นักวิจัยไทยค้นพบ จิ้งจกนิ้วยาว ชนิดใหม่ของโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยชาวไทยค้นพบ จิ้งจกนิ้วยาว ชนิดใหม่ของโลก ที่พบในอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจิ้งจกที่มักอาศัยอยู่ในซอกหินของภูเขาหินแกรนิตที่มีธารน้ำ

หากพิจารณาตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทยจะพบว่า ที่ตั้งของประเทศไทยเอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก การค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย นับเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ในกลุ่มที่ยังไม่มีข้อมูลทางชีววิทยามากนัก อย่างกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น จิ้งจก งู กิ้งก่า และเต่า เป็นต้น

“จุดเริ่มของการศึกษาสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มตุ๊กแกและจิ้งจก เริ่มจากแรงบันดาลใจที่ร่วมทำงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผศ.ดร.อัญชลี เอาผล ผู้ที่ศึกษาและทำงานวิจัยด้านชีววิทยาของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มตุ๊กแกและจิ้งจกในประเทศไทย” ดร.นที อำไพ นักวิจัย อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้ค้นพบจิ้งจกชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก กล่าวและเสริมว่า “ในปัจจุบัน ข้อมูลด้านชีววิทยาของสัตว์กลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย จึงมีความสนใจที่อยากศึกษาสัตว์กลุ่มนี้ในประเทศให้มากขึ้นครับ”

ในปี 2010 ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลาน Dr. L. Lee Grismer จากประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับนักวิจัยชาวไทย ศึกษาอนุกรมวิธาน (การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต) ของ จิ้งจกนิ้วยาว สกุลนีมาสพิส (Cnemaspis) และระหว่างนั้นได้รายงานการค้นพบจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่เพิ่มเติมหลายชนิดในประเทศไทย ซึ่งบางชนิดจัดเป็นชนิดพันธุ์ซ่อนเร้น (cryptic species) ที่อาจทำให้เกิดความสับสนในการจัดจำแนกชนิดหากใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาภายนอกเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การศึกษาอนุวิกรมวิธานโดยใช้ข้อมูลและเทคนิคการศึกษาหลากหลายประเภท จะช่วยให้รวบรวมข้อมูลความหลากหลายของสัตว์กลุ่มนี้ในประเทศไทยที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

ดร.นที อำไพ ลงพื้นที่ภาคสนาม เพื่อสำรวจประชากรของสัตว์เลื้อยคลาน

ดร.นทีเริ่มศึกษาจิ้งจกนิ้วยาวในปี 2015 ขณะที่เป็นนิสิตระดับปริญญาเอก ที่ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำรวจจิ้งจกนิ้วยาวในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย พร้อมกับเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ทั้งศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา ชีววิทยาโมเลกุล การแพร่กระจาย และสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ จนทราบว่าจิ้งจกชนิดหนึ่งที่พบมีความแตกต่างจากรายงานก่อนหน้า และกลายเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ที่ตั้งชื่อว่า นีมาสพิส ลิเนียทูเบอร์คูลาริส (Cnemaspis lineatubercularis) หรือจิ้งจกนิ้วยาวลานสกา โดยบรรยายชนิดพันธุ์ใหม่ในวารสาร ZooKeys เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2020

ในช่วงแรกทางทีมวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจิ้งจกที่พบเป็นชนิดพันธุ์ใหม่หรือไม่ “ในการสำรวจภาคสนามทางทีมวิจัยได้วางแผนการวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยสำรวจถิ่นอาศัยของจิ้งจกนิ้วยาวที่อยู่ในบริเวณเขาหินปูนและเขาหินแกรนิต ซึ่งโดยทั่วไปมีถิ่นที่อยู่อาศัยย่อย เช่น ผนังหิน เพิงหิน หรือซอกหินริมลำธาร และบริเวณเพิงหินใกล้ถ้ำหินปูน เป็นต้น” ดร.นทีอธิบาย “ทีมวิจัยที่ผมร่วมงานด้วยช่วยกันเก็บตัวอย่างและจดบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ข้อมูลในห้องปฏิบัติการต่อไป จนในที่สุดก็ทราบข้อมูลบ่งชี้ว่าจิ้งจกที่สำรวจพบในลานสกาเป็นจิ้งจกชนิดพันธุ์ใหม่”

จิ้งจกนิ้วยาวลานสกา (Cnemaspis lineatubercularis) ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ใหม่

ในการสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ ดร.นทีร่วมงานกับ ผศ.ดร.อัญชลี เอาผล อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ Dr. Bryan L. Stuart อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม และ Dr. Perry L. Wood Jr. นักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.อรรถพล รุจิราวรรณ ดร.ศิริพร ยอดทอง กอขวัญ เติมประยูร อัครชัย อักษรเนียม และปิยวรรณ เผื่อนประไพ ช่วยเก็บข้อมูลวิจัย

จิ้งจกนิ้วยาวลานสกาอาศัยอยู่ในบริเวณผนังหินและซอกหิน บนเขาหินแกรนิตริมลำธารและน้ำตก ในอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยดำรงชีวิตอยู่ตามช่องหินที่มีพื้นผิวเรียบ รวมถึงบริเวณทึบแสงของซอกหิน ซึ่งสัตว์ผู้ล่าเช่น งู เข้าถึงได้ยาก จึงทำให้จิ้งจกชนิดนี้ปลอดภัยจากการถูกล่า

ลักษณะพื้นที่ที่สำรวจพบจิ้งจกนิ้วยาวชนิดพันธุ์ใหม่ ในอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลักษณะสำคัญของจิ้งจกนิ้วยาวลานสกาคือ ลักษณะตุ่มบริเวณแนวกระดูกสันหลัง (paravertebral tubercles) มีการเรียงตัวเป็นเส้นตรงซึ่งเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ที่ใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดนี้ออกจากจิ้งจกนิ้วยาวชนิดอื่นในกลุ่ม Cnemaspis siamensis group รวมถึงการปรากฏสีสันแต้มสีเหลืองบริเวณท้อง รยางค์แขนขา รวมถึงหางที่พบได้เฉพาะในเพศผู้เท่านั้น ทั้งนี้ยังพบว่าความแตกต่างทางพันธุกรรมกับจิ้งจกนิ้วยาวชนิดอื่นในกลุ่มนี้สูงถึงร้อยละะ 15.53 ถึงร้อยละ 28.09

“จิ้งจกนิ้วยาวลานสกาพบเห็นในธรรมชาติได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากจิ้งจกนิ้วยาวเป็นสัตว์ที่เคลื่อนที่เร็วมากเมื่อถูกรบกวน” ดร.นทีกล่าวและเสริมว่า “ประกอบกับการอาศัยในพื้นที่ที่เป็นซอกหิน ช่องหินหรือผนังหินขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ยาก โดยช่วงเวลาที่สามารถพบได้บ่อยคือช่วงเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนจิ้งจกนิ้วยาวมีพฤติกรรมการเคลื่อนที่ช้าลง”

ในปัจจุบัน จำนวนประชากรของจิ้งจกนิ้วยาวลานสกายังไม่มีข้อมูลชัดเจนเพียงพอ โดยจากการศึกษาครั้งนี้ยังพบจิ้งจกนิ้วยาวลานสกาได้เฉพาะพื้นที่เขาหินแกรนิต ข้างลำธารและน้ำตกในอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตาม อาจมีขอบเขตการแพร่กระจายเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของจิ้งจกนิ้วยาวลานสกา คือเขาหินแกรนิตริมลำธารและน้ำตก

ดร.นทีกล่าวว่า แนวโน้มของผลกระทบจากการสูญเสียพื้นที่อาศัยในอนาคต อาจเกิดจากบริเวณโดยรอบมีกิจกรรมของมนุษย์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของจิ้งจกนิ้วยาวชนิดนี้ได้ จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนเพื่ออนุรักษ์พื้นที่อาศัยของจิ้งจกนิ้วยาวชนิดนี้

จากองค์ความรู้ที่ผ่านมา ดร.นทีวางแผนต่อยอดงานวิจัยกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มตุ๊กแกและจิ้งจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิ้งจกนิ้วยาวในสกุล Cnemaspis ที่ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทีมวิจัย โดยการสร้างองค์ความรู้ทางชีววิทยาของสัตว์ในกลุ่มนี้ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้และวิจัยในอนาคต โดยเฉพาะข้อมูลอนุกรมวิธานที่ถูกต้อง ในอนาคตอาจช่วยให้สามารถศึกษาชีววิทยาในเชิงลึก งานด้านนิเวศวิทยา พฤติกรรม รวมถึงสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของจิ้งจกในกลุ่มนี้

ความรู้ด้านอนุกรมวิธานและการกระจายพันธุ์ของสัตว์ เป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการพิ้นที่อย่างถูกต้อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยก็จะยังสมบูรณ์ต่อไป

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย ดร.นที อำไพ


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักวิทยาศาสตร์ไทยค้นพบ พืชนิดใหม่ ของโลกในประเทศไทย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.