(ภาพบน) นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เซบ โฮแกน (ซ้าย) กำลังช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กรมประมงของกัมพูชาติดแท็กติดตาม ปลาบึก และปล่อยกลับสู่แม่น้ำโขง ซึ่งชาวประมงจับได้ใกล้กับกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 / ภาพถ่ายได้รับความอนุเคราะห์จาก THE UNIVERSITY OF NEVADA, RENO
ปัจจุบัน จำนวนประชากร ปลาบึก มีจำนวนน้อยมาก และอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ปลาบึกมีชื่อสามัญว่า Mekong giant catfish (Pangasianodon gigas) อาหารของปลาบึกคือพืชน้ำและตะไคร่น้ำ ในประเทศไทยพบการกระจายตัวอยู่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี
ที่ผ่านมา ปลาบึกเป็นปลาที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากประชากรปลาไม่สามารถสืบพันธุ์และเจริญเติบโตทันความต้องการ รวมทั้งปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของแม่น้ำโขง ส่งผลให้จำนวนประชากรปลาบึกตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง
กรมประมงจึงได้พยายามดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ จนประสบผลสำเร็จครั้งแรกในปี 2526 ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้การศึกษาทางอนุกรมวิธานของปลาบึกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และมีข้อมูลว่าลูกปลาบึกมีลักษณะหลายๆ ประการที่แตกต่างไปจากปลาที่โตเต็มวัย เช่น มีฟันบนขากรรไกรและเพดานปาก และจะหลุดร่วงไปหมดเมื่อโตเต็มวัย นอกจากนี้ยังได้นำพันธุ์ปลาบึกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจและติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่าปลาบึกสามารถเจริญเติบโตในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ปีละประมาณ 10 – 12 กิโลกรัม
ลักษณะทั่วไปของปลาบึก (Morphology)
ปลาบึกเป็นปลาขนาดใหญ่มีรูปร่างเพรียวขาวแบนข้างเล็กน้อย ลูกปลาบึกขนาดเล็กมีสีคล้ำเหลือบเหลือง ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำตามยาว 1 ถึง 2 แถบ ครีบหางตอนบนและล่างมีแถบสีคล้ำตามยาว ในปลาขนาดใหญ่ด้านหลังของลำตัวจะมีสีเทาอมน้ำตาลแดง ด้านข้างเป็นสีเทาปนน้ำเงินและจางกว่าด้านหลัง เมื่อค่อนลงมาทางท้องสีจะจางลงเรื่อยๆ จนเป็นสีขาวเงิน ตามลำตัวมีจุดสีดำค่อนข้างกลมกระจายอยู่ห่างๆ กันเกือบทั่วตัว
ถิ่นที่อยู่อาศัย
ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปลาบึกชอบอาศัยอยู่ในบริเวณระดับน้ำลึกมากกว่าสิบเมตร พื้นท้องน้ำเต็มไปด้วยก้อนหินและโขดหินสลับซับซ้อนกัน และชอบอาศัยอยู่ตามถ้ำใต้น้ำ เพื่อเป็นที่หลบซ่อนตัว ปลาบึกพบเฉพาะในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แม้ว่าบางครั้งอาจจับปลาบึกได้จากแม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง เช่นแม่น้ำสงคราม จังหวัดนครพนม แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำงึมแขวงนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว นักมีนวิทยากล่าวว่า ปลาที่จับได้ในแม่น้ำสาขาส่วนใหญ่เป็นปลาที่เข้าไปหาอาหารเป็นครั้งคราว
ปลาบึกอาศัยในแม่น้ำโขงตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาจนถึงเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ แต่ไม่เคยปรากฏว่า พบในบริเวณน้ำกร่อยหรือบริเวณปากแม่น้ำโขงที่ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้
ประเทศไทยพบว่า ปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตอนที่กั้นพรมแดนไทย คือนับตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลงไปจนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งที่พบปลาบึกอาศัยอยู่ชุกชุมมากที่สุดอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะวังปลาบึกหรืออ่างปลาบึกบ้านผาตั้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของปลาบึกมาตั้งแต่ในสมัยเมื่อ 40 ปีก่อน เฉพาะวังปลาบึกเคยจับปลาบึกได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40 – 50 ตัว ส่วนปลาบึกที่จับได้ที่จังหวัดเชียงราย ชาวประมงเชื่อว่าเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นมาจากวังปลาบึกที่หลวงพระบาง
พฤติกรรมและการสืบพันธุ์
ปลาบึกเป็นปลาที่รักสงบ ตื่นตกใจง่าย และชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล เรื่องชีววิทยาการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้แน่ชัดว่าปลาบึกผสมพันธุ์ในช่วงเวลาใดของปี แต่เชื่อว่าฤดูวางไข่ของปลาบึกอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ทางตอนเหนือของประเทศไทย บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณร่องน้ำลึก ที่มีเกาะแก่งเหมาะแก่การผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลาก ฝูงปลาจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง
การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดินโดยกรมประมง
ในปี 2526 กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง จากนั้นศึกษาวิจัยปลาบึกรุ่นลูก (F1) โดยเลี้ยงในบ่อดินเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา จนมีความสมบูรณ์เพศ นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2543 จึงได้ทำการทดลองผสมพันธุ์ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือไข่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวปลาได้
จากประสบการณ์และแนวทางในครั้งนี้ ทำให้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกอีกครั้งในปี 2544 โดยสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้ จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกได้ลูกปลาบึกรุ่นแรกจำนวน 9 ตัว แต่เเหลือรอดเพียง 1 ตัว ถือว่าเป็นปลาบึกตัวแรกที่เพาะพันธุ์ได้สำเร็จ (ปลาบึกรุ่นหลาน F2) ซึ่งใช้เวลาห่างจากรุ่น F1 นานถึง 18 ปี
เมื่อได้ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงที่ชัดเจนและแน่นอน การเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 จึงมีอัตราการรอดชีวิตชีวิตของลูกปลาเพิ่มขึ้น โดยได้ลูกปลาอายุ 3 วัน มีจำนวน 330,250 ตัว และครั้งที่ 3 ได้ลูกปลาอายุ 3 วัน จำนวน 70,00 ตัว ในปี 2545 เหลือลูกปลาจากการเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 จำนวน 60,000 ตัว และครั้งที่ 3 จำนวน 10,000 ตัว
กรมประมงจึงสั่งการให้กระจายลูกปลาบึกไป 4 ภาคทั่วประเทศ เพื่อปล่อยแหล่งน้ำและจำหน่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง โดยภาคใต้มีจุดรวมปลาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฏร์ธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น ภาคตะวันออกอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดชลบุรี ภาคกลางอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพระนครศรีอยุธยา ภาคเหนืออยู่ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา และสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้กรมประมงได้ส่งลูกปลาชุดนี้ไปเลี้ยงยังสถานีประมงทุกแห่งทั่วประเทศ แห่งละ 50 ตัว และศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด แห่งละ 100 ตัว เพื่อเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
กรมประมง – https://www.fisheries.go.th/sf-chiangrai/sara/GiantCatfish.htm
องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ – http://www.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=54&c_id=
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เขตรักษาพันธุ์ปลาในแม่น้ำช่วยฟื้นฟูปลาขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้