เสือโคร่ง กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตอนที่รัดยาร์ด คิปลิงประพันธ์เรื่อง เมาคลี ลูกหมาป่า (The Jungle Book) ยุคนั้นยังมีแมวใหญ่สง่างามราว 100,000 ตัวท่องอยู่ทั่วเอเชีย พวกมันเผชิญกับการล่าเพื่อเก็บชิ้นส่วนเป็นที่ระลึกในอินเดีย ถิ่นอาศัยที่หดหาย ความขัดแย้งกับผู้คน และการลักลอบล่าสัตว์ ทุกวันนี้ จำนวนที่เหลืออยู่ในธรรมชาติอาจมีแค่ราว 3,900 ตัว
หลังจากรายงานเรื่องการลักลอบค้าสัตว์ป่าในเอเชียมาหลายปี ฉันตัดสินใจสืบค้นเรื่อง เสือโคร่ง ในอเมริกา เมื่อได้ฟังการบรรยายครั้งหนึ่งของคาร์สัน แบรีแลค ผู้สันทัดกรณีด้านนโยบายในสังกัดกองทุนนานาชาติเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ (International Fund for Animal Welfare)
เธอบอกว่า ในสหรัฐฯ อาจมีเสืออยู่ในสถานเพาะเลี้ยงหรือกรงขังราว 5,000 ถึง 10,000 ตัว ไม่มีใครแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐรู้ว่า มีจำนวนเท่าไรแน่ และไม่มีกฎหมายรัฐบาลกลางควบคุมการครอบครองสัตว์กลุ่มแมวใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งประเทศเลยสักฉบับ
แบรีแลคให้ดูแผนที่หลากสีซึ่งแสดงรัฐต่างๆ ที่มีกฎหมายควบคุมในระดับแตกต่างกันไป บางรัฐห้ามการครอบครองส่วนบุคคล ขณะที่รัฐอื่นๆ ให้ครอบครองได้โดยต้องมีใบอนุญาต สี่รัฐไม่มีกฎหมายครอบคลุมทั่วทั้งรัฐอยู่เลยสักฉบับ ในบางพื้นที่ การซื้อเสือทำได้ง่ายยิ่งกว่าการขอรับอุปการะลูกแมวจากศูนย์พักพิงสัตว์ในท้องถิ่น
คุณสามารถขอใบอนุญาตจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือ ยูเอสดีเอ เพื่อนำหนูเจอร์บิลมาแสดงโชว์หรือเพาะพันธุ์ได้ จากนั้น คุณก็นำสัตว์อะไรก็ได้ที่ต้องการมาแสดงหรือเพาะพันธุ์ได้ รวมทั้งสัตว์กลุ่มแมวใหญ่ด้วย ความบันเทิงขับเคลื่อนการเพาะพันธุ์และการซื้อขายเสือในสหรัฐฯ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่อนุญาตให้ลูกค้าเล่น ให้อาหาร และถ่ายภาพกับลูกเสือได้ ผู้เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อการค้ามีลูกเสือมาป้อนตลาดอยู่ตลอดเวลา ในบางรัฐ กิจกรรมเชิงการค้าเหล่านี้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย หากได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากยูเอสเอดี ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานการดูแลขั้นต่ำสำหรับสัตว์ภายใต้รัฐบัญญัติสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Act) แต่เรากลับพบสัตว์ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้าย และกิจกรรมผิดกฎหมายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการลักลอบขนส่งสัตว์ป่า ในสถานประกอบการหลายแห่งที่เราไปเยือน
ลูกเสือก็ไม่ต่างจากเหมืองทอง โดยเฉพาะลูกเสือขาว นักท่องเที่ยวลูบกอด ป้อนนม ถ่ายภาพคู่ลูกเสือตัวน้อยน่ารักตามสวนสัตว์ข้างทาง งานประจำจังหวัด และสวนซาฟารี การถ่ายภาพช่วงสั้นๆ หรือการอุ้มกอดห้านาทีมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10 ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ การทัวร์สวนสัตว์สามชั่วโมงพร้อมเล่นกับลูกเสือได้ด้วยตกอยู่ที่ 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ลูกค้ามักได้รับการบอกกล่าวว่า พวกเขามีส่วนช่วยอนุรักษ์เสือในธรรมชาติ พวกเขากลับออกมาอย่างมีความสุข แล้วโพสต์รูปเซลฟีลงในโซเชียลมีเดีย
สิ่งที่พวกเขาไม่ล่วงรู้คือ ประวัติความเป็นมาและอนาคตของลูกเสือเหล่านี้ พวกมันส่วนใหญ่เกิดใน “โรงงานผลิตเสือ” ซึ่งเสือเพศเมียจะปั๊มลูกออกมาสองหรือสามครอกต่อปี เทียบกับครอกเดียวทุกสองปีในธรรมชาติ ลูกเสือจะถูกจับแยกจากแม่ทันทีหลังคลอด จำนวนมากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่รู้กี่ตัวต้องตายไป และบางตัวถูกขายไปตั้งแต่ก่อนจะลืมตาด้วยซ้ำ
พออายุได้ไม่กี่อาทิตย์ ลูกเสือก็ต้องทำงานกันแล้ว โดยบางครั้งอาจนานถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน กำไรที่ได้อาจมากมายมหาศาล (บันทึกการเสียภาษีของสวนสัตว์ข้างทางแห่งหนึ่งในรัฐอินดีแอนนา เผยว่ามีรายได้ 1 ล้านถึง 1.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี)
เมื่ออายุได้สามหรือสี่เดือน ลูกเสือก็โตถึงวัยที่เทียบได้กับวันหมดอายุ กล่าวคือพวกมันจะตัวใหญ่และอันตรายเกินกว่าจะกอดเล่นได้แล้ว
ลูกเสือบางตัวจะกลายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือเก็บไว้โชว์ ที่เหลืออาจหายไปเฉยๆ
มีหลักฐานบ่งชี้ว่า มีการฆ่าเสือส่วนเกินจำนวนหนึ่งทิ้งเพื่อลดต้นทุนการเก็บรักษาตามสวนสัตว์ข้างทางและแหล่งท่องเที่ยวคล้ายคลึงกัน ซากเสือจะถูกสตัฟฟ์ไว้ หรือขายเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น หนัง เขี้ยว เล็บ และโครงกระดูก ทั้งๆ ที่การจำหน่ายหรือจัดส่งชิ้นส่วนเหล่านี้ข้ามพรมแดนรัฐ เพื่อวัตถุประสงค์เชิงการค้าเพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งผิดกฎหมายภายใต้รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act)
กิ่งก้านสาขาของเครือข่ายการลักลอบค้าในสหรัฐฯ นี้แผ่ไกลไปถึงภูมิภาคเอเชีย ในคดีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ชายในนครนิวยอร์กถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานลักลอบขนส่งสัตว์ป่า เพื่อจำหน่ายชิ้นส่วนเสือโคร่งและสิงโต ในคำรับสารภาพเพื่อขอลดหย่อนโทษ เขายอมรับว่าได้จัดส่งชิ้นส่วนสัตว์ป่ารวม 68 หีบห่อ โดยระบุเป็นเครื่องเคลือบดินเผาและของเล่นอย่างเป็นเท็จไปยังตลาดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่า อันเป็นธุรกิจเชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมระดับนานาชาติ ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าอาจมีมูลค่าสูงถึงปีละ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 สหรัฐฯ และจีนเจรจาตกลงห้ามการค้างาช้างเกือบทุกกรณีระหว่างสองประเทศ
ทว่าสหรัฐฯ กลับมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าในประเด็นการคุ้มครองเสือ เพราะประชากรเสือในสถานเพาะเลี้ยงที่มีการบังคับควบคุมอย่างหละหลวมมีจำนวนสูงมาก การเพาะพันธุ์สัตว์กลุ่มนี้เพื่อ “การค้าขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วน” เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตามมติเมื่อปี 2007 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส ที่ลงนามโดยสมาชิก183 ชาติทั่วโลกรวมถึงสหรัฐฯ ปัจจุบัน ไซเตสกำลังสืบสวนสมาชิกเจ็ดชาติที่อาจมีส่วนพัวพันกับการลักลอบขนส่งเสือที่เกิดในสถานเพาะเลี้ยง ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เวียดนาม ลาว ไทย สาธารณรัฐเช็ก และแอฟริกาใต้
เรื่อง แชรอน กายนับ
ภาพถ่าย สตีฟ วินเทอร์
*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2562
สารคดีแนะนำ