แมลงเม่า ทำไมชอบบินเข้าหาแสงไฟ

แมลงเม่าคือระยะที่มีปีกของวงจรชีวิตปลวก

เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่นช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนสู่ฤดูฝน เรามักพบ แมลงเม่า นับร้อยนับพันออกมาบินว่อนรอบดวงไฟ และเมื่อแมลงเม่าออกมาจากจอมปลวก สัตว์อื่นๆ ที่กินแมลงเป็นอาหารอย่าง จิ้งจก ตุ๊กแก และคางคก ต่างออกมาชุมชนคล้ายงานเลี้ยงมื้อใหญ่

แมลงเม่าคือปลวกในระยะสืบพันธุ์ เป็นแมลงที่มีการเปลี่ยนรูปร่างไม่สมบูรณ์แบบ โดยตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยแต่ยังไม่มีปีกหรืออวัยวะสืบพันธุ์ วงจรชีวิตของปลวกเริ่มจากไข่ที่ฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนนี้สามารถเจริญเป็นสามวรรณะ คือ วรรณะปลวกงาน วรรณะปลวกทหาร และวรรณะสืบพันธุ์

วรรณะของปลวก

วรรณะปลวกงานเป็นแรงงานของรังปลวก ทำหน้าที่ในการสร้างรัง และหาอาหารให้แก่ปลวกในวรรณะอื่นๆ วรรณะปลวกทหาร มีหัวกะโหลกแข็งและใหญ่ มีกรามขนาดใหญ่เป็นเหมือนคีมใช้ต่อสู้ วรรณะปลวกงานและทหารไม่มีการเปลี่ยนรูปหรือพัฒนาการต่อไปอีกเหมือนกับปลวกในวรรณะสืบพันธุ์ ปลวกในวรรณะสืบพันธุ์เมื่อโตเต็มวัยจะมีปีก การมองเห็นที่ดีและมีระบบสืบพันธุ์ที่สมบูรณ์ เรียกปลวกในระยะนี้ว่า “แมลงเม่า”

แมลงเม่าออกจากรังเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนหรือมีความชื้นสูง แมลงเม่าจะออกจากรังและบินไปรวมกันในบริเวณที่มีแสงสว่างจ้า เช่น หลอดไฟ เพื่อกระตุ้นการตกไข่ โดยร่างกายของปลวกมีการพัฒนาให้มีความแข็งและมีสีเข้ม เพื่อให้ทนต่อแสงไฟและความชื้นของอากาศ เมื่อผสมพันธุ์แล้ว แมลงเม่าจะสลัดปปีกออกและหาสถานที่สร้างรังและวางไข่ โดยแมลงเม่าตัวเมียจะกลายเป็นราชินีปลวก

ภายในหนึ่งจอมปลวกส่วนใหญ่พบราชินีปลวกเพียงตัวเดียว และมีขนาดใหญ่กว่าปลวกวรรณะอื่นๆ หลายเท่าตัว

แมลงเม่าคือปลวกระยะตัวเต็มวัยที่มีปีก ปัจจุบัน ปลวกกระจายตัวอยู่ทุกทวีปทั่วโลกประมาณสองพันชนิด จอมปลวกหนึ่งจอมมีสมาชิกปลวกประมาณหนึ่งพันตัว ส่วนใหญ่ปลวกสร้างรังจากดินและมีโครงสร้างภายในที่ซับซ้อน เมื่อปลวกตัวเมียถึงช่วงสืบพันธุ์ มันมักจะออกจากจอมปลวกเดิมเพื่อหาคู่ผสมพันธ์ และหาสถานที่สำหรับสร้างอาณาจักรใหม่ ตัวเมีย (หรือราชินีปลวก) จะเริ่มผลิตไข่จำนวนหลายร้อยใบ ตัวอ่อนส่วนใหญ่ที่มาจากไข่นางพญาปลวกจะเจริญไปเป็นปลวกงาน นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในหนึ่งวัน นางพญาปลวกสามารถผลิตไข่ได้ประมาณ 30,000 ใบ และเมื่อพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน พวกมันคือส่วนหนึ่งของสมาชิกในจอมปลวก

จอมปลวกที่สร้างโดยปลวกงาน

ในขณะที่นางพญาผลิตไข่หลายต่อหลายฟอง ตัวนางพญาก็เติบโตและเพิ่มขนาดขึ้นเช่นกัน พร้อมทั้งปล่อยฟีโรโมนเพื่อควบคุมวรรณะอื่นๆ ภายในจอมปลวก นางพญาปลวกสามารถเจริญจนมีขนาดเท่ากับนิ้วชี้ของมนุษย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่าปลวกวรรณะอื่นประมาณร้อยเท่า ส่งผลให้นางพญาปลวกไม่ค่อยเคลื่อนที่ไปยังส่วนอื่นของจอมปลวก

ในส่วนของที่พักอาศัยที่มีแมลงเม่าบินตอมไฟจำนวนมาก ผู้อาศัยอาจเกิดความกังวลว่า แมลงเม่าที่สลัดปีกแล้วจะกลายเป็นปลวกที่สร้างปัญหาให้กับบ้านในภายหลังได้หรือไม่ นักกีฏวิทยาให้ความเห็นว่า ถ้าแมลงเม่าที่บินออกมาจากรังแล้วสามารถผสมพันธุ์กันได้สำเร็จ ก็มีโอกาสสูงที่แมลงเม่าหรือปลวกที่ผสมพันธุ์แล้ว จะมองหาพื้นที่สำหรับสร้างอาณาจักรใหม่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะไปอาศัยซอกหลืบตามตัวเรือน หรือใต้ฝ้าเพดาน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในบ้าน

ดังนั้น วิธีการป้องกันเบื้องต้น คือ ช่วงเวลาที่แมลงเม่าบินออกจากจอมปลวก เราควรปิดประตูบ้านและหน้าต่างให้มิดชิด รวมไปถึงปิดไฟสว่างรอบตัวบ้าน เพื่อไม่ล่อให้แมลงเม่าบินเข้ามาตอมไฟใกล้กับตัวอาคาร หรืออีกหนึ่งวิธีคือการหาภาชนะปากกว้างใส่น้ำแล้ววางไว้ใต้หลอดไฟ ก็สามารถช่วยตัดวงจรก่อนแมลงเม่าจะไปสร้างรังใหม่ได้

ในธรรมชาติปลวกหรือแมลงเม่า คือผู้ย่อยสลายซากพืชที่ยอดเยี่ยม ต้นไม้ใหญ่ที่ล้มอยู่ในป่า หรือเศษไม้ที่ผุพังตามธรรมชาติ ได้รับการย่อยสลายโดยปลวกที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทสำคัญของระับบนิเวศ เป็นผู้ย่อยสลายที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไม้ใหญ่ในป่าล้มลง ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์ หรือไม่พุ่มที่อยู่ด้านล่างได้รับแสงมากขึ้น และเจริญเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: แมลงกินได้ : อนาคตอาหารโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.