ในเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลาที่ นกเงือก เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ โดยนกเงือกเริ่มจับคู่และเสาะหาโพรงรังที่เหมาะสมเพื่อให้ตัวเมียวางไข่และฟักไข่ แม้ในป่าฮาลา–บาลา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก สัตว์โบราณอย่างนกเงือกยังต้องเผชิญภาวะ ‘การขาดแคลนโพรงรัง’ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จำนวนประชากรนกเงือกลดลง
สุเนตร การพันธ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ–ป่าฮาลา บาลา กล่าวว่า นกเงือกมีพฤติกรรมโดดเด่นเฉพาะตัวอย่างมากในเรื่องการสร้างโพรงรัง เมื่อนกเงือกหาโพรงรังที่เหมาะสมได้แล้ว นกเงือกตัวเมียจะปิดปากโพรงให้แคบลง โดยใช้มูล เศษไม้ และเศษดิน ค่อยๆ ปิดจนเหลือเพียงช่องแคบๆ เพื่อให้ตัวผู้ส่งอาหารให้เท่านั้น
ตลอดช่วงระยะเวลาที่นกเงือกตัวเมียทำรัง นกเงือกตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ตัวเมีย เมื่อถึงช่วงลูกนกฟักออกจากไข่ นกเงือกตัวผู้ยังคอยหาอาหารมาให้ทั้งนกเงือกตัวเมียและลูกนก โดยช่วงเวลาการอยู่ในโพรงของแม่นกและลูกนกของนกเงือกแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่เฉลี่ยแล้วประมาณ 4 – 6 เดือน ซึ่งเมื่อลูกนกออกจากรัง พ่อและแม่นกจะคอยเลี้ยงลูกนกต่อไปอีกระยะหนึ่ง
โพรงรังที่มีสภาพเหมาะสมคือปัจจัยสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันโพรงรังของนกเงือกเริ่มขาดแคลน ปัญหาคือนกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงสร้างรังเองได้เช่นเดียวกับนกทั่วไป ต้องหาโพรงรังที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น โพรงไม้ที่เกิดจากการเจาะของนกหัวขวาน รอยแผลบนต้นไม้ที่เกิดจากหมีล้วงเอาน้ำผึ้ง หรือรอยจากการที่กิ่งไม้หักจนทำให้เกิดแผลและมีขนาดกว้างพอที่นกเงือกจะเข้าไปอยู่อาศัยได้ อีกทั้งโพรงที่จะใช้ทำรังได้ต้องมีสภาพที่เหมาะสม คือไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป ถ้ามีขนาดใหญ่จนเกินไป เวลาปิดปากโพรงจะปิดได้ยาก หรือปิดไม่ได้ แต่ถ้าแคบเกินไปนกเงือกก็อยู่อาศัยไม่ได้ ที่สำคัญคือระดับพื้นในโพรงยังต้องมีความสูงพอดีที่นกเงือกนั่งแล้วจะสามารถยื่นปากออกมาจากโพรงเพื่อรับลูกไม้จากตัวผู้ได้ ทำให้การหาโพรงกลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน
ในพื้นที่อาศัยของนกเงือก อย่างป่าฮาลา-บาลา เป็นป่าดิบชื้น ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้โตเร็ว และโทรมได้ง่าย ต้นไม้บางชนิดเมื่อไม้เจริญขึ้นและขยายตัว ก็ทำให้ปากโพรงแคบลง หรือพื้นด้านในบางโพรงเริ่มทรุด เมื่อโพรงรังเดิมใช้งานไม่ได้ นกเงือกต้องออกหาโพรงรังใหม่ ขณะที่นกเงือกเกิดใหม่ต้องพยายามหาโพรงรังเช่นเดียวกัน ทุกวันนี้กว่านกเงือกจะได้โพรงรังอาจต้องต่อสู้กับนกเงือกคู่อื่น และเมื่อไม่มีโพรงรังจึงเป็นข้อจำกัดต่อการขยายพันธุ์นกเงือกตามธรรมชาติ
ดังนั้นเพื่อปรับปรุงซ่อมรังเดิม ให้กลับมาเป็นที่อยู่ของนกเงือกอีกครั้ง สุเนตรและเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ – ป่าฮาลาบาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา–บาลา โครงการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับป่า ภาคใต้ และชาวบ้านหมู่บ้านบาลา ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังเพื่อการสร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนของนกเงือกในพื้นที่ป่าบาลา ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ชนันรัตน์ นวลแก้ว นักวิชาการป่าไม้ หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการฯ เล่าว่า ขณะนี้โครงการฯ ดำเนินงานมา 2 ปีแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าอยู่เป็นประจำมาช่วยในการสำรวจโพรงรังนกเงือก โดยโครงการฯ ได้จัดฝึกอบรมชาวบ้านเกี่ยวกับชีววิทยาของนกเงือก วิธีการดูโพรงนกเงือก รวมถึงวิธีการซ่อมแซมโพรงรัง โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ซึ่งในการอบรมครั้งแรกมีชาวบ้านเข้าร่วม 20 คน หลังจากนั้นชาวบ้านสลับมาอยู่ประจำกับเจ้าหน้าที่ 5-6 คน เพื่อช่วยสำรวจและซ่อมแซมโพรงรัง รวมไปถึงการเฝ้าสังเกตดูโพรงรัง ว่าโพรงรังไหนมีนกเงือกเข้ามาครอบครอง พร้อมกับจดบันทึกชนิดของนกเงือก นกเงือกป้อนอาหารชนิดใดให้กับลูก แต่สำหรับโพรงร้างจะปีนขึ้นไปสำรวจว่าโพรงมีปัญหาอะไร เช่น โพรงกว้างไป แคบไป หรือพื้นโพรงทรุด เพื่อเตรียมแผนในการซ่อมปรับปรุง
ทั้งนี้ จากความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในการหาโพรงรังธรรมชาติที่เหมาะสมกับนกเงือก ทำให้สามารถพบโพรงรังมากถึง 29 โพรง จากเดิมที่สำรวจพบเพียง 9 โพรง โดยในจำนวนนี้มีโพรงที่นกเงือกทำรังจำนวน 10 โพรง แบ่งเป็นนกเงือกหัวแรด 6 โพรง นกเงือกกรามช้าง 3 โพรง และนกเงือกปากดำ 1 โพรง
สุเนตรเล่าเสริมว่า สำหรับการซ่อมโพรงรังแต่ละครั้งต้องใช้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านเกือบ 20 คน เพราะต้องช่วยกันขนอุปกรณ์ในการปีนชักรอกเข้าไป เนื่องจากโพรงรังนกเงือกส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้สูง บางโพรงอยู่สูงถึง 40 เมตรจากพื้นดิน ต้องชักรอกตัวเองให้ไต่ต้นไม้ขึ้นไปถึงโพรงรัง สำหรับการซ่อมโพรงรังจะยึดข้อมูลจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกเป็นหลัก ว่ามาตรฐานโพรงรังของนกเงือกแต่ละชนิดต้องมีความกว้าง ความยาว ความหนาของโพรงเท่าไร สมมติว่าเป็นนกเงือกตัวใหญ่ ปากโพรงอาจจะกว้าง 13 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร ถ้าโพรงไหนที่ความกว้างน้อย เราก็พยายามเจาะปากโพรงให้กว้างขึ้น แต่ถ้าโพรงกว้างเกินไปก็พยายามเอาไม้กระดานมาปิดให้เหลือ 10-13 เซนติเมตร หรือถ้าโพรงทรุดก็เทดินเสริม อันนี้คือตัวอย่าง สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่าโพรงรังนี้ เจ้าของเดิมเป็นนกเงือกชนิดไหน เพื่อซ่อมแซมรังให้ได้ตามมาตรฐานของนกเงือกชนิดนั้น
ปัจจุบัน โครงการฯ ซ่อมแซมโพรงรังของนกเงือกไปทั้งหมด 10 โพรงรัง และมีนกเงือกเข้าใช้ประโยชน์จากโพรงที่ซ่อมแล้ว 2 โพรง คือโพรงนกเงือกหัวแรด 1 โพรง และโพรงนกเงือกปากดำ 1 โพรง ชนันรัตน์เล่าว่า เมื่อได้เห็นนกเงือกเข้าใช้งานในโพรงที่ช่วยกันซ่อมแซม ชาวบ้านต่างดีใจที่นกเงือกได้ใช้ประโยชน์แล้ว ถ้าโพรงที่พวกเราทยอยซ่อมไปเรื่อยๆ แล้วนกเงือกได้เข้าใช้ทำรัง ก็หวังว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนประชากรนกเงือกในพื้นที่ป่าฮาลาบาลาได้เพิ่มขึ้น ในอนาคตพวกเราวางแผนว่า จะเก็บข้อมูลการป้อนอาหารของนกเงือกในฤดูทำรัง การให้ผลผลิตของพืชอาหารที่มีฤดูกาลเปลี่ยนไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในพื้นที่ การเก็บข้อมูลชีววิทยาของนกเงือก และข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่ จะเป็นตัวชี้วัดข้อมูลของนกเงือกและพื้นที่ป่าบาลาเองได้ด้วย และเป็นประโยชน์ในการจัดการพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม โครงการซ่อมแซมและปรับปรุงโพรงรังเพื่อการสร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนของนกเงือกในพื้นที่ป่าบาลา ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์นกเงือก สัตว์ผู้มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศป่าอย่างมากในฐานะ “ผู้ปลูกป่า” แห่งฮาลา-บาลา แต่การมีโครงการฯ ให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกเงือก ทำให้ชาวบ้านมีความรู้และมีความชำนาญในการซ่อมแซมปรับปรุงโพรงรังเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงโพรงรังเป็นประจำทุกเดือน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีส่วนร่วมในการช่วยเพิ่มโอกาสการขยายพันธุ์ของประชากรนกเงือก และยังรู้สึกหวงแหนอยากดูแลให้นกเงือกยังคงอยู่ในพื้นที่ป่าบาลาต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)