วันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานการพบซาก ฉลามวาฬ ลอยหงายท้องห่างจากบริเวณกองหินขาวในพื้นที่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 30 นาทีกับการเดินทางด้วยเรือหางยาว สภาพซากมีเชือกพันหางไว้ คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วราว 1 สัปดาห์ ความสูญเสียครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน
หลายๆ กรณีที่ผ่านมามีการชันสูตรซาก ฉลามวาฬ ที่ตายในลักษณะมีเชือกผูกหาง พบว่าสาเหตุการตายเกิดจากภาวะช็อกเฉียบพลัน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะหลงติดเข้าไปในเครื่องมือประมงประเภทอวนลาก ซึ่งทำให้ชาวประมงช่วยเหลือได้ไม่ทัน จะทราบอีกครั้งก็ตอนเก็บดึงอวนขึ้น ซึ่งฉลามวาฬก็ตายแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้เชือกผูกหางเพื่อลากออกจากอวน และทิ้งซากลงสู่ทะเล
เครื่องมือบางประเภทเช่นอวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคู่ จัดว่าเป็นเครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำแบบไม่เลือกชนิด และทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำที่ไม่ตั้งใจจับเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง ฉลามวาฬและปลาฉลามชนิดอื่นๆ ซึ่งมีสถานภาพน่าเป็นห่วงและไม่ใช่เป็นสัตว์น้ำเป้าหมายในการทำประมง
ฉลามวาฬเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก โตเต็มที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร ฉลามวาฬตัวใหญ่ที่สุดที่เคยมีการบันทึกมีความยาวถึง 20 เมตร หนักถึง 42 ตันจากไต้หวัน แม้จะเป็นสมาชิกปลาฉลามและมีฟันซี่เล็กๆเท่าหัวไม้ขีดกว่า 3,000 ซี่ แต่ฉลามวาฬหากินด้วยการกรองแพลงตอน และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ เป็นอาหาร ด้วยการอ้าปากกรองน้ำทะเลราวๆ 5,000 ลิตรต่อชั่วโมงผ่านซี่กรอง (gill raker) ฉลามวาฬเป็นปลาที่อายุยืนมาก นักวิจัยประเมินว่าฉลามวาฬมีอายุเฉลี่ยราว 80 ปี โดยตัวผู้ต้องใช้เวลาราว 17 ปีจึงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในขณะที่ตัวเมียอยู่ที่ 19 – 22ปี
ฉลามวาฬจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และได้รับการคุ้มครองทั้งโดยกฎหมายภายในประเทศ ได้แก่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชกำหนดการประมง ที่กำหนดให้ฉลามวาฬเป็น “สัตว์ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือ” มีโทษปรับสามแสนถึงสามล้านบาท และกฎหมายระหว่างประเทศ คือ CITES หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ฉลามวาฬยังคงถูกคุกคามจากประมงผิดกฎหมาย หรือติดเครื่องมือประมงโดยไม่ตั้งใจ ดังเช่นกรณีนี้ รวมไปถึงขยะทะเล และการท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือจากข้อมูลดังกล่าว พบว่าอุปกรณ์ที่จับปลาฉลามในน่านน้ำไทยเป็น อวนลากแผ่นตะเฆ่ ถึง 85.17% และอวนลากคู่ 11.33% หมายความว่าฉลามที่ถูกจับได้ส่วนใหญ่ (96.5%) ติดเครื่องมือประมงสองชนิดนี้ อาจถึงเวลาที่เราต้องมีแนวทางการจัดการเครื่องมือประมงทั้งสองประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่อนุญาตให้มีการทำประมง หรือการปรับปรุงเครื่องมือและระบบติดตามที่จะช่วยลดการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่ชนิดเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับทรัพยากรทางทะเล และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลหายาก
เรื่อง: เพชร มโนปวิตร
ภาพ: หาญนเรศ หริพ่าย