ทั้งคู่ต่างพันตู รุกรับด้วยคมเขี้ยวและเชิงชั้นอย่างทรหดอดทน เนิ่นนานอีกหลายนาที ปลากัดอีกตัวก็ว่ายหนีเตลิด ไม่ยอมเข้าต่อกร มันว่ายหนีไปรอบแบบไม่ยอมเข้าใกล้ ปลากัดไทย อีกตัวจึงเป็นผู้ชนะไปตามกติกา ด้วยอาการพองตัวอย่างลำพองไม่ผิดกับชัยชนะของมนุษย์แต่อย่างใด…
นี่คือบทบาทแห่งสายเลือดมรดกตกทอดของ “ปลากัด” มัจฉานักสู้ผู้ล้ำค่าสง่างาม อีกเอกลักษณ์หนึ่งอันทรงคุณค่าของความเป็นไทย ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน
ปลากัดมีลักษณะพิเศษ คือ มีสัญชาติญาณเป็นปลานักสู้ตลอดชีวิตของมัน มีวิญญาณทรหด อดทน กัดได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญให้คนนำมันมากัดแข่งกัน กลายเป็นเกมกีฬาที่คนไทยนิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ
สมัยก่อนในชนบทเมื่อชาวบ้านเสร็จจากงานเพาะปลูก มักจะหอบหิ้วเอาปลากัดมากัดแข่งขันกันเป็นงานอดิเรก และเป็นความเพลิดเพลินถือเป็นกีฬาพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งของสยามประเทศที่นิยมกันอย่างแพร่หลายสืบมา
เสน่ห์ของปลากัดที่นอกจากจะมีลีลาการต่อสู้ที่ดุเดือดเร้าใจและทรหดอดทนแล้ว จากบันทึกของมิสเตอร์ เอช. เอ็ม. สมิท ที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งได้ชมการกัดปลามามากกว่า 100 ครั้ง บันทึกไว้ว่า… การกัดปลาของคนไทยไม่ใช่เรื่องโหดร้าย ป่าเถื่อน สยดสยองเหมือนดังที่เข้าใจกัน แต่เป็นการต่อสู้ที่เร้าใจ เต็มไปด้วยศิลปะ และความงาม ในลีลาการเคลื่อนไหวที่สง่างาม คล่องแคล่ว เฉียบแหลม และอดทน เมื่อเกมสิ้นสุด ปลาทั้งคู่อาจมีสภาพถูกกัดขาดวิ่น หรือเกล็ดหลุด แต่ภายในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก็สามารถงอกกลับมาเป็นปกติใหม่ดังเดิม
นอกจากนั้นแล้ว ปลากัดยังเป็นปลาที่สวยงามที่หาใดเทียบ ยุคต่อมาเริ่มมีการนำปลากัดมาเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ในการกัดแข่งขัน และผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้ปลาที่อดทน กัดเก่ง สีแปลกตาสวยงาม ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง และเป็นปลาสวยงามชนิดแรกที่คนไทยนิยมเลี้ยง การเพาะเลี้ยงปลากัดจึงแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นการกีฬา อีกกลุ่มหนึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม
ปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติมักเรียกติดปากว่า “ปลากัดลูกทุ่ง” หรือ “ปลากัดป่า” และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และความสามารถในชั้นเชิงการกัดจนถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยและเป็นที่รับรู้ของชาวต่างชาติในชื่อ “Siamese fighting fish”
เมื่อ พ.ศ. 2452 Mr. C. Tate Regen ได้ตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ของปลากัดว่า Betta splendens ซึ่งคำว่า Betta มาจากคำว่า “Bettah” หมายถึง ชนชาติของผู้ที่เป็นนักรบ ส่วนคำว่า plendens มาจากคำว่า “Splendid” มีความหมายเหมือน “Beautiful” แปลได้ว่า “นักรบผู้สง่างาม”
ปลากัดไทย เป็นปลาพื้นเมืองของประเทศไทย และในแถบประเทศเอเชียอาคเนย์ เป็นปลาที่มีรูปร่างสวยงาม พบแพร่กระจายทั่วไปทุกภูมิภาคของประเทศ ตามธรรมชาติปลากัดจะมีสีน้ำตาล หรือสีเทาปนเขียวมีลายตามลำตัว ครีบและหางสั้น มีนิสัยก้าวร้าว ตัวผู้ครีบและหางจะยาวกว่าตัวเมียและมีสีสันสวยงามมากกว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด ปลากัดจะอาศัยอยู่ตามบริเวณแหล่งน้ำที่ค่อนข้างใส น้ำนิ่งหรือไหลเอื่อย ๆ เช่น ทะเลสาบ หนอง บึง ลำคลอง มีลำตัวแบนข้าง ลำตัวยาว หัวเล็ก มีขนาดยาวเฉลี่ย 5 เซนติเมตร ชอบกินลูกน้ำ ไรแดง ไรน้ำ และหนอนแดง
ปลากัดมีความพิเศษต่างจากปลาชนิดอื่น คือมันจะมีอวัยวะช่วยหายใจอยู่ที่บริเวณเหงือกเรียกว่า Labyrinth organ อยู่ในโพรงอากาศหลังเหงือก ซึ่งทำให้ปลากัดสามารถอยู่ในน้ำที่มีอากาศน้อยได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถใช้ออกซิเจนจากการฮุบอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง ปลากัดจึงสามารถอาศัยอยู่ในน้ำน้อยที่มีออกซิเจนต่ำได้ เพราะมันสามารถว่ายขึ้นรับออกซิเจนที่อยู่บนผิวน้ำได้
สุภาษิตเก่ากาลที่กล่าวถึงปลากัดที่ว่า “แค่มองก็ท้องแล้ว” …อันหมายถึงปลา กัดตัวผู้ที่จ้องมองปลากัดตัวเมีย จนตัวเมียก็สามารถตั้งท้องได้เองนั้น ไม่ใช่ความเป็นจริง อย่างที่กล่าวอ้างมาแต่อย่างใด
ในความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ปลากัดจะมีฤดูการผสมพันธุ์ในฤดูฝนช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน ของทุกปี โดยปลากัดจะจับคู่กันเองแบบตัวต่อตัว ตัวผู้จะสร้างรังโดยการพ่นฟองขึ้นมาไว้ตามบริเวณผิวน้ำที่เราเรียกกันว่า “หวอด”
ปลากัดตัวเมียที่มีไข่สุกก็จะเข้ามาวางไข่ โดยตัวผู้จะว่ายเข้ารัดตัวเมียให้ปล่อยไข่ออกมาพร้อม ๆ กับปล่อยน้ำเชื้อของตัวเองออกมาผสมกัน ไข่จะถูกปล่อยออกมาเป็นชุดๆ ก่อนที่ไข่จะจมลงสู่พื้น…พ่อปลาจะฮุบฟองไข่ แล้วนำไปพ่นไว้ในหวอดจนกว่าไข่จะหมด ซึ่งอาจใช้เวลานับชั่วโมง หลังจากนั้น พ่อปลาจะเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าระวังไข่ และลูกอ่อน ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้ง แม่ปลาจะวางไข่ประมาณ 200-700 ฟอง
หลังจากนั้น 4 วันลูกปลาที่เพิ่งฟักออกเป็นตัว จะพักอยู่ภายใต้หวอด จนกว่าอาหารในถุงอาหารที่ติดตัวมาด้วยจะถูกใช้หมด และครีบได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์ พ่อปลาจะคอยเสริมหวอดด้วยการพ่นฟองอากาศใหม่อยู่เรื่อยๆ คอยเฝ้าระวังศัตรูที่จะเข้ามากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่ปลาที่จะต้องถูกขับไล่ให้ไปอยู่ห่างๆ เนื่องจากชอบกินลูกของตัวเอง 1 เดือนหลังจากวางไข่ ปลาตัวเมียก็พร้อมที่จะสร้างไข่ชุดใหม่ ในระยะเวลา 1 ปี ปลาตัวเมียหนึ่งตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 2,500-5,000 ฟอง
…………………………………………………
ปลากัดในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 40 สายพันธุ์ ซึ่งพบในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 11 สายพันธุ์ เช่น Betta breviata, Betta anabatoides, Betta belliea, Betta cocina, Betta imbellis, Betta macrophthalma, Betta Persephone, Betta pugnax, Betta smaragdina, Betta splendens, และ Betta tessyae เป็นต้น
ซึ่งปลากัดที่เรามักพบเห็นและเรียกเป็นปกติว่า “ปลากัด” นั้น ไม่ว่าจะเป็นปลากัดหม้อ หรือปลากัดจีน จะหมายถึงปลากัดที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens และมีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish
ในการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขัน จะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ของปลากัดครีบสั้น หรือปลาลูกหม้อ แต่ดั้งเดิมขึ้นมา เพื่อให้ได้สายพันธุ์ปลาใหม่ ๆ ที่กัดเก่ง ทรหดอดทน และมีขนาดใหญ่ ในอดีตเคยมีการนำปลากัดพื้นเมืองจากภาคใต้มาผสมบ้าง เพื่อสร้างลูกผสมที่กัดเก่ง และมีการใช้กลวิธีการเพาะเลี้ยงปลาด้วยสมุนไพร ใบไม้ ว่าน ฯลฯ เพื่อช่วยเคลือบเกล็ดปลา ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้เกล็ดแข็งศัตรูกัดเข้าได้ยาก
ส่วนการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเป็นปลาสวยงาม นอกจากจะพัฒนาให้ได้สีที่สวยงาม และรูปแบบใหม่ๆ แล้ว ก็ได้มีการพัฒนาสร้างสายพันธุ์ปลากัดครีบยาว ที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลากัดจีน ซึ่งมีครีบยาวใหญ่สวยงาม ในระยะหลังนี้ได้มีการพัฒนารูปทรงของครีบแบบต่างๆ และมีการพัฒนาปลากัดครีบสั้นให้เป็นปลาสวยงาม โดยพัฒนาสีสันให้สวยขึ้น และพัฒนาปลาลูกหม้อให้มีสีใหม่ ๆ ปัจจุบันรูปแบบสีสันของปลากัดลูกหม้อได้พัฒนาไปอย่างมากมายแทบทุกโทนสี และกลายเป็นปลาสวยงามอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย
ปลากัดลูกหม้อ ลักษณะลำตัวหนา หัวโต ปากใหญ่ ครีบสั้นสีเข้ม เดิมมักจะเป็นสีเขียว หรือสีน้ำเงินแกมแดง แต่ปัจจุบันมีหลายสี เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว และสีนาก เป็นปลาที่มีความอดทน กัดเก่ง ได้รับความนิยม
ปลากัดลูกทุ่ง ลำตัวจะเล็กกว่าพันธุ์ลูกหม้อ แต่ยาวเรียว มีครีบยาวสีแดงแกมเขียว มีนิสัยตื่นตกใจง่าย มีความว่องไวสูง ฟันคม แต่ไม่ค่อยมีความอดทน
ปลากัดลูกผสม หรือพันธุ์สังกะสี หรือพันธุ์ลูกตะกั่ว เป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง มีลักษณะปากคม คล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ โดยพยายามคัดปลาที่มีลักษณะลำตัวเป็นปลาลูกทุ่ง เพราะเมื่อนำไปกัดกับปลาลูกทุ่งแท้ ๆ ปลาลูกผสมนี้จะกัดทนกว่า
ปลากัดจีน เป็นปลากัดที่เกิดจากการเพาะและคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นเพื่อความสวยงาม พยายามคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีหางยาวและสีเข้ม มีครีบตัวและครีบหางค่อนข้างยาว มีสีสันสดสวยมากมายหลายสี เป็นปลาที่ไม่ค่อยตื่นตกใจเช่นเดียวกับปลาหม้อ แต่ไม่ค่อยมีความอดทน
สีเดียว (Solid Colored Betta) เป็นสีเดียวทั้งครีบและตัว
สีผสม (Bi-colored Betta) ส่วนใหญ่จะมี 2 สีผสมกัน
ลายผีเสื้อ (Butterfly Colored Betta)
ลายผีเสื้อเขมร (Combodian Butterfly Colored Betta)
ลายหินอ่อน (Marble Colored Betta)
รูปทรงปลาช่อน มีลำตัวยาวและหัวเหมือนปลาช่อน หัวใหญ่กว่าท้องเมื่อมองจากด้านบน
รูปแบบปลาหมอ ตัวจะสั้นและค่อนข้างอ้วน รูปทรงค่อนข้างกว้าง
รูปแบบปลากราย หน้าเชิด ลำตัวตรง เป็นรูปสี่เหลี่ยม มองด้านบนจะเห็นว่ารูปทรงผอมบาง มีครีบอกและครีบก้นยาว
รูปแบบปลาตะเพียน เป็นลูกผสมลำตัวป้อม ครีบยาวสวยงาม
แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบันหลายศตวรรษ
ปลากัดทุกวันนี้ยังมีลมหายใจ เคียงคู่อยู่กับสังคมไทยมาตลอดเวลาไม่สูญสลาย มันเป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่สืบสานต่อกันมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ด้วยความรัก ความศรัทธา และความหวงแหน เห็นคุณค่าว่ามันคือเอกลักษณ์ความเป็นไทยอีกชนิดหนึ่ง ที่ควรช่วยันรักษาไว้ อีกนานเท่านาน ตราบตลอดไป…
เรื่อง: เจนจบ ยิ่งสุมล
ภาพถ่าย: กนก สุพนารักษ์
“กระโดง” หมายถึง ครีบหลัง
“ตะเกียบ” หรือ “ทวน” หมายถึง ครีบท้อง
“ชายน้ำ”หมายถึง ปลายครีบก้น
“เขม่า” หมายถึง ลักษณะของสีที่เป็นรอยประอยู่ภายนอก
“นักเลงปลา” หมายถึง ผู้ที่ชอบกัดปลา
“ไล่น้ำ” หมายถึง การเอาปลาปล่อยลงในน้ำวนให้ปลาออกกำลังว่ายทวนน้ำ
“ปลาป่า” หรือ “ปลาลูกทุ่ง” หมายถึง ปลากัดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่นในท้องนา หนอง บึงฯลฯ
“ลูกสังกะสี” หมายถึง ลูกผสมระหว่างปลาลูกหม้อกับปลาป่า
“ลูกแท้” หมายถึง ลูกปลากัด ที่เกิดจากการผสมระหว่างพ่อแม่ที่เกิดในครอกเดียวกัน
“ลูกสับ” หมายถึง ลูกปลากัด ที่เกิดจากการผสมระหว่างพ่อแม่ที่เกิดต่างครอกกัน
“ลูกหม้อ” หมายถึงปลาที่คัดสายพันธุ์ เลือกสรรลักษณะมาจากครอกนั้นๆโดยตรงอย่างต่อเนื่อง
“ ลูกไล่ “หมายถึง ปลากัดตัวที่ไม่ยอมสู้กับปลาตัวอื่น และถูกนำมาใช้ในการซ้อมปลา ที่จะลงแข่งขัน ให้ไล่ออกกำลัง
“ก่อหวอด” หมายถึง กิริยาเตรียมการของปลากัดตัวผู้ที่วางแผนจะผสมพันธุ์ปลาตัวเมีย โดยเตรียมก่อหวอด ด้วยการพ่นฟองอากาศไว้เหนือผิวน้ำ
“ถอดสี”หมายถึง อาการที่สีเข้มของปลากัด จะจางลง เมื่อไม่ยอมต่อสู้ ตกใจหรือยอมแพ้
“ติดบิด “หมายถึงอาการต่อสู้ของปลากัด เมื่อตัวหนึ่งพุ่งเข้ามากัดอย่างแรง และอีกตัวหนึ่งประสานปากเข้ากัดรับ คาบติดกันแน่น บิดกัดติดกันก่อนจะปล่อย เหมือนนักมวยกอดรัดกัน
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปลากัด เหตุใดจึงได้รับเลือกให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ