ครั้งหนึ่ง พื้นที่ทะเลหลวงในหลายทวีป เคยมีฉลามและปลากระเบนอย่างอุดมสมบูรณ์ เช่น ปลาฉลามมาโกครีบสั้น (Shortfin makos) ฉลามที่มีความเร็วที่สุดโลกไล่ตามเหยื่อด้วยความเร็วมากกว่า 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปลาฉลามหัวค้อนหยัก (Scalloped hammerhead) ที่รวมตัวกันในผืนน้ำ กวาดสายตามองหาเหยื่อด้วยตาที่มีช่วงกว้างและอวัยวะรับประสาทสัมผัสที่ถูกสร้างมาเป็นพิเศษ
สัตว์เหล่านี้แหวกว่ายไปทั่วน่านน้ำเปิดอันกว้างใหญ่ไพศาลและเข้าถึงได้ยากจนบรรดาชาวประมง และแม้กระทั่งนักชีววิทยาบางคน พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่าการทำประมงเกินขนาดกำลังเป็นภัยคุกคามพวกมันในขณะนี้
“เมื่อทศวรรษที่แล้ว” Nicholas Dulvy ประธานร่วมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปลาฉลามของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (the International Union for Conservation of Nature’s Shark Specialist Group) รำลึกย้อนไปว่า “เรายังเคยมีการถกเถียงอันร้อนแรงในเรื่องการจัดให้ฉลามในมหาสมุทรเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามอยู่เลย”
ขณะนี้ การวิเคราะห์อันครอบคลุมทั้งจำนวนประชากรในอดีตและปัจจุบันได้เผยภาพที่ชัดเจนกับ Dulvy และ Nathan Pacoureau ผู้เขียนงานวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัย Simon Fraser แห่งแคนาดา ซึ่งพวกเขาพบว่า จำนวนประชากรฉลามและปลากระเบน 18 สายพันธุ์ได้ลดลงถึงร้อยละ 70 นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา จากการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Nature ในเดือนที่แล้ว ในอัตรานี้ สายพันธุ์เหล่านี้อาจสูญพันธุ์ไปทั้งหมดภายใน 1 หรือ 2 ทศวรรษข้างหน้า ผู้เขียนงานวิจัยกล่าว
ฉลามครีบขาว “ได้ลดจำนวนถึงร้อยละ 98 ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกันไปใน 3 มหาสมุทรใหญ่” โดยสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ใส่ฉลามสายพันธุ์ดังกล่าวในรายชื่อสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) แล้ว
ปลาฉลามหัวค้อนหยัก และปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ (Scalloped and great hammerhead sharks) ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน แม้ในอุตสาหกรรมการประมงจะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ฉลามในมหาสมุทรเหล่านี้มากนัก แต่ถ้ามีการจับพวกมันได้ ทั้งเนื้อ ครีบ แผ่นเหงือก และน้ำมันตับ จะถูกนำไปขายเช่นเดียวกัน
การค้นพบนี้ถือเป็นข่าวอันเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของสุขภาพของทั้งฉลามและมหาสมุทรเอง เนื่องจากผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหารนี้มีบทบาทสำคัญในสายใยอาหาร (Food Wed) ในแง่ของการควบคุมนักล่าที่มีขนาดเล็กกว่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
ดำดิ่งลงไปในข้อมูล
ในการศึกษาครั้งนี้ Dulvy และ Pacoureau ได้รวบรวมข้อมูลสัตว์ในปลาฉลาม 18 สายพันธุ์ที่เราสามารถพบเจอได้ทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของการตระหนักรู้สาธารณะของการอนุรักษ์ฉลามได้กระตุ้นให้องค์กรด้านการจัดการการประมงเริ่มเก็บข้อมูล และให้ข้อมูลใหม่ๆ กับทางทีมที่ศึกษา
ในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ได้รับชุดข้อมูลนับตั้งแต่ช่วงเวลา 1905-2018 ซึ่งข้อมูลแต่ละชุดแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรในสายพันธุ์หนึ่งๆ ภายในพื้นที่ที่ระบุเฉพาะ ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ทีมที่ศึกษาได้คำนวณข้อมูลคร่าวๆ ออกมาเป็นการคาดการณ์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ในระดับโลก
(รับชมวิดีโอ Shark 101 จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ที่นี่)
นอกจากนี้ พวกเขาคำนึงถึงปัจจัยของวิธีการทำประมงในทะเลเปิด ทั้งเชือกยาวเกลื่อนที่เต็มไปด้วยตะขอหรือแม้กระทั่งอวนขนาดใหญ่ที่มักเป็นอุปกรณ์ดักฉลามโดยไม่ได้ตั้งใจ มีการใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในช่วงครึ่งศตวรรษหลัง และจำนวนฉลามที่ติดกับอุปกรณ์ประมงเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยประมาณ
“เมื่อคำนึงรวมถึงความหายากของฉลามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้หมายความว่าโอกาสที่ปลาฉลามจะถูกจับโดยเครื่องมือเหล่านี้ได้สูงกว่าที่เคยเป็นในช่วงปี 1970 ถึง 18 เท่า” Dulvy กล่าว
อย่างไรก็ตาม Dulvy กล่าวเสริมว่า ในการวิเคราะห์ของเขาว่า อาจมีความคลุมเครือเช่นกัน และบรรดาผู้เขียนงานวิจัยมีแนวโน้มที่จะประเมินการลดลงของสายพันธุ์เหล่านี้ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำประมงเกินขนาดมาเป็นเวลาหลายสิบปี
การทำประมงมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ทั้งประชากรฉลามและปลากระเบนมีจำนวนที่ลดลง Holly Kindsvater นักชีววิทยาประชากร (Population Biologist) แห่งสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย ผู้ที่ทำการศึกษาปลากระเบนปีศาจ (Devil rays) หลายสายพันธุ์ ซึ่งกำลังมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 80 ภายในระยะเวลา 15 ปี กล่าว โดยมีผู้คนจำนวนมากที่บริโภคทั้งเนื้อ และเหงือกของมันเป็นซึ่งที่นิยมในวงการแพทย์แผนจีนโบราณ การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นว่าชาวประมงมีผลต่อการลดลงของสัตว์ชนิดอื่นๆ เมื่อจำนวนเหยื่อของสัตว์เหล่านี้ลดลงตาม
การประมงเพื่อการหาทางออก
ผลกระทบของการทำประมงเกินขนาด การดักจับสัตว์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือสาเหตุอื่นๆ ที่มีผลต่อฉลามควรเป็นการกระตุ้นให้บรรดารัฐบาลกำหนดข้อบังคับต่างๆ มากขึ้น ด้วยเป้าหมายที่ทำให้เกิดการประมงที่ยั่งยืน Dulvy กล่าว และมันเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องมีการจำกัดการค้าขายปลาฉลามและปลากระเบนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับนานาชาติ เขากล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ดังเห็นได้จากข้อเสนอในการสั่งห้ามจับปลาฉลามมาโกครีบสั้นซึ่งใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่แอตแลนติกเหนือได้ถูกสกัดกั้นโดยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากสเปนยังมีการจับปลาฉลามชนิดนี้อยู่จำนวนมาก Dulvy กล่าว
“ฉลามถือเป็นสายพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในลำดับท้ายๆ ที่จะมีการควบคุม” เขากล่าวและเสริมว่า “ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำไมถึงมีการต่อต้านในการจัดการดูแลพวกมัน”
ทางแก้ปัญหาอื่นๆ นั้นรวมไปถึงการสร้างพื้นที่สงวนทางทะเลหรือกำหนดพื้นที่ห้ามจับปลาในบริเวณที่มีปลาฉลามชุกชุม David Sims นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันของอังกฤษ ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย กล่าว
ด้าน Jessica Cramp ผู้ก่อตั้งองค์การวิจัยและอนุรักษ์ทางทะเล Shark Pacific และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยเธอได้ช่วยก่อตั้งพื้นที่ปกป้องและอยู่อาศัยของฉลามหลายแห่งในหมู่เกาะคุก (เขตปกครองตนเองของนิวซีแลนด์) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งฉลามและสายพันธุ์อพยพอื่นๆ
“พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งอพยพสำหรับสายพันธุ์เช่นฉลามครีบขาวและฉลามทราย (Silky shark)” เธอกล่าวและเสริมว่า “ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ยืนยันว่าพวกมันกำลังตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากค่ะ”