โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งบุรีรัมย์ ที่ฟื้นคืนฝูงนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากการสูญพันธุ์

โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่การฟื้นคืนฝูง นกกระเรียน พันธุ์ไทยจากการสูญพันธุ์ และทำให้ชาวบ้านหันมาทำนาอินทรีย์กันทั้งชุมชน

โลกของเรามี นกกระเรียน 15 ชนิด ตั้งแต่นกกระเรียนพันธุ์ยุโรป นกกระเรียนพันธุ์ไซบีเรีย นกกระเรียนพันธุ์ออสเตรเลีย นกกระเรียนกู่แห่งทวีปอเมริกา มาจนถึงนกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) ที่มีขนาดใหญ่โตที่สุด เมื่อโตเต็มวัย โดยมีความสูงถึง 1.8 เมตร จึงนับเป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก

เชื่อว่าทุกคนรู้จักชื่อนกกระเรียน แล้วรู้หรือไม่ว่า นกกระเรียนพันธุ์ไทย เคยสาบสูญไปจากธรรมชาติเมืองไทยนานถึง 50 ปี แต่ตอนนี้พวกมันได้กลับมาแล้ว ซึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเหล่านักอนุรักษ์ และชาวนาแห่งอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ ใน ‘โครงการการปล่อย นกกระเรียน พันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ’

เมื่อ 50 ปีก่อน บริเวณนี้คือ พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งอยู่อาศัยตามธรรมชาติอันสมบูรณ์ของเหล่านกกระเรียน มาวันนี้เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปจากหนองน้ำกลายเป็นทุ่งนา ความเป็นอยู่ของชาวบ้านถูกชี้วัดด้วยผลผลิตข้าวจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ฉะนั้นการกลับมาของฝูงนกกระเรียนจึงเป็นความท้าทายของทั้งนกและคน

ภาพโดย ปิยะพงษ์ ชิณเดช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ความท้าทายของการเพาะพันธุ์นกกระเรียน เลี้ยงดูให้เติบโตอและเตรียมความพร้อมให้พวกมันออกไปใช้ชีวิตได้ตามธรรมชาติว่ายากแล้ว แต่การทำงานร่วมกับชาวบ้านเจ้าของที่นาในปัจจุบันนั้นยากยิ่งกว่า เพราะความสำเร็จของภารกิจนี้คือ นกต้องอยู่รอดได้ด้วยตัวเองในธรรมชาติ ดังนั้นชาวบ้านในชุมชนจึงต้องเข้าใจและเต็มใจทำมาหากิน ไปพร้อมกับนกกระเรียนที่มาหากินและอยู่อาศัยในพื้นที่นาของตัวเอง

จากจุดเริ่มต้นโครงการ ใน พ.ศ. 2551 ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย United Nations Development Programme และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทุกวันนี้โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการนำสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วคืนกลับมา และนับเป็นความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกพื้นที่อนุรักษ์

ด้วยความร่วมใจกันในการอนุรักษ์ของชุมชนท้องถิ่น ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์กันอย่างคึกคัก เพื่อให้นกกระเรียนในพื้นที่ปลอดภัยจากสารพิษ และไม่หายสาบสูญไปจากธรรมชาติอีก นับเป็นตัวแทนความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย

นี่คือพลังของงานอนุรักษที่ไม่ได้จบแค่นกอยู่รอด แต่คนอยู่ดีด้วย

ภาพโดย อายุวัต เจียรวัฒนกนก, สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

นกกระเรียนในระบบนิเวศ

ในอดีตเดือนธันวาคม พ.ศ. 2448 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เดินทางไปตรวจราชการหัวเมืองในมณฑลอุดรกับมณฑลอีสาน เขตจังหวัดนครราชสีมา และมีพระนิพนธ์เรื่อง ‘ลานนกกระเรียน’ ขึ้น โดยในพระนิพนธ์ระบุว่า

‘ตามทางที่ไปมีพื้นที่ซึ่งเป็นทุ่งใหญ่ ๆ หลายแห่งที่ทำไร่ทำนาไม่ได้เพราะเป็นที่ลุ่ม ฤดูแล้งดินแห้งแข็ง พอถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วมจนไม่สามารถปลูกพืชชนิดใด ๆ ได้ มีเพียงแต่นกกระเรียนพันธุ์ไทยมาทำรังวางไข่ในทุ่งนั้นเป็นหมื่นเป็นแสนตัว พอถึงช่วงสิ้นสุดฤดูหนาวลูกนกก็บินได้และพากันหายไปหมด และเมื่อถึงช่วงฤดูฝนก็กลับมาทำรังอีกครั้งเป็นประจำทุกปี’

ภาพโดย ปิยะพงษ์ ชิณเดช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ประเทศไทยเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถนนหนทางใหม่ ๆ ถูกตัดเข้าไปยังพื้นที่ชนบทของประเทศ เนื่องจากการขยายตัวของประชากร และความต้องการพื้นที่ทำกินที่มากขึ้น ผืนป่าประเภทต่าง ๆ ถูกคุกคาม ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกเปลี่ยนเป็นแปลงนาเชิงพาณิชย์

ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันนี้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ สัตว์ป่าที่ปรับตัวไม่ทันต่างค่อย ๆ หายสาบสูญไปตามวัฏจักรที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงนกกระเรียนพันธุ์ไทยเช่นกัน พวกมันได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2517

เวลาล่วงเลยมาเกือบ 50 ปี ทุกวันนี้ประเทศไทยมีนาข้าวมากกว่า 60 ล้านไร่ เราคือประเทศที่ส่งออกข้าวสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก พื้นที่เพาะปลูกข้าวเหล่านี้ ในอดีตคือพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติอันเป็นถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย พวกมันเคยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ทางแหล่งอาหาร และมีความปลอดภัยของระบบนิเวศแค่ไหน

เมื่อพื้นที่ชุ่มน้ำหายไป ระบบนิเวศก็หายไปด้วย

ภาพโดย ปิยะพงษ์ ชิณเดช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ฟื้นชีวิตที่หายไป

พ.ศ. 2533 ความพยายามแรกในการเพาะพันธุ์และปล่อยนักกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติได้เกิดขึ้น จากความพยายามอย่างหนักของนักวิจัยสัตว์ป่า สวนสัตว์โคราช โดยนำนกกระเรียนพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ จำนวน 27 ตัว ที่ยังพอหลงเหลือให้เห็นตามธรรมชาติจากประเทศกัมพูชามาทดลองเพาะเลี้ยงในกรง

ใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะผสมพันธุ์ได้สำเร็จ กระทั่งใน พ.ศ. 2540 ลูกนกกระเรียนคู่แรกก็ลืมตาดูโลกได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้น นักวิจัยสัตว์ป่าต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ จนพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์สามารถมีลูกตามธรรมชาติได้อย่างน่าพอใจ

ภาพโดย United Nations Development Programme

ในเวลานั้นสวนสัตว์โคราช ถือเป็นศูนย์การเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีนกกระเรียนอยู่ถึง 120 ตัว แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่แท้จริงของนักวิจัยและนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ไม่ใช่การเพาะเลี้ยงให้มีนกวัยอ่อนลืมตาดูโลกในกรงได้มากที่สุด แต่เป็นการทำให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยเหล่านี้ สามารถคืนถิ่นกลับสู่ธรรมชาติ ใช้ชีวิตหากิน และขยายพันธุ์ เพื่อดำรงอยู่ในระบบนิเวศได้อีกครั้ง

‘โครงการการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ’ จึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2551 หลังจากความสำเร็จในการผสมพันธุ์และเพาะเลี้ยงพวกมันในกรง โดยมีการศึกษาพื้นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนอย่างละเอียดทั่วประเทศ จนท้ายที่สุดจึงได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดคือ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน

เนื่องจากมีหลักฐานภาพถ่ายยืนยันว่า จังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนในอดีต และอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการปล่อยนกกระเรียนคืนถิ่น

ภาพโดย ปิยะพงษ์ ชิณเดช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

คืนกระเรียนสู่ถิ่นธรรมชาติ

พ.ศ. 2554 มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ บริเวณอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ แม้ช่วงแรกนกจะยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำและหนองน้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป บรรดานกกระเรียนเริ่มปรับตัวได้ พวกมันกลับอพยพไปอาศัยในพื้นที่นาข้าวรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำแทน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างสูง

การค้นพบที่น่าประหลาดใจคือ ช่วงปี พ.ศ. 2559-2561 นักวิจัยพบการทำรังวางไข่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติครั้งแรก สัดส่วนร้อยละ 70-80 ของรังทั้งหมด ได้รับการค้นพบว่าอยู่ในพื้นที่นาข้าว และลูกนกที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ก็เกิดในนาข้าวเช่นเดียวกัน แทนที่จะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและหนองน้ำอย่างที่คาดไว้ตอนแรก

ภาพโดย ปิยะพงษ์ ชิณเดช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

การค้นพบนี้ทำให้นักวิจัยตระหนักว่า คนท้องถิ่นที่อาศัยในบริเวณนี้ มีบทบาทต่อความอยู่รอดของนกมาก เพราะในช่วงแรกที่นักอนุรักษ์ยังไม่ได้ทำงานกับชุมชน พบว่านกจำนวนมากได้ล้มหายตายจากไป เพราะความไม่รู้ของชาวบ้าน จากการโดนทำร้าย โดนยาฆ่าแมลง ต่อมาจึงมีการทำงานกับชุมชนมากขึ้น เพื่อหาความต้องการร่วมว่าจะทำอย่างไรให้งานอนุรักษ์เข้าไปอยู่ในใจและชีวิตของทุกคน

หลายปีของการทำงานร่วมกันอย่างทุลักทุเล จากตอนแรกที่ชาวบ้านไม่สนใจเรื่องงานอนุรักษ์ เพราะไม่เห็นความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา ไม่เชื่อว่างานอนุรักษ์จะทำให้มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  เมื่อนักวิจัยสวมหมวกนักพัฒนาชุมชน เริ่มตั้งถาม รวมถึงช่วยชาวบ้านหาคำตอบว่า การมีนกกระเรียนพันธุ์ไทยอยู่ในพื้นที่  หรืออยู่ในนาข้าวของชาวบ้านท้องถิ่นนั้น ส่งผลดีและสร้างโอกาสอะไรที่ให้แก่ชาวบ้านบ้าง

นาอินทรีย์ คือคำตอบที่ทุกคนต่างยกมือกันอย่างพร้อมเพรียง

ทุกวันนี้ ถ้าคุณเดินทางไปบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน อย่าแปลกใจถ้าเห็นนาอินทรีย์สุดลูกหูลูกตา เพราะชาวบ้านแถวนี้เขาเปลี่ยนจากพึ่งพาเคมี มาผลิตข้าวแบบอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันอย่างเต็มอกเต็มใจ

‘ข้าวสารัช’ คือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ชาวบ้านภูมิใจ เพราะเป็นข้าวอินทรีย์ที่เพิ่มมูลค่าจากการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่มีที่นี่เท่านั้นในประเทศไทย

นก นา คน

ชื่อ ‘ข้าวสารัช’ มาจากชื่อทั่วไป (Common Name) ของนกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) และในภาษาไทย ‘สารัช’ หมายถึง ความดีงาม

ทุกวันนี้มีนกกระเรียนที่ปล่อยมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ 81 ตัว จากที่ปล่อยไปทั้งหมด 115 ตัว โดยยังไม่รวมอีกจำนวนหนึ่งที่เกิดในธรรมชาติอีกราว ๆ 15 ตัว  ทำให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการปรับสถานภาพทางของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบัญชีแดงด้านการอนุรักษ์ (Thailand red list data) จากสัตว์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (Extinct in the wild; EW) เป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical endangered; CR)

เหนืออื่นใดชาวบ้านไม่สงสัยอีกต่อไปว่า งานอนุรักษ์มีความเกี่ยวข้อง หรือสร้างประโยชน์อะไรให้แก่พวกเขาบ้าง การเปลี่ยนที่นาซึ่งเคยเต็มไปด้วยสารเคมี ให้กลายมาเป็นผืนนาเกษตรอินทรีย์ ได้ช่วยสร้างสุขภาพดี ๆ ให้กับทุกคน

นอกจากเอื้อต่อการหากินและอยู่อาศัยของเหล่านกกระเรียนพันธุ์ไทยแล้ว ลูกหลานชาวบ้านยังสุขภาพดีขึ้น เพราะไม่ต้องซึบซับสารพิษจากเคมีตั้งแต่ยังเด็ก แถมยังเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาดูนกกระเรียนในแหล่งธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไปในตัว

ภาพโดย ปิยะพงษ์ ชิณเดช, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อชาวบ้านเห็นข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมว่า งานอนุรักษ์ทำให้ชีวิตดีขึ้นจริง ๆ พวกเขาก็พร้อมเปิดใจรับงานอนุรักษ์ และยินดีทำงานร่วมกับนักวิจัยและนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างใกล้ชิดเหมือนลูกหลาน สิ่งนี้เองคืออีกขั้นหนึ่งของความสำเร็จด้านงานอนุรักษ์ในประเทศไทย

ผืนนาอินทรีย์คือผลลัพธ์รูปธรรมที่สุด ที่อธิบายว่าวิถีเกษตร ชาวนา และนักกระเรียนพันธุ์ไทย ทั้งหมดล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังคำขวัญที่ว่า ‘กระเรียนเคียงฟ้า นาอินทรีย์เคียงดิน มีกินยั่งยืน’

สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เปิดบัญชีแดง สิ่งมีชีวิต 31 สายพันธุ์ล่าสุดที่ สูญพันธุ์ จากโลกไปแล้วตลอดกาล

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.