ความจริงของตลาดค้าสัตว์ป่าจีนในยุคไวรัสโคโรนา

ที่ ตลาดค้าสัตว์ป่า ในเซินเจิ้น ผู้ค้านำสัตว์เลี้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมออกมาโชว์เพื่อค้าขาย ในประเทศจีน มีสัตว์ 54 สายพันธุ์ที่สามารถซื้อขายได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อการบริโภค การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้การค้าสัตว์ป่าเหล่านี้เป็นที่จับตามองจากคนทั้งโลก ภาพถ่ายโดย AFP, GETTY


ภาพข่าวจากสื่อหลายสำนักมักทำให้เชื่อว่า ตลาดค้าสัตว์ป่า เป็นที่นิยมในจีน แต่ความจริงแล้ว ชาวจีนส่วนมากไม่คุ้นเคยกับมัน

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่เชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดมาจากตลาดค้าสัตว์ป่าในอู่ฮั่นทำให้มีการจับจ้องการค้าสัตว์ป่าของจีน โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศห้ามการค้าสัตว์ป่าจนกว่าวิกฤติในครั้งนี้จะจบสิ้น ภาพของสัตว์ที่ป่วยและดูทนทุกข์ทรมานในตลาด หรือวิดีโอที่แสดงการต้มค้างคาวเป็นๆในถ้วยซุป ได้เผยแพร่ไปในสังคมออนไลน์ ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองไปทั่วโลก และทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าการซื้อสัตว์ป่าเป็นๆเพื่อนำไปบริโภคเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายในสังคมจีน

แต่ในความเป็นจริง สำหรับชาวจีนส่วนใหญ่ การกินสัตว์ป่านั้นเป็นเรื่องแปลกประหลาด

China Daily ซึ่งเป็นสื่อที่ควบคุมโดยรัฐบาลจีน ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการอันน่าเสียดแทงเพื่อประณามวัฒนธรรมนี้ และเรียกร้องมาตรการห้ามค้าสัตว์ป่าอย่างถาวร ซึ่งกระแสสังคมออนไลน์ในจีน เช่น Weibo ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในตลาดค้าสัตว์ป่าอู่ฮั่น สถานที่ซึ่งไวรัสโคโรนาเริ่มแพร่ระบาดเมื่อเดือนธันวาคม 2019 คนงานถือซาลาแมนเดอร์ออกไปหลังการสั่งปิดตลาด ภาพถ่ายโดย FEATURE CHINA, BARCROFT MEDIA/GETTY

ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ขนาดหรือระดับของการค้าสัตว์ป่าในจีนนั้นยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากสัตว์หลายชนิดถูกล่า นำเข้า และส่งออกอย่างผิดกฎหมายเพื่อเป็นอาหาร ยา เกมกีฬา หรือเป็นสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์แผนจีนโบราณที่ยังคงมีความเชื่อเรื่องการใช้พลังจากอวัยวะส่วนต่างๆของสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้

รัฐบาลจีนอนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 54 ชนิดในฟาร์มเพื่อจำหน่ายและบริโภค เช่น มิ้งค์ นกกระจอกเทศ แฮมสเตอร์ เต่าสแนปปิ้งหรือเต่าฉก จระเข้น้ำจืด เป็นต้น โจวจิ้นเฟิง เลขาธิการมูลนิธิการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมจีน ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร กล่าวและเสริมว่า เจ้าของฟาร์มหลายคนอ้างว่าสัตว์ของพวกเขาเพาะพันธุ์อย่างถูกกฎหมายในพื้นที่ปิดเพื่อการอนุรักษ์ แต่กลับนำไปขายในตลาดหรือขายให้นักสะสม

แม้ไม่แน่ชัดว่าตลาดค้าสัตว์ป่าในลักษณะนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีอยู่นับร้อยแห่ง

ในการสำรวจเมื่อปี 2014 ระบุว่า ผู้คนนับพันใน 5 เมืองของจีนมีวิธีการกินอาหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศ ในกว่างโจว ผู้ให้สัมภาษณ์ร้อยละ 83 เคยกินสัตว์ป่าในปีก่อนหน้า ในเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ร้อยละ 14 ส่วนในเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่งมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ในระดับทั่วประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจไม่เคยรับประทานสัตว์ป่าเลย

ภาพกบตัวเป็นๆ สำหรับขายในตลาดที่เซี่ยงไฮ้เมื่อ 26 มกราคม 2020 ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลจีนประกาศห้ามการค้าสัตว์มีชีวิต ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโคโรนา ภาพถ่ายโดย EDWIN REMSBERG, VWPICS/AP

หม้อต้มน้ำของโรคติดต่อ

ในตลาด บรรดาสัตว์ป่า “ต่างดูใกล้ตายและกระหายน้ำในกรงขึ้นสนิมที่สกปรกอย่างยิ่ง” ปีเตอร์ หลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายจีนจากสมาคมมนุษยธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮิวสตัน-ดาวน์ทาวน์ บอกและเสริมว่า พวกมันอาจมาในสภาพไร้แขนขาหรือปีก มีแผลจากการถูกล่า หรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง “ผู้ค้าไม่ได้จัดการกับพวกมันอย่างนุ่มนวลในระหว่างขนส่ง พวกสัตว์ป่าต่างทุกข์ทรมานครับ” เขากล่าว

ความอลหม่านในการค้าสัตว์ป่าก่อให้เกิดโรครับจากสัตว์หรือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน คริสเตียน วอลเซอร์ หัวหน้าสัตวแพทย์โลกจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา อธิบายเสริมว่า ในโลกปกติ (ไวรัสของสัตว์) จะไม่ติดต่อสู่คน แต่การเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ด้านเอริน ซอร์เรลล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิจัยจากภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า ร้อยละ 70 ของโรครับจากสัตว์เกิดจากสัตว์ป่า โดยทั้งเชื้อ HIV, อีโบล่า และโรคซาร์สก็เป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ป่าทั้งสิ้น

ผู้ค้าผักสดในกรุงปักกื่งสวมหน้ากากป้องกันไวรัส งานศึกษาเมื่อปี 2014 พบว่ามีประชากรกรุงปักกิ่งเพียงร้อยละ 5 ที่ได้กินสัตว์ป่าเป็นอาหารในปีก่อนหน้า ภาพถ่ายโดย KEVIN FRAYER, GETTY

ในตลาดค้าสัตว์ป่าที่ประเทศจีนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจมีสัตว์ป่ามากกว่า 40 ชนิด ทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์เลี้อยคลาน “ต่างถูกวางซ้อนทับกันไว้” วอลเซอร์กล่าว ทั้งอากาศที่ปนกันและสารคัดหลั่งจากสัตว์ทำให้เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนไวรัสขึ้น หรืออาจพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งวอลเซอร์สรุปว่าตลาดค้าสัตว์นั้นเปรียบเหมือน “หม้อต้มน้ำของโรคติดต่อ”

แม้จะมีหลักฐานชี้ว่า ค้างคาวเป็นแหล่งที่มาของเชื้อไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชนิดพันธุ์ (species) ใดเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสนี้มาสู่มนุษย์ แต่จากการประเมินภายในตลาดอู่ฮั่น มีการตรวจพบไวรัสโคโรนาในส่วนพื้นที่จำหน่ายสัตว์เป็นๆ

ป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอย

ขณะนี้ทางรัฐบาลจีนได้มีเบอร์โทรศัพท์สายด่วนสำหรับการรายงานเรื่องการฝ่าฝืนข้อกฎหมาย “นี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินครับ” ปีเตอร์ หลี่ กล่าวและเสริมว่า “ทุกคนต่างจับตามอง จะมีการแจ้งความต่อผู้ค้าคนใดก็ตามที่ละเมิดกฎ” อย่างไรก็ตาม ความกลัวที่มีต่อไวรัสโคโรนาก็มีส่วนให้ความต้องการซื้อสัตว์ป่าลดลงเช่นกัน

ชะมดถูกขังกรงเพื่อขายในตลาดที่จีนตอนใต้เมื่อปี 2003 ซึ่งเป็นช่วงโรคซาร์ส (SARS) มีการระบาดมากที่สุด เชื่อกันว่าชะมดเป็นสัตว์ที่แพร่ไวรัสโรคซาร์สไปสู่มนุษย์ ในบางพื้นที่ ซุปชะมดถือเป็นอาหารหรู ภาพถ่ายโดย AFP, GETTY

แม้จะมีการออกมาตรการห้ามค้าสัตว์ป่าชั่วคราว แต่ก็มีการพูดถึงการยุติการค้าสัตว์ป่าอย่างถาวรเช่นเดียวกัน หากแต่ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดว่าจะออกมาในทิศทางใด จึงทำให้มีกระแสต่อต้านจากภาคธุรกิจ หลี่กล่าวต่อไปว่า องค์การบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งประเทศจีน (State Forestry and Grassland Administration) ซึ่งรับผิดชอบในการออกใบอนุญาตการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า “เป็นปากเสียงให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการค้าสัตว์ป่ามานาน”

ด้านเอริน ซอร์เรลล์ มีความเห็นว่า การออกมาตรการห้ามค้าสัตว์ป่าอย่างถาวรต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง “ฉันเองก็ไม่อยากให้มีการค้าสัตว์ป่าในตลาดค่ะ” แต่การเร่งออกมาตรการโดยไม่มีการพิจารณาที่ดีอาจทำให้การค้าสัตว์ป่ากลายเป็นกระบวนการใต้ดิน “ซึ่งจะเป็นอันตรายในการบริโภคมากขึ้น หากเราไม่รู้ว่าสิ่งที่บริโภคนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร” เธอกล่าวเสริม

หลี่บอกว่า หากมีการใช้มาตรการห้ามค้าสัตว์ป่าอย่างถาวร เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องมีการซื้อหรือจ่ายค่าชดเชยให้เจ้าของฟาร์มสัตว์เหล่านั้นเพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวไปในทิศทางอื่นได้

เรื่อง NATASHA DALY


อ่านเพิ่มเติม โรคปอดอักเสบ จากเชื้อโคโรนาไวรัส 2019

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.