคู่ไปกับผลการศึกษาในปี 2015 ที่มีรายงานเกี่ยวกับคดีเจ้าของถูกสัตว์เลี้ยงของตนเองกินในพื้นที่ปิดจำนวนมากถึง 63 คดี บางคดีมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันจนน่าตกใจ นำมาสู่คำถามที่ว่าอะไรคือแรงจูงใจให้สุนัขกินเจ้าของเมื่อพวกเขาตายไปแล้ว และต่อไปนี้คือความเข้าใจผิดที่พบมากที่สุด เกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงเมื่อเจ้าของตายไปแล้ว ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
มันควรจะเป็นแมวสิที่กินเรา
แมวถูกมองว่ามีพฤติกรรมที่ไม่ดี และดูเป็นเรื่องปกติมากกว่าหากมันจะกินเจ้าของของตัวเอง อย่างไรก็ตามหากเหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นจริงๆ แมวมีแนวโน้มที่จะสนใจแค่อวัยวะอ่อนนุ่มอย่างจมูกและปากเท่านั้น รายงานจาก คาโรลิน แรนโด นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน “ในฐานะที่ฉันเองก็เลี้ยงแมว มันไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ค่ะ” เธอกล่าว “ถ้าคุณกำลังหลับอยู่ แมวก็มักจะมาตบๆ เราที่ใบหน้าให้ตื่นอยู่แล้ว”
มีบันทึกคดีหนึ่งในปี 2010 ที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Forensic และ Legal Medicine หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ร่างของเธอถูกพบเป็นศพบนพื้นห้องน้ำในเช้าวันถัดมา ทีมนิติเวชตรวจพบว่าสุนัขของเธอแทะกินบางส่วนของใบหน้าเธอไป ในขณะที่แมวสองตัวที่เลี้ยงเอาไว้ ไม่ได้แตะต้องศพเลย
ในจำนวนหลายคดีที่ถูกตีพิมพ์ สัตว์ส่วนใหญ่ที่แทะกินเจ้าของนั้นคือสุนัข และแม้แต่ทีมนิติเวชเองก็ยังรู้สึกประหลาดใจกับพฤติกรรมดังกล่าว
หรือเกิดจากความหิว
“สุนัขทั้งหมดล้วนสืบเชื้อสายมาจากหมาป่า” สแตนลีย์ คอร์เรน นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ และทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับสุนัขกล่าว “ถ้าสุนัขตกอยู่ในสถานการณ์ที่เจ้าของบังเอิญเสียชีวิต และรอบๆ นั้นไม่มีอาหารเลย มันจะทำอย่างไร? เนื้อสดใกล้ๆ ตัวคือคำตอบ”
ในบางกรณีเข้าใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงทำลงไปเพราะความหิว เช่นในปี 2007 สุนัขพันธุ์เชาเชาและลาบาดอร์เอาชีวิตรอดจากการขาดอาหารร่วมเดือนมาได้ ด้วยการกินร่างของเจ้าของจนหมดเหลือเพียงกระโหลกศีรษะและเศษกระดูกทิ้งไว้เท่านั้น
อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดขึ้นในปี 1997 สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดเริ่มลงมือแทะกินเจ้าของ หลังจากที่เขาเสียชีวิตได้ไม่นาน “กรณีนี้น่าสนใจมากในการหาเหตุผลว่าอะไรคือแรงจูงใจของสุนัข ในการกำจัดศพของเจ้าของอย่างรวดเร็ว หากไม่ใช่ความหิว” มาคัส โรตไชด์ นักนิติวิทยาศาสตร์กล่าว
ข้อมูลจากปี 2015 ระบุว่า 24% ของกรณีที่เจ้าของถูกสุนัขกินนั้น ร่างของพวกเขาถูกพบภายในระยะเวลาไม่ถึงวันด้วยซ้ำ ซึ่งสุนัขเหล่านี้ล้วนได้รับอาหารตามปกติ นอกจากนั้นรูปแบบการกินยังต่างจากสุนัขป่าอีกด้วย จากผลสำรวจระบุ เมื่อเจ้าของเสียชีวิตลงในที่พัก 73% ของสุนัขจะกัดกินที่ใบหน้า และมีเพียง 15% เท่านั้นที่กัดกินบริเวณช่องท้อง ตรงกันข้าม หากเป็นการเสียชีวิตนอกบ้าน รายงานระบุส่วนใหญ่ศพจะถูกเปิดช่องท้องเพื่อกัดกินอวัยวะภายใน ตามมาด้วยแขนและขามีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่ถูกกินบริเวณศีรษะ
เพราะสุนัขนิสัยไม่ดี?
เป็นเรื่องปกติถ้าคุณคิดว่าการที่คุณใกล้ชิดกับสุนัขของตัวเองและเลี้ยงดูมันอย่างดี จะช่วยให้คุณรอดจากคมเขี้ยวหากคุณเกิดบังเอิญเสียชีวิตขึ้นมา แต่บางครั้งอะไรๆ ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะหลายกรณีที่ฉันศึกษามาพบว่า แทบจะไม่มีเจ้าของคนใดที่มีประวัติทำร้ายสัตว์ของตนเอง ตรงกันข้ามบางรายงานระบุว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสุนัขด้วยซ้ำ จากปากคำของเพื่อนฝูง และเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้จากการพิจารณาทางจิตวิทยาของสัตว์เลี้ยง โรตไชด์รายงานว่า “หนึ่งในคำอธิบายที่เป็นไปได้ก็คือ พฤติกรรมที่สุนัขพยายามจะช่วยเจ้าของที่สลบไม่ได้สติด้วยการเลีย หรือดุนนั้นอาจนำไปสู่การกัดได้ หากสุนัขเริ่มตกใจมากขึ้น เมื่อเจ้าของยังคงไม่ฟื้นขึ้นมา” และจากการกัดก็นำไปสู่การกินในที่สุด ดังนั้นแรนโดจึงสรุปให้ว่า “ไม่จำเป็นว่าสุนัขตัวนั้นจะหิวอยู่หรือไม่ แต่พฤติกรรมการกินนี้เกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นเมื่อมันได้ลิ้มรสเลือด”
สายพันธุ์ของสุนัขที่แตกต่างกัน ย่อมนำมาซึ่งลักษณะที่แตกต่างกัน แรนโดกล่าวเสริม แต่ส่วนใหญ่แล้วสุนัขมักลงเอยแบบเดียวกัน เมื่อเจ้าของของมันเสียชีวิตกระทันหัน ไม่เว้นแม้แต่สายพันธุ์น่ารัก เป็นมิตรอย่างโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ อย่างไรก็ตามจากรายงานที่ฉันศึกษา สุนัขทั้งหมดที่กินเจ้าของล้วนเป็นสุนัขขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ มีเพียงสายพันธุ์บีเกิลซึ่งเป็นสุนัขขนาดเล็กเพียงพันธุ์เดียวเท่านั้นที่เคยทำแบบนั้นด้วย และยิ่งสุนัขตัวใหญ่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งก่อความเสียหายให้แก่ร่างของเจ้าของมากขึ้นเท่านั้น เช่นในคดีสามคดีที่ร่างของเจ้าของถูกกินไปจนถึงศีรษะ และทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือของเจ้าเยอรมันเชพเพิร์ด
ด้านแรนโดเองระบุว่า อารมณ์ของสุนัขเองก็มีส่วนเช่นกัน ในบางตัวเมื่อมันวิตกกังวลมากๆ และเริ่มเลียเจ้าของอย่างบ้าคลั่ง ก็จะนำไปสู่การกัดกินได้เช่นกัน
ถ้าเช่นนั้นเราควรทำอย่างไรดี?
ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะไม่กินคุณเมื่อคุณตายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนก หรือหนูแฮมสเตอร์ก็ตาม หนทางที่ดีที่สุดเพื่อลดความเสี่ยง แรนโดแนะนำว่าทำอย่างไรก็ได้ให้มั่นใจว่าจะมีคนออกมาตามหาคุณ เมื่อจู่ๆ เสียงของคุณเงียบไปอย่างผิดปกติ และหากคุณมีเพื่อนบ้านที่เป็นผู้สูงอายุ, คนป่วย หรือใครก็ตามที่ดูแลตัวเองไม่ได้ คุณก็ควรแวะเวียนไปเยี่ยมพวกเขาบ่อยๆ
“การมีใครสักคนอยู่รอบตัวเป็นสิ่งที่ดีค่ะ” เธอกล่าว “เพราะการมีส่วนร่วมในสังคม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน”
เรื่อง เอริกา เอนเกลฮัพท์
อ่านเพิ่มเติม