แตนยักษ์เอเชีย บุกสหรัฐฯ และนี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ

แตนยักษ์เอเชีย แตนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกถูกพบในรัฐวอชิงตัน
เจ้าหน้าที่กำลังพยายามควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่พันธุ์

แตนรูปร่างแปลกตา โดดเด่นด้วยสีส้มสลับดำ และเหล็กในยาวแหลม ถูกพบใกล้เมืองเบลน รัฐวอชิงตัน เมื่อปลายปี 2019 ผลจากการระบุชนิดพันธุ์ พบว่าพวกมันคือ แตนยักษ์เอเชีย (Asian giant hornet) แตนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดประมาณเกือบสองนิ้วเมื่อโตเต็มที่ นักวิทยาศาสตร์ต่างกังวลว่า แตนชนิดนี้จะแพร่กระจายไปทั่ววอชิงตันและรัฐอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผึ้งในท้องถิ่น และอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์

ไม่มีใครทราบว่าแมลงชนิดนี้มาถึงสหรัฐฯ ได้อย่างไร แต่การค้นพบครั้งนี้เปรียบเหมือนสัญญาณเตือน และกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ โดยได้รับการเรียกขานว่า “แตนมรณะ” (Murder hornet) ผู้ล่าชนิดนี้เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในเอเชียตะวันออก และญี่ปุ่น อีกทั้งขึ้นชื่อเรื่องการเป็นศัตรูของฝูงผึ้งน้ำหวาน

ภาพถ่าย Alastair Macewen / Getty Images

ด้วยพิษที่อยู่ในเหล็กในยาวแหลม เป็นที่ทราบกันดีว่า การต่อยหนึ่งครั้งสามารถปลิดชีพคนได้ ในประเทศญี่ปุ่นมีคนเสียชีวิตจากการถูกแตนยักษ์ต่อยประมาณ 30 ถึง 50 คนต่อปี ในปี 2013 เมื่อประชากรของแตนยักษ์เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ พวกมันฆ่าคนราว 42 คนในจังหวัดหนึ่งของประเทศจีน ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เมื่อมนุษย์เข้าใกล้รังหรือไปรบกวนรังของมัน

แมลงชนิดนี้ “กำจัดได้ยาก” คริส ลูนีย์ นักกีฏวิทยา ประจำสำนักงานเกษตรรัฐวอชิงตัน กล่าว “ผมกังวลมากเลยครับ”

ในขณะเดียวกัน ลูนีย์กล่าวเตือนว่า จากชื่อเล่นที่ชาวเน็ตเรียก “แตนมรณะ” เขาไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน และพึ่งเคยเห็นชื่อนี้เมื่อสื่อนำมาพาดหัวข่าว และเขาไม่ค่อยปลื้มกับชื่อเรียกนี้สักเท่าไร

“ผมเกรงว่า ผู้คนส่วนใหญ่จะเกิดความรู้สึกหวาดกลัวแมลงชนิดนี้อย่างไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด” ลูนีย์กล่าวและเสริมว่า “มันเหมือนเป็นการดึงความสนใจตจากประชาชน และผมคิดว่าชื่อ แตนมรณะ ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของพวกมันเพียงน้อยนิด”

ผู้ล่าจอมตะกละตะกลาม

ถึงตอนนี้ นักวิจัยยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า แตนยักษ์มาถึงสหรัฐฯ ได้อย่างไร ลูนีย์กล่าวว่า ความเป็นไปได้มากที่สุดคือ พวกมันติดมากับระบบขนส่งโดยบังเอิญ จากประเทศต้นทาง

รังสมบูรณ์รังหนึ่งของพวกมันถูกพบและทำลายเมื่อปลายปี 2019 ใกล้กับรัฐนาไนโม ประเทศแคนาดา แต่ผลจากการวิเคราะห์สารพันธุกรรมพบว่า แตนยักษ์เหล่านั้นถูกนำเข้ามาจากต้นทางที่แตกต่างกัน

แตนยักษ์เอเชียจากญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเป็นสัตว์ต่างถิ่นในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ภายในรังประกอบด้วยนางพญา และแตนงานอีกหลายตัว ซึ่งสามารถบินหาอาหารได้ไกลกว่าหนึ่งกิโลเมตรจากรังของมัน พวกมันกินแมลงหลากหลายชนิด แต่ดูเหมือนว่าจะชื่นชอบผึ้งน้ำหวานมากกว่าชนิดอื่น

เมื่อพวกมันพบกับผึ้งน้ำหวาน การจู่โจมเริ่มต้นด้วย “ระยะสังหาร” (slaughter phase) คือแตนยักษ์เข้ากัดส่วนหัวของผึ้งด้วยเขี้ยวขนาดใหญ่ที่เรียกว่า แมนดิเบิล (mandibles) ลูนีย์อธิบายและเล่าว่า ภายใน 90 นาที แตนยักษ์เอเชียไม่กี่ตัวก็สามารถทำลายผึ้งน้ำหวานได้แบบยกรังด้วยวิธีการนี้

หลังจากนั้น แตนยักษ์ก็เข้าสู่ระยะการกิน พวกมันครอบครองรังผึ้งต่อเนื่องประมาณหนึ่งสัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น กัดกินตัวอ่อนและไข่ของผึ้ง แลัวนำอาหารกลับไปเลี้ยงตัวอ่อนที่รัง

ผึ้งน้ำหวาน  Apis mellifera เป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญในธรรมชาติ

ผึ้งน้ำหวานในประเทศแถบยุโรป (Apis mellifera) ซึ่งเป็นผึ้งที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปและเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญตามธรรมชาติ ยังไม่มีวิธีการป้องกันตัวจากการรุกรานของแตนยักษ์เอเชีย แม้ว่าเคยสำรวจพบเหล็กในของผึ้งในตัวของผู้รุกราน แต่เหล็กในของผึ้งไม่มีผลใดๆ ต่อแตนยักษ์

ในทางตรงกันข้าม ผึ้งน้ำหวานในญี่ปุ่น (Apis cerana japonica) ซึ่งมีวิวัฒนาการร่วมกับแตนยักษ์เอเชีย พบวิธีป้องกันรังผึ้งจากการรุกราน โดยฝูงผึ้งงานจะบินวนรอบๆ ตัวแตนยักษ์ และเคลื่อนไหวปีกเป็นจังหวะให้เสียดสีกับอากาศ จนกระทั่งกลุ่ม “ลูกบอลผึ้ง” สร้างอุณหภูมิอากาศรอบตัวแตนยักษ์ได้ประมาณ 46.1 องศาเซลเซียส และความร้อนของอากาศก็ทำให้แตนยักษ์ตาย และแลกเปลี่ยนก๊าซไม่ได้เนื่องจากอากาศมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง

แตนยักษ์เอเชียเป็นสาเหตุการตายของผึ้งผสมเกสรหลายชนิด และผึ้งเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับผู้รุกรานต่างถิ่นชนิดอื่นๆ ด้วย ลูนีย์กล่าว

จุน-อิชิ ทาคาฮาชิ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเรื่องแตน จากมหาวิทยาลัยเกียวโจซังโยะ ประเทศญุี่ปุ่น เห็นด้วยกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการแพร่ระบาดของแตนยักษ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ และสนับสนุนให้

ควบคุมการแพร่ระบาด

จากการสัมภาษณ์ทางอีเมล ทาคาฮาชิกล่าวว่า การตั้งชื่อของมันว่า แตนมรณะ ผมคิดว่าเป็นชื่อที่เหมาะกับมันแล้ว เพราะมันอันตรายพอๆ กับ ผึ้งสังหาร ซึ่งเป็นชื่อเล่นของผึ้งน้ำหวานแอฟริกัน ที่กลายมาเป็นผึ้งต่างถิ่นในรัฐเทกซัสเมื่อปี 1990 และครอบครองพื้นที่ทางใต้ของสหรัฐฯ รวมถึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของมนุษย์

ในความเห็นของทาคาฮาชิคิดว่า “คนอเมริกันยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเกรี้ยวกราดและพิษของแตนชนิดนี้”

หยุดการแพร่กระจาย

ถ้าแตนยักษ์ชนิดนี้ไม่ถูกกำจัดภายในปีหรือสองปี มันอาจสายเกินไปที่จะควบคุมไม่ให้มันแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐฯ ลูนีย์กล่าว

ถึงตอนนี้ เราพบแตนงานเพียงสองตัวใกล้ๆ กับเมืองเเบลน นั่นหมายความว่า อาจมีรังแตนอยู่ในละแวกนั้น ในฤดูหนาว รังจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น และถ้านางพญาได้รับการผสมพันธุ์ พวกมันจะแยกตัวไปสร้างรังใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ลูนีย์และนักวิจัยคนอื่นๆ กำลังติดตั้งเหยื่อล่อนางพญา เพื่อจับตัวนางพญาที่ผสมพันธุ์แล้ว

เนื่องจากแตนชนิดนี้ทำรังอยู่ใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งเก็บกักความร้อน ลูนีย์และคณะกำลังทดสอบวิธีการตรวจหาคลื่นความร้อนของรังแตนร่วมด้วยอีกวิธีหนึ่ง

แต่ “ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน” สำหรับการหยุดยั้งแตนชนิดนี้ ลูนีย์กล่าว “แต่แน่นอนว่า พวกเราต้องหยุดยั้งมัน”

รู้จักกับแตนยักษ์

แตนยักษ์เอเชียมีเหล็กในความยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ซึ่งสามารถเจาะทะลุชุดป้องกันผึ้งที่คนเลี้ยงผึ้งสวมใส่เป็นประจำ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าคนที่ไม่มีอาการแพ้เหล็กใน แต่ถ้าถูกต่อยประมาณ 50 ครั้งหรือน้อยกว่า ก็ทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากเกิดภาวะไตวาย

แตนยุโรป Vespa crabro รูปร่างคล้ายกับแตนยักษ์เอเชีย คนอมเริกันเข้าใจผิดว่ามันเป็นชนิดเดียวกัน

ตั้งแต่กลายเป็นข่าวไปทั่วสหรัฐฯ ลูนีย์ได้รับอีเมลจากชาวอเมริกันหลายคนที่คิดว่าตัวเองพบแตนยักษ์ ซึ่งเขาค่อนข้างเครียดกับข้อมูลที่ได้รับ เนื่องจากมีแตนยักษ์เพียงสองตัวเท่านั้นที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ประชาชนอาจสับสนกับแตนยุโรป (Vespa crabro) ที่กระจายตัวอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ดุร้ายและอันตรายน้อยกว่าแตนยักษ์เอเชีย

“ถ้าผู้คนในมิสซิสซิปปีตะวันออกเห็นอะไรบางอย่างที่คล้ายกับแตนยักษ์ พวกเขาไม่ควรคาดเดาเอาเองว่ามันคือแตนยักษ์เอเชีย” เขากล่าวและทิ้งท้ายว่า “มันไม่ได้เหมือนกันอย่างแน่นอน”

เรื่อง ดุก เมน


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: จะเป็นอย่างไรถ้าผึ้งนำหวานหายไปหมด

ผึ้งน้ำหวาน หรือฮันนี่บีมีถิ่นกำเนิดในยุโรป
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.