กระซู่ เพศเมียตัวนี้ถูกจับมาดูแลที่เกาะบอร์เนียว อันเป็นการย้ายถิ่นเพื่อให้มันปลอดภัยจากนักล่าสัตว์ ขอบคุณภาพถ่ายโดย ARI WIBOWO, WWF-INDONESIA
กระซู่หรือแรดสุมาตราได้สูญพันธุ์ไปจากมาเลเซียแล้ว หลังจากที่อีมาน กระซู่ตัวสุดท้ายของประเทศ ตายไปเนื่องจากโรคมะเร็งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ศูนย์พักพิงแรดบอร์เนียวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาบิน ขณะมีอายุได้ 25 ปี โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาเลเซียได้สูญเสียแทม กระซู่เพศผู้ตัวสุดท้ายของประเทศไป
“อีมานได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างดีเยี่ยมหลังจากเราจับมันมาดูแลตั้งแต่ปี 2014 ไม่มีใครทำได้มากเหมือนเราแล้ว” คริสติน หลิว รัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐซาบาห์ กล่าว
ย้อนไปเมื่อปี 2008 มีการค้นพบแทมที่สวนปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่ง มันถูกจับและนำมาดูแลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาบิน รัฐซาบาห์ และวางแผนให้มันผสมพันธุ์กับกระซู่เพศเมียสองตัวที่ชื่อว่า ปันตุง (Puntung) ซึ่งถูกจับมาเมื่อปี 2011 และอีมาน (Iman) ที่ถูกจับเมื่อปี 2014 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
ในปี 2017 ปันตุงได้รับการการุณยฆาตเนื่องจากโรคมะเร็ง และอีมาน กระซู่เพศเมียตัวสุดท้ายในมาเลเซีย ก็เพิ่งตายไป โดยสาเหตุที่ทำให้กระซู่มีจำนวนน้อยลงเช่นนี้เนื่องจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและการล่าสัตว์ มีการคาดการณ์ว่า เหลือกระซู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 80 ตัวเท่านั้น และส่วนที่เหลือก็อยู่อย่างกระจัดกระจายในเกาะกาลีมันตัน ส่วนพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า พฤติกรรมการอยู่อย่างสันโดษของกระซู่เป็นสาเหตุใหญ่ของการลดจำนวนลง เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ กระซู่เพศเมียอาจเป็นซีสต์ (ถุงน้ำที่เกิดขึ้นบนเนื้อเยื่อตามส่วนต่างๆของร่างกาย) และเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์ หากไม่มีการผสมพันธุ์นานเกินไป (เช่นเดียวกับกรณีการเจริญพันธุ์ของอีมานและปันตุงเองก็ไม่สามารถตั้งท้องตัวอ่อนได้ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังจากกับดักของพรานจนไม่สามารถตั้งท้องในธรรมชาติได้)
นั่นเป็นเหตุผลที่ในปี 2018 บรรดาผู้นำองค์กรไม่แสวงกำไรระดับโลก รวมถึงเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้จัดตั้งความร่วมมือที่ไม่เคยมีก่อน ชื่อว่า กู้ชีพกระซู่ (Sumatran Rhino Rescue) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อตามหาและจับกระซู่ในป่าอย่างปลอดภัยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อนำพวกมันมารวมกันและขยายพันธุ์ในพื้นที่ปิด
“เราจะจับกระซู่ที่ยังหลงเหลือและอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในกาลีมันตันและสุมาตรา และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้มันมีลูกได้” มากาเร็ต คินแนร์ด (Margaret Kinnaird) ผู้นำด้านปฏิบัติการสัตว์ป่าขององค์กร WWF International กล่าว
(รับชมวิดีโอ กระซู่ สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก)
ความหวังใหม่ต่อกระซู่ที่ยังเหลือ
คินแนร์ดกล่าวว่า การสูญพันธุ์ของกระซู่ในมาเลเซียเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ค้นหาสัตว์ที่ยังเหลืออยู่ในธรรมชาติให้มากขึ้น คินแนร์ดทำงานด้านการค้นหาและดูแลกระซู่มาได้ 2 ปีแล้ว และพบข่าวดีว่า เมื่อปลายปีที่แล้วมีการพาตัวพาหุ (Pahu) กระซู่เพศเมียซึ่งจับได้จากในป่า เข้าสู่กระบวนการขยายพันธุ์ที่ศูนย์พักพิงแรดในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พาหุมีความสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างแข็งแรง มันกำลังปรับตัวเข้ากับบ้านใหม่ และถ้าโชคดี มันอาจมี “คู่” มาอยู่ร่วมกัน
“การสำรวจของเราเมื่อเร็วๆนี้บ่งชี้ว่า ยังคงมีกระซู่ตัวอื่นๆใช้ชีวิตอยู่ในป่าที่กาลีมันตัน” คินแนร์ดกล่าวและเสริมว่า “มันทำให้ฉันมีความหวังอีกครั้งค่ะ”
“เราต้องมุ่งความสนใจไปที่การรักษากระซู่อีก 80 ตัวที่เหลือ โดยใช้ทั้งการปกป้องพวกมันอย่างเข้มงวด การผสมพันธุ์ในพื้นที่ปิด และการทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจว่ากระซู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางธรรมชาติ” ซูซี เอลลิส กรรมการบริหารของมูลนิธิแรดนานาชาติ (the International Rhino Foundation) กล่าวและเสริมว่า “นี่เป็นการต่อสู้ที่เราจะแพ้ไม่ได้”