พบปลากระเบนสีชมพูสุดแปลกในออสเตรเลีย

ปลากระเบน ตัวนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากสีผิวที่ผิดปกติแต่อย่างใด โดยมีการบันทึกภาพปลากระเบนตัวนี้เป็นครั้งคราวนับตั้งแต่ปี 2015 ภาพถ่ายโดย KRISTIAN LAINE


สีชมพูที่ปรากฏบนปลากระเบนตัวหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ไม่ได้เกิดจากทั้งการติดเชื้อหรือผลจากการกินอาหาร นักวิทยาศาสตร์กล่าว

เมื่อช่างภาพ คริสเตียน เลน พบปลากระเบนสีชมพูตัวหนึ่งในตอนที่เขากำลังดำน้ำแบบฟรีไดร์ฟในแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ของออสเตรเลีย เขาคิดว่ากล้องถ่ายรูปคงทำงานผิดปกติแน่นอน

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมีปลากระเบนสีชมพูอยู่บนโลก ตอนนั้นก็คิดไปว่าไฟแฟลชในกล้องคงจะเสียหรือทำงานผิดพลาดครับ” เลน กล่าว หลังจากนั้นเขาได้โพสต์ภาพปลากระเบนสีชมพูตัวนี้ในอินสตาแกรมและกลายเป็นกระแสไวรอลในอินเตอร์เน็ต

โปรเจกต์แมนตา (Project Mantra – โครงการปลากระเบน) กลุ่มนักวิจัยจากออสเตรเลียที่ศึกษาปลากระเบนสีชมพูตัวนี้ ได้ยืนยันว่าเป็นสีผิวจริงของมัน ในตอนแรก พวกเขาคิดว่าสีชมพูนี้เป็นผลมาจากการติดเชื้อของผิวหนังหรือผลค้างเคียงจากอาหารที่กิน เช่นเดียวกับนกฟลามิงโกสีชมพูที่ได้สีผิวมาจากการกินสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หรือครัสเตเชียน (crustaceans) อันหมายถึงสัตว์น้ำจำพวก กุ้ง กั้ง หรือ ปู เป็นต้น แต่จากการศึกษาในปี 2016 โดยนักวิจัย เอมิเลีย อาร์มสตรอง ที่ได้นำตัวอย่างผิวหนังของมันมาศึกษา ก็ค้นพบว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุทั้งสองที่เคยคาดการณ์ไว้

ในตอนนี้ เชื่อว่าปลากระเบนตัวนี้มีภาวะการกลายพันธุ์ของยีน (Genetic Mutation) ในเมลานินหรือหรือเม็ดสีผิว อาเซีย เฮนส์ (Asisa Haine) ผู้ช่วยนักวิจัยกลุ่มโปรเจกต์แมนตรา กล่าว

โดยปลากระเบนตัวนี้ไม่เพียงแค่เป็นสัตว์น้ำที่ดูดี แต่มันมีประโยชน์ต่อการศึกษาได้อีกด้วย เฮนส์กล่าวและเสริมว่า “การทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของการกลายพันธุ์ในยีนอาจช่วยบอกเรา” ว่าปลากระเบนมีกระบวนการพัฒนาสีผิวอย่างไร

เมื่อช่างภาพพบว่าปลากระเบนตัวนี้อยู่ใกล้เกาะ Lady Elliot มีสีชมพูจริงๆ “ผมตะลึงอ้าปากค้างเลย” เขากล่าว ภาพถ่ายโดย KRISTIAN LAINE

โซโลมอน เดวิด นักนิเวศวิทยาทางน้ำประจำมหาวิทยาลัย Louisiana’s Nicholls Sate สงสัยว่ากลายการพันธุ์จะเกิดจากภาวะที่เรียกว่า Erythrism อันเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีผลให้ร่างกายผลิตเม็ดสีแดงมากกว่าปกติ “การได้เห็นการกลายพันธุ์ในสีผิวของสัตว์น้ำไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่เจ๋งที่เราได้พบเจอ” เขากล่าวผ่านอีเมล์

โดยปกติ ปลากระเบนแมนตาแนวปะการังมีสีผิว 3 แบบ คือสีดำล้วน ขาวล้วน หรือสีขาวดำซึ่งมีมากที่สุดซึ่งเป็นรูปแบบสีที่เรียกว่า “Countershading” อันเป็นลักษณะหนึ่งของการพรางตัวในสัตว์ที่ช่วยให้พวกมันเป็นที่สังเกตเห็นยากในสภาพแวดล้อมใต้น้ำ ปลาชนิดนี้จะมีสีดำที่ด้านหลัง และมีสีขาวที่ด้านหน้าท้อง เมื่อถูกมองเห็นจากด้านบน ผิวสีดำของมันจะกลมกลืนไปกับบรรยากาศสีดำใต้ทะเล แต่เมื่อถูกมองจากด้านล่าง สีขาวตรงหน้าท้องของมันก็กลมกลืนไปกับแสงอาทิตย์ที่สะท้อนลงบนผิวน้ำ อันเป็นการปรับตัวที่ป้องกันพวกมันจากสัตว์นักล่า เช่น ฉลาม เป็นต้น

เรื่อง BETHANY AUGLIERE


อ่านเพิ่มเติม ปลากระเบน ในทุกวันนี้ยังสบายดีอยู่หรือไม่

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.