ค้นพบลูก สุนัขป่า อายุกว่า 57,000 ปี ในชั้นดินเยือกแข็งของแคนาดา

ลูกสุนัขที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้ชั้นดินเยือกแข็งนี้ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจว่า สุนัขป่า มีการอพยพไปยังยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือได้อย่างไร

ในฤดูร้อนปี 2016 คนงานเหมืองทองผู้หนึ่งในดินแดนยูคอน เขตพื้นที่ในแคนาดา ได้ค้นพบสมบัติล้ำค่าที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อกำแพงชั้นดินเยือกแข็งที่ถูกทำลายด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เผยสิ่งที่อยู่ภายใน นีล เลิฟเลสส์ เห็นบางสิ่งละลายออกมาจากน้ำแข็ง ซึ่งไม่ใช่แร่ธาตุอันล้ำค่า หากแต่เป็นมัมมี่ สุนัขป่า ที่มีความเก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา

เลิฟเลสส์รีบนำซากสุนัขป่านั้นใส่ในตู้แช่แข็ง จนกระทั่งนักบรรพชีวินวิทยาเข้ามาตรวจสอบ เขาค้นพบว่า สัตว์ที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีนี้เป็นลูกสนัขป่าเพศเมีย มีชีวิตอยู่ในระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปแล้วในช่วงที่พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดายังคงเป็นบ้านของมาสโตดอนอเมริกัน (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูล Mastodontidae มีลักษณะคล้ายช้าง ปัจจุบันสูญพันธุ์แล้ว) และ Pleistocene megafauna (สูญพันธุ์แล้วเช่นกัน) ชาว Tr’ondëk Hwëch’in ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ท้องถิ่นในดินแดนยูคอนได้ตั้งชื่อลูกสุนัขป่าอายุ 57,000 ปีนี้ว่า Zhur ซึ่งมีความหมายว่า ‘หมาป่า’ ในภาษาภายในชุมชนของพวกเขา

มีชีวิตอยู่เพียงเจ็ดสัปดาห์ก่อนที่จะตาย ลูกสุนัขป่าสีเทา (gray wolf) ตัวนี้เป็นประชากรสุนัขที่อพยพมาที่ดินแดนยูคอนจากไซบีเรียผ่านสะพานแผ่นดินเบริง (Bering land bridge) ภาพถ่ายโดย GOVERNMENT OF YUKON

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พิเศษซึ่งถูกกู้ซากขึ้นมาจากทุ่งทุนดราไซบีเรียนแห่งนี้ สามารถย้อนไปได้ยังยุคสมัยพลีสโตซีน (Pleistocene epoch) อันเป็นช่วงเวลาธรณีกาลระหว่าง 2,588,000-11,700 ปีก่อน หรือที่รู้จักกันในชื่อยุคน้ำแข็ง (Ice Age) อย่างไรก็ตาม การค้นพบซากสัตว์สุนัขป่าที่สภาพสมบูรณ์ในดินแดนยูคอนถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในไซบีเรีย การค้นพบซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกรักษาไว้เช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะมันเป็นวิถีของชั้นดินเยือกแข็งที่จะทำหน้าที่รักษาสิ่งต่างๆ เอาไว้ อันถือเป็นเรื่องปกติของดินแดนยูคอน อะแลสกา และส่วนอื่นๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ Julie Meachen นักบรรพชีวินวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Des Moines ผู้เขียนหลักงานวิจัยที่ทำการศึกษา Zhur ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในลงในวารสาร Current Biology กล่าว โดยร่างกายส่วนใหญ่ของ Zhur ยังคงมีสภาพสมบูรณ์แม้จะผ่านมาแล้วนับหลายหมื่นปี นับตั้งแต่ขนที่คลุมหนังไปจนถึงปุ่มลิ้นที่มีความละเอียดบนลิ้นของมัน

ภาพวาดของสุนัขป่าสีเทาตัวหนึ่งกำลังล่าปลาในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดาเมื่อเกือบ 60,000 ปีที่แล้ว ภาพวาดโดย  JULIUS CSOTONYI

ประชากรหมาป่าที่หายไป

แม้สุนัขป่าสีเทาหมาป่าสีเทา (gray wolf) จะเป็นสัตว์ที่โดดเด่นของพื้นที่ธรรมชาติสมัยใหม่ในทวีปอเมริกาเหนือ แต่พวกมันก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการในทวีปอเมริกา สุนัขเหล่านี้ปรากฎขึ้นครั้งแรกในทวีปยูเรเชียและเดินทางข้ามผ่านสะพานแผ่นดินเบริง (Bering land bridge – ปัจจุบันคือ ช่องแคบเบริง หรือ Bering Strait) ในช่วงปลายยุคสมัยไพลสโตซีน หรือราว 500,000 ปีที่แล้ว

“ซากที่ถูกเก็บรักษาไว้ดูน่าอัศจรรย์มาก” รอสส์ บาร์เน็ตต์ นักบรรพชีวินวิทยาประจำมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (Copenhagen University) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย กล่าวและเสริมว่า “Zhur มาจากช่วงยุคซึ่งสายพันธุ์ของมันยังไม่เป็นที่รู้จักในดินแดนยูคอน ในแง่ของการเป็นมัมมี่” และจากการตรวจดีเอ็นเอของมัน ก็พบว่ามันเป็นกลุ่มสุนัขป่าที่ไม่ปรากฎขึ้นอีกแล้วในภูมิภาคนี้

Zhur มีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมไปยังกลุ่มสุนัขป่าทั้งในอะแลสกาและยูเรเซีย แต่สุนัขป่าในทุกวันนี้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันออกไป ผลการศึกษาพบว่าสุนัขป่าสีเทารุ่นแรกในยูคอนได้ถูกกวาดล้างไปและถูกแทนที่ด้วยประชากรหมาป่ากลุ่มอื่นที่อพยพลงในพื้นที่ทางใต้กว่าเดิม

การเก็บรักษาซากลูกสุนัขป่า ‘Zhur’ อันน่าอัศจรรย์นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาทั้งในแง่คุณสมบัติของร่างกายและดีเอ็นเอของมัน ภาพถ่ายโดย GOVERNMENT OF YUKON

ข้อมูลดีเอ็นเอในยุคโบราณมักแสดงให้เห็นว่า วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และบรรพชีวินวิทยามีความซับซ้อนอย่างไรซึ่งสามารถนำมาได้จากการศึกษากระดูกและฟอสซิล Tyler Murchie นักพันธุกรรมบรรพชีวิน (paleogeneticist) แห่งมหาวิทยาลัย McMaster ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวของในงานวิจัย กล่าว

Zhur มีชีวิตในช่วงเวลาจุดตัดทางยุคโบราณ ซึ่งไม่ใช่แค่ระหว่างยุคน้ำแข็งอันหนาวเย็นเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ระหว่างประชากรสุนัขป่าซึ่งในปัจจุบันได้มีการแยกสายพันธุ์ไปแล้วด้วยเช่นกัน โดยจากการศึกษายีนของลูกสุนัข นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบความเข้าใจมากขึ้นในช่วงเวลายุคโบราณของมันและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากนั้น “ดีเอ็นเอยุคโบราณนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวแห่งสิ่งมีชีวิตในช่วงสมัยพลีสโตซีนตอนปลาย หรือปลายยุคน้ำแข็ง ซึ่งส่วนมากจะเห็นจากการศึกษากระดูก” บาร์เน็ตต์ กล่าว

จากข้อมูลที่ว่า ประชากรของสัตว์มีความเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงยุคน้ำแข็ง ยังคงได้มาจากดีเอ็นเอยุคโบราณซึ่งยังคงเหลืออยู่ในตัวอย่างสัตว์ที่ยังถูกเก็บรักษาเอาไว้ แต่ซากที่เหลือของ Zhur ยังคงให้เบาะแสที่สำคัญ ซึ่งนักวิจัยกำลังค้นพบหน้าต่างที่จะเปิดเข้าไปสู่โลกที่หายไปในช่วงยุคน้ำแข็งได้ต่อไป

เรื่อง RILEY BLACK


อ่านเพิ่มเติม สุนัขป่าอาร์กติก : โดดเดี่ยวกลางแดนหนาว

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.