กุ้งเดินพาเหรด เบื้องหลังปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่ง

ปรากฏการณ์ กุ้งเดินพาเหรด ขึ้นจากแม่น้ำในจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับทั้งความสนใจและความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี แต่ยังไม่มีใครศึกษาว่า ทำไมกุ้งน้ำจืดชนิดนี้ถึงขึ้นจากน้ำแล้วเดินขบวนไปบนบก และพวกมันคือกุ้งสายพันธุ์อะไร

วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ เติบโตในจังหวัดกรุงเทพฯ วันหนึ่ง เขานั่งชมรายงานข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับ “กุ้งเดินพาเหรด” ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่กุ้งจำนวนดาษดื่นเดินออกจากลำธารในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี เพื่อออกหากินในเวลากลางคืนอย่างเป็นปริศนา

ความสนใจด้านพฤติกรรมสัตว์ของวัชรพงษ์ นำเขาเข้าสู่วงการวิชาการ หลังจบการศึกษาจากภาควิชาชีววิทยา เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในปี 2017 วัชรพงษ์ได้รับคัดเลือกเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) เกี่ยวกับเรื่องความก้าวร้าวและการสื่อสารของปลา แต่เขายังคงคิดถึงกุ้งเหล่านั้นที่สร้างความประทับใจให้กับเขาเมื่อหลายสิบปีก่อน

ผมดูข่าวนั้นเพียงห้านาที แต่มันติดอยู่ในหัวผมเกือบตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา” วัชรพงษ์กล่าว

เขาค้นพบว่า แม้จะได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว และเป็นตัวละครหลักในตำนานพื้นบ้าน แต่ยังไม่มีใครศึกษาว่า เหตุใดสัตว์น้ำตัวจิ๋วเหล่านี้จึงเดินขึ้นจากน้ำ หรือแม้กระทั่งไม่เคยมีการระบุชนิดของมันได้ จุดนี้จึงกลายเป็นภารกิจทางวิทยาศาสตร์อันสำคัญ เขากระตือรือร้นที่จะกลับมายังแผ่นดินเกิด เพื่อศึกษาสัตว์ประจำถิ่น และวิธีที่พวกมันเชื่อมโยงกับชุมชนมนุษย์

ผมอยากทำโครงการวิจัยที่สามารถช่วยเหลือผู้คนในประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็ช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย” เขากล่าว

ความลับของกุ้งฝอย

ในปี 2018 และ 2019 วัชรพงษ์ออกสำรวจแม่น้ำลำโดม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และระบุสถานที่ 2 แห่งที่กุ้งน้ำจืดนับแสนตัวออกจากน้ำ ในช่วงฤดูฝนเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เขาและเพื่อนร่วมงานตั้งกล้องถ่ายภาพกลางคืนแบบไทม์แลปส์ เพื่อจับภาพการเคลื่อนไหวของกุ้งนับแสนตัว

ผลการวิจัยของพวกเขาซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ในวารสาร Journal of Zoology (https://zslpublications.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jzo.12841) ชี้ให้เห็นว่า กุ้งมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงกระแสน้ำที่แรงเป็นพิเศษในช่วงฤดูน้ำหลาก: ยิ่งกระแสน้ำมีกำลังแรงมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่กุ้งจะเดินขึ้นบก เพื่อเดินไปยังบริเวณที่กระแสน้ำนิ่งมากกว่า

กุ้งขนาดเล็กจำนวนมาก มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกล่าในช่วงเดินขบวนเวลากลางคืน

ขบวนพาเหรดที่พวกเขาสังเกตเห็น คือประชากรของกุ้งเดินขึ้นจากน้ำอย่างต่อเนื่อง เป็นฝูง และแออัด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่พวกมันขึ้นจากน้ำ โดยบางตัวเดินได้ไกลถึง 20 เมตร

ในห้องปฏิบัติการ วัชรพงษ์นำกุ้งจำนวนหนึ่งจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยงไว้ แต่กลับไม่พบพฤติกรรมการเดินพาเหรด หลังจากนั้นสองปีเขาพบว่า จำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งที่กุ้งอาศัยอยู่ และเพิ่มความเร็วของกระแสน้ำในบ่อเลี้ยง

ผมตะโกนออกมาด้วยความดีใจเมื่อเห็นกุ้งตัวแรกเดินขึ้นจากน้ำเป็นครั้งแรก ผมกำลังคิดว่า โอ้แม่เจ้า ผมถอดรหัสความลับของธรรมชาติได้” เขาบอก

กุ้งจำนวนมากเดินพาเหรดเป็นสายในแม่น้ำลำดวน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เย็นลง และแสงที่น้อยลง ดูเหมือนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้กุ้งเดินขึ้นจากน้ำ วัชรพงษ์ได้ทดลองปัจจัยต่างๆ เช่น ความเข้มของแสง ความแรงของกระแสน้ำ และอุณหภูมิของน้ำ โดยทดลองในห้องปฏิบัติการ เขากล่าวเสริม

ในขั้นตอนสุดท้ายของการศึกษา เขาวิเคราะห์ลักษณะพันธุกรรมของกุ้ง เผยให้เห็นสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า Macrobrachium dienbienphuense ซึ่งพบครั้งแรกในปี 1970 แต่ไม่มีการรายงานว่าเป็นกุ้งพาเหรด

เทศกาลแห่งการเคลื่อนย้าย

M. dienbienphuense ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการขึ้นจากน้ำนั่นคือ สัตว์บกที่หิวโหยทั้งกบ จิ้งจก และงู ซึ่งเป็นสัตว์นักล่าที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ และวัชรพงษ์ยังสำรวจพบแมลงหางหนีบ และแมงมุมกระโดด เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำฤดูกาล แมงมุมแค่เฝ้ารออาหารอยู่ริมฝั่งแม่น้ำที่กุ้งเดินขึ้นมา วัชรพงษ์เปรียบเปรยว่า กลยุทธ์การล่าแบบนี้เหมือนลูกค้ากำลังนั่งรอซูชิที่เคลื่อนมาบนสายพาน

ในแต่ละฤดูฝน บุฟเฟ่ต์มื้อค่ำแบบนี้มีแนวโน้มเพิ่มสารอาหารจำพวกโปรตีนเข้าสู่สายใยอาหาร ซึ่งเขาจำเป็นต้องศึกษาเรื่องการถ่ายเทพลังงานในระบบนิเวศเพิ่มเติม เขากล่าวว่า “จริงๆ แล้วพวกมันอาจจะถ่ายเทพลังงานบางส่วนจากระบบนิเวศในน้ำไปยังระบบนิเวศบนบก”

ปีเตอร์ โนวัก นักนิเวศวิทยาน้ำจืด กรมความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ และสถานที่ท่องเที่ยว ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าสนใจที่ขบวนพาเหรดดูเหมือนจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญในชีวิต อย่างการสืบพันธุ์

กุ้งแต่ละตัวสามารถเดินได้ไกลถึง 20 เมตร ก่อนกลับลงน้ำ

“[ผลการวิจัย] ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า เหตุใดสัตว์เหล่านี้จึงเคลื่อนที่กลับไปยังต้นน้ำ หากไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ปลายน้ำตั้งแต่แรก” โนวักตั้งข้อสังเกต

กุ้งน้ำจืดสายพันธุ์อื่นที่มีวิวัฒนาการใกล้ชิดกับ M. dienbienphuense มีพฤติกรรมอพยพระหว่างน้ำทะเลและน้ำจืด (amphidromous) โดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ และอพยพกลับขึ้นไปยังต้นน้ำเพื่อวางไข่ แม้ว่า M. dienbienphuense จะไม่เป็นแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ แต่โนวักก็สงสัยว่า กุ้งชนิดนี้เดินพาเหรดไปมาระหว่างส่วนต่างๆ ของแม่น้ำในช่วงอื่นของวงจรชีวิตหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่แม่น้ำไหลแรงขึ้น ตัวเต็มวัยที่พร้อมจะสืบพันธุ์อาจถูกชะไปกับกระแสน้ำลงสู่แม่น้ำด้านล่าง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการเติบโตกุ้งวัยเยาว์มากกว่า

แม้ว่า M. dienbienphuense จะไม่อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่กิจกรรมการท่องเที่ยวก็อาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศได้ แต่วัชรพงษ์กล่าวว่า เมื่อผู้คนส่องไฟฉายไปที่กุ้ง พวกมันจะรับรู้ได้ทันทีว่าต้องกลับลงน้ำ และพวกมันก็หนีแสงไฟได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กุ้งพาเหรดดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 100,000 คนต่อปีให้เดินทางมายังภูมิภาคนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดในฐานะประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ไม่เหมือนใคร

ขบวนคาราวานสู่อนาคต

วัชรพงษ์หวังว่าการวิจัยเรื่องพฤติกรรมกุ้งพาเหรดจะสามารถกระตุ้นเตือนเรื่องการอนุรักษ์กุ้งน้ำจืดที่กำลังมีประชากรลดลงได้

ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการอพยพของกุ้งน้ำจืดในสายพันธุ์อื่นๆ ในประเทศออสเตรเลีย และแอฟริกา ทำให้ประชากรของพวกมันแยกส่วน และขัดขวางกระบวนการผสมพันธุ์ การเดินอพยพของกุ้งพาเหรดอาจเป็นกรณีศึกษาเรื่องการสร้าง “บันไดกุ้ง” ในอนาคต เพื่อช่วยกุ้งสายพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นสัตว์หายาก และเหลือจำนวนน้อย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สัตว์ขาข้อ คืออะไร 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.