ถ้าเราอาศัยอยู่ในช่วงเวลาปกติ หรือเวลาที่เข้าใจกันในความหมายของสมัยทางธรณีวิทยาซึ่งเดินไปอย่างเชื่องช้าและเนิ่นนาน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเห็นชนิดพันธุ์ใดชนิดพันธุ์หนึ่งสูญสิ้นไป เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นให้มนุษย์เห็นบ่อยนัก ในกรณีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาหรืองานวิจัยรองรับมากที่สุด หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์บ่งชี้ว่า อัตรา การสูญพันธุ์ “ฉากหลัง” ที่เป็นอัตราการสูญพันธุ์ก่อนมนุษย์วิวัฒน์ขึ้นมานั้นต่ำมากเสียจนในชั่วระยะเวลาหนึ่งพันปีอาจมีชนิดพันธุ์เพียงชนิดเดียวที่สูญหายไป
แต่เราไม่ได้อาศัยอยู่ในช่วงเวลาปกติอย่างแน่นอน ทุกหนทุกแห่งที่เรามองไป ชนิดพันธุ์ต่างๆ กำลังล้มหายตายจาก ลำพังแค่ในทศวรรษที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไปแล้วสองชนิด ได้แก่ ค้างคาวลูกหนูเกาะคริสต์มาส กับหนูเกาะบรัมเบิลเคย์
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ขึ้นบัญชีชนิดพันธุ์และชนิดพันธุ์ย่อยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 200 ชนิดว่ามีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง บางกรณี เช่น แรดสุมาตรา หรือโลมาวากีตา ซึ่งเป็นโลมาพื้นถิ่นของอ่าวแคลิฟอร์เนีย มีจำนวนเหลืออยู่น้อยกว่าหนึ่งร้อยตัว บางชนิด เช่น โลมาแม่น้ำแยงซี แม้ไม่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการว่าสูญพันธุ์ แต่ก็อาจตายไปหมดแล้ว
ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังเกิดกับสัตว์อื่นเกือบทุกกลุ่ม ทั้งสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ปลา แม้แต่แมลง อัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบันสูงกว่าอัตราการสูญพันธุ์ฉากหลังนับร้อยหรืออาจนับพันเท่า อัตรานี้สูงมากจนนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (mass extinction) กำลังจะเกิดขึ้น
การสูญพันธุ์ ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นกับไดโนเสาร์เมื่อราว 66 ล้านปีก่อน เกิดขึ้นหลังจากโลกถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน แต่ปัจจุบัน สาเหตุของการสูญพันธุ์ดูเหมือนหลากหลายมากขึ้น ทั้งการทำไม้ การลักลอบล่าสัตว์ เชื้อโรคต่างถิ่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำประมงมากเกินขนาด และสภาวะที่มหาสมุทรเป็นกรดมากขึ้น
แต่เมื่อย้อนรอยกลับไป คุณจะพบว่าตนเองต้องเผชิญกับผู้ร้ายหน้าเดิมๆ นักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่นาม อี.โอ. วิลสัน บันทึกไว้ว่า มนุษย์เป็น “สิ่งมีชีวิตชนิดแรกในประวัติศาสตร์แห่งชีวิตที่กลายเป็นพลังหรือแรงทางธรณีฟิสิกส์” นักวิทยาศาสตร์หลายคนให้เหตุผลว่า เราเข้าสู่สมัยธรณีวิทยาสมัยใหม่แล้ว นั่นคือ แอนโทรโพซีน (Anthropocene) หรือยุคแห่งมนุษย์ อีกนัยหนึ่ง คราวนี้ดาวเคราะห์น้อยก็คือพวกเรานั่นเอง
อะไรจะสูญสิ้นไปบ้าง เมื่อสัตว์ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ไป
จีโนมหรือข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของชนิดพันธุ์หนึ่งๆ เป็นดังคู่มือเล่มหนึ่ง เมื่อชนิดพันธุ์นั้นสูญสิ้น คู่มือนั้นย่อมหายไปด้วย ในแง่นี้ เรากำลังปล้นสดมภ์หอสมุด นั่นคือหอสมุดแห่งชีวิต
โจเอล ซาร์โทรี ถ่ายภาพสัตว์เพื่อใช้ในโครงการโฟโตอาร์ก (Photo Ark) มานาน 13 ปีแล้ว นับวันสัตว์ในสวนสัตว์หรือสถานเพาะเลี้ยงจะกลายเป็นสมาชิกตัวท้ายๆ ที่เหลืออยู่ของชนิดพันธุ์ บางชนิด พวกมันเป็นสมาชิกทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ในโลก
ซาร์โทรีปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งใหญ่และเล็ก สวยงามและธรรมดา ด้วยความเคารพ ภาพถ่ายของเขาบันทึกสิ่งที่โดดเด่นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
เนื่องจาก การสูญพันธุ์ เกิดขึ้นบ่อยมากในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้ที่เราจะคุ้นเคยกับมัน ความเฉยชาเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพถ่ายของซาร์โทรีสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เราเห็นว่า แต่ละชนิดที่เรากำลังสูญเสียไปนั้นยอดเยี่ยมเพียงใด
เราอาศัยอยู่ในช่วงเวลาไม่ปกติ หากยอมรับความจริงข้อนี้ เราอาจเริ่มนึกภาพถึงช่วงเวลาที่ต่างออกไป เป็นช่วงเวลาที่เราอนุรักษ์ความหลากหลายอันน่ามหัศจรรย์ของชีวิตไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ยังคงเป็นไปได้
เรื่อง เอลิซาเบท โคลเบิร์ต
ภาพถ่าย โจเอล ซาโทรี
* หมายเหตุ: สัตว์ส่วนใหญ่ที่ปรากฏในบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัตว์และพืชกว่า 28,000 ชนิดที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น (IUCN) ระบุว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ระดับการคุกคามสามารถแบ่งออกได้เป็น มีความเสี่ยงน้อย (least concern: LC) ใกล้ถูกคุกคาม (near threatened: NT) มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable: VU) ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered: CR) สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (extinct in the wild: EW) สูญพันธุ์ (extinct: EX) ยังไม่ได้รับการประเมิน (not evaluated: NE) ข้อมูลไม่เพียงพอ (data deficient: DD
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2562
สารคดีแนะนำ