พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ : เยือนคลังสะสมปลาชวนขนลุก

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ : เยือนคลังสะสมปลาชวนขนลุก

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือถ้าจะเรียกให้ถูกคือ คลังสะสมทางธรรมชาติวิทยาแห่งนี้ คือฉากในฝันของผู้กำกับหนังสยองขวัญ คุณจะพบสถานที่นี้ได้โดยการขับรถราว 15 กิโลเมตรไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของนิวออร์ลีนส์ จนไปถึงที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ป่าผสมที่ลุ่มน้ำขังบนคุ้งหนึ่งของแม่น้ำมิสซิสซิปปี  ลงไปตามทางลูกรังที่มีชื่อว่าถนนไวลด์บอร์ หรือ “ถนนหมูป่า” อัลลิเกเตอร์กับงูวอเตอร์มอกกาซินอาศัยอยู่ในป่ารกชัฏทางซ้ายมือ ส่วนทางขวาเป็นที่ตั้งของบังเกอร์หรือสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์หมายเลขเอ3

บังเกอร์ลักษณะดังกล่าวมีอยู่ทั้งสิ้น 26 หลัง โดยกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างในที่ดินราว 1,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้าง  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯจะมาจอดเทียบท่าเพื่อรับกระสุนปืนใหญ่ ก่อนมุ่งหน้าออกสู่ทะเล ต่อมาสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ ใช้สถานที่นี้เป็นสนามฝึกทหารกองโจรคิวบาที่จะไปสู้รบในยุทธภูมิยึดอ่าวพิกส์ (Bay of Pigs Invasion) อันล้มเหลวเมื่อปี 1961

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทูเลนเป็นเจ้าของสถานที่นี้ ผู้มาเยี่ยมชมส่วนใหญ่เป็นนักชีววิทยา ซึ่งสนใจปลาตายเกือบแปดล้านตัวที่เก็บอยู่ในบังเกอร์เอ3 และเอ15

ภายในบังเกอร์ ปลาแช่แอลกอฮอล์ในขวดโหลปิดสนิทหลากหลายขนาดวางเรียงรายบนชั้นสูงสามเมตร ยาว 11 เมตร แถวแล้วแถวเล่า ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นคลังสะสมปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

“จริงๆแล้วต้องบอกว่า ที่นี่เป็นคลังสะสมปลาหลังวัยอ่อนที่ใหญ่ที่สุดครับ” จัสติน แมนน์ ผู้จัดการคลังสะสมวัย 38 ปี กล่าวและเสริมว่า นี่เป็นคลังสะสมที่มีจำนวนตัวอย่างมากที่สุด ไม่ใช่จำนวนชนิดพันธุ์ อันที่จริง จำนวนตัวอย่างกว่าหนึ่งล้านตัวอย่างเป็นปลาชนิดเดียวเท่านั้น คือ Cyprinella venusta (ใช่แล้ว มันคือปลาซิวชนิดหนึ่ง) คลังสะสมดังกล่าวมีปลาต่างถิ่นจากที่ไกลโพ้นถึงอินโดนีเซียรวมอยู่ด้วย แต่ปลาที่นี่ส่วนใหญ่มาจากถิ่นอาศัยดั้งเดิมในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ภูมิภาคกัลฟ์โคสต์ในรัฐเทกซัสไปจนถึงรัฐนอร์ทแคโรไลนาและเซาท์แคโรไลนา

ภายในบังเกอร์ ปลาแช่แอลกอฮอล์ในขวดโหลปิดสนิทหลากหลายขนาดวางเรียงรายบนชั้นสูงสามเมตร ยาว 11 เมตร แถวแล้วแถวเล่า
จัสติน แมนน์ ผู้จัดการคลังสะสม อุ้มปลาสเตอร์เจียนแอตแลนติก (Acipenser oxyrinchus) ที่ถูกสตัฟฟ์ไว้  เขื่อนต่างๆที่ขวางการเข้าถึงแหล่งวางไข่กำลังคุกคามปลาชนิดนี้ นักวิจัยให้ความสำคัญกับคลังสะสมปลานี้ เพราะเผยให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อปลาอย่างไร

คลังสะสมปลาของมหาวิทยาลัยทูเลนมีแค่ปลาสตัฟฟ์สองตัว ตอนที่นักชีววิทยาปลาซึ่งเป็นหนุ่มไฟแรงนามว่า รอยัล ดี. ซัตต์คุส มาถึงเมื่อปี 1950 ซัตต์คุสตั้งเป้าว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้บนหลักการความเชื่อที่ว่า คนเราไม่อาจเข้าใจโลกใต้น้ำได้จนกว่าจะได้เห็นและศึกษามัน และคนเรามักไม่ปกปักรักษาสิ่งที่ตนไม่อาจเข้าใจ ซัตต์คุสเป็นนักชีววิทยาภาคสนามผู้ไม่เคยย่อท้อ เขาออกไปลุยน้ำสูงเทียมเอวเทียมคอในภูมิภาคแถบนั้นตลอด 50 ปีต่อมา ลากปลายอวนยาวสามเมตรข้างหนึ่ง ขณะที่นักศึกษาปริญญาโทอีกคนคอยลากปลายอวนอีกข้างตามให้ทัน

ขณะที่นักชีววิทยาปลาคนอื่นๆมักตะลอนย้ายสถานที่ไปเรื่อยๆ เก็บตัวอย่างจากตรงนี้นิดตรงโน้นหน่อย โดยจะมองหาอะไรใหม่ๆและน่าสนใจเสมอ แต่ซัตต์คุสซึ่งจากโลกไปเมื่อปี 2009 เก็บตัวอย่างจากพื้นที่เดิมๆในแม่น้ำสายเดิมซ้ำๆปีแล้วปีเล่าเป็นเวลาหลายสิบปี โดยบ่อยครั้งเขาจะสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามข้อบังคับให้กับโรงงานกระดาษและผู้ปล่อยมลพิษรายอื่นๆไปด้วย แนวทางปฏิบัติทั่วไปสำหรับนักชีววิทยาปลาคือ จะนำปลาที่จับได้ทั้งหมดมาวางเรียงกันที่จุดสิ้นสุดการสำรวจ เลือกปลาสองสามตัวที่คู่ควรกับการเก็บตัวอย่าง แล้วปล่อยที่เหลือลงน้ำไป แต่วิธีการของซัตต์คุสนั้นตรงกันข้าม ทุกอย่างที่ติดอวนของเขามาถูกจับใส่ขวดโหลหมด

นักชีววิทยาคนอื่นๆไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว การเก็บตัวอย่างจำนวนมากเกินไปในจุดเดิมปีละครั้งไม่น่าจะก่อความเสียหายต่อประชากรปลา มันแค่ดูไม่เข้าท่า

กระนั้น ความจริงมีอยู่ว่า วิธีเก็บทุกอย่างที่จับได้อย่างเป็นระบบดังกล่าว กลับกลายเป็นจุดแข็งอันยืนยงของคลังสะสมปลารอยัล ดี. ซัตต์คุส (Royal D. Suttkus Fish Collection)

ปลาเข็มธรรมดาสามตัว (Hyporhamphus unifasciatus) ที่ถูกจับจากอ่าวเม็กซิโกเมื่อปี 1954 สะท้อนถึงคุณค่าของคลังสะสมปลาของนักชีววิทยา รอยัล ดี. ซัตต์คุส ผู้บันทึกการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรปลาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯในช่วงเวลากว่า 50 ปี
บนและล่าง: ตัวอย่างบางส่วนจากคลังสะสมปลารอยัล ดี. ซัตต์คุส (Royal D. Suttkus Fish Collection)

คนเราไม่อาจเข้าใจโลกใต้น้ำได้จนกว่าจะได้เห็นและศึกษามัน และคนเรามักไม่ปกปักรักษาสิ่งที่ตนไม่อาจเข้าใจ

ตัวอย่างเหล่านี้คือ “หน้าต่างสู่อดีต” อันปราศจากความคลาดเคลื่อน เบอร์นี คูฮัจดา นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเทนเนสซีในเมืองแชตทานูกา อธิบายว่า “เนื่องจากซัตต์คุสเก็บปลาทุกตัวไว้ คุณจะรู้ได้เลยครับว่า โครงสร้างอายุที่แท้จริง ณ เวลานั้น ในสถานที่นั้นเป็นอย่างไร” เป็นต้นว่าในกลุ่มประชากรที่แข็งแรงมีปลาครบทุกกลุ่มอายุรวมอยู่ด้วยหรือไม่ “ซึ่งมีประโยชน์ครับ”

มีประโยชน์อย่างไรนั้นหรือ คลังสะสมเหล่านี้มีประโยชน์เพราะเป็นหน้าต่างสู่อดีตช่วงหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ซัตต์คุสเก็บตัวอย่างปลาในยุคที่แม่น้ำยังมีเขื่อนกั้นเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและใช้ในการสัญจร มลพิษยังไม่ได้รับการควบคุมเป็นส่วนใหญ่ หลังโรงงานเคมีแห่งหนึ่งเปิดดำเนินการทางตอนเหนือของรัฐแอละแบมา

ปัจจุบัน นักชีววิทยาที่กำลังศึกษาว่า การพัฒนาโดยปราศจากการควบคุมในศตวรรษที่ยี่สิบ เปลี่ยนโฉมหน้าภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ไปอย่างไรบ้าง หันไปหาคลังสะสมของซัตต์คุสเพื่อหาคำตอบ

เรื่อง ริชาร์ด คอนนิฟฟ์

ภาพถ่าย เครก คัตเลอร์

*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2562


สารคดีแนะนำ

แหล่งน้ำจืด : ชีวิตเปราะบางในแม่น้ำลำธาร และทะเลสาบ

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.