จำนวนประชากรแรดที่ใหญ่ที่สุดในโลก หายไปถึงร้อยละ 70 ภายในช่วง 10 ปี

อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ในแอฟริกาใต้ถูกโจมตีทั้งปัญหาการลอบล่าสัตว์ การคอรัปชั่น และภัยแล้ง

อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ เพชรน้ำงามแห่งอุทยานแห่งชาติในแอฟริกาใต้กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก

จำนวนแรดของอุทยานฯ ลดลงไปถึงร้อยละ 70 ไปในช่วงสิบปี ซึ่งสาเหตุโดยส่วนใหญ่เกิดจากการล่าสัตว์และผลกระทบจากการขยายพันธุ์และการรอดชีวิตของลูกแรด ตามการประเมินครั้งใหม่ขององค์การอุทยานแห่งชาติแอฟริกา (South African National Parks – SANparks) ซึ่งเป็นองค์กรที่บริหารจัดการอุทยานแห่งชาติครูเกอร์และอุทยานแห่งชาติหลักๆ ในแอฟริกา 18 แห่ง

อุทยานแห่งชาติครูเกอร์เป็นบ้านของแรดกว่า 4,000 ตัว ซึ่งลดจาก 10,000 ตัวในปี 2010 แบ่งจำนวนประชากรแรดได้เป็น แรดขาว 3,549 ตัว และแรดดำ 268 ตัว ซึ่งจำนวนแรดที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์มีจำนวนถึงร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรแรดป่าที่มีอยู่บนโลกราว 18,000 ตัว

“การสูญเสียเหล่านี้เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง ทว่า เรารู้ว่าแรดเหล่านี้พบเจอกับอัตราการตายที่ช้าลงในขณะนี้ ซึ่งนี่เป็นข่าวอย่างเป็นทางการ” Grant Fowlds ทูตอนุรักษ์ของ Project Rhino องค์การไม่แสวงหาผลกำไรของแอฟริกาใต้ กล่าว

เมื่อแรดถูกตัดนอ จะมีส่วนตอที่ต้องเหลือไว้ประมาณ 10 เซนติเมตรเพื่อให้เป็นเนื้อเยื่อพื้นฐานของนอใหม่

การล่าแรดสร้างความเสียหายกับเผ่าพันธุ์ของมันอย่างยิ่ง เนื่องจากแรดตัวเมียแต่ละตัวการตกลูกได้เพียง 10 ตัว ในตลอดชีวิตของมัน และลูกแรดที่ขาดแม่มักไม่รอดชีวิต Michael Knight หัวหน้ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญแรดขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ประเมินสถานะของสัตว์ป่าทั่วโลก กล่าว

มีการขายนอแรดเพื่อใช้เป็นยาหรือเป็นงานแกะสลัก โดยเฉพาะในจีนและเวียดนาม แม้ว่าตลาดซื้อขายจะอยู่ในสหรัฐอเมริกา อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 19,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นศูนย์กลางของการล่าแรดในแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม การล่าแรดในอุทยานฯ ครูเกอร์ลดลงนับตั้งแต่การกวาดล้างในปี 2014 อันเป็นช่วงเวลาที่แรดกว่า 800 ตัวถูกฆ่าเพื่อล่าเอานอ แต่จำนวนก็ลดลงราวครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่นั้น

นอกจากนี้ ภัยแล้งในพื้นที่อุทยานในช่วงปี 2015-2016 ทำให้มีการสูญเสียเพิ่มมากขึ้น Knight กล่าว ภัยแล้งทำให้แม่แรดตกลูกน้อยลง และแม่แรดที่ขาดน้ำก็มีน้ำนมน้อยลง ส่งผลให้มีลูกแรดจำนวนมากที่ตายไป ภัยแล้งยังส่งผลให้มันหาอาหารไม่ได้เนื่องจากหญ้าที่ขาดแคลน อัตราการตายของบรรดาแรดเหล่านั้นพุ่งสูงขึ้นถึงสองเท่าจากอัตราปกติ

แรดหลายตัวที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ส่วนตัวในแอฟริกาใต้ เช่นพื้นที่ทุ่ง John Hume’s ในเมืองเนลสไปรต์ (Nelspruit) ถูกตัดนอออกเพื่อลดโอกาสในการถูกล่า แต่นอแรดก็งอกขึ้นใหม่ทุกปี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีราคาสูงสำหรับอุทยานแห่งชาติอย่างครูเกอร์

วิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือประชากรแรด

แม้ว่าจะมีข่าวที่น่ากลัว แต่การมีเทคโนโลยีการลาดตระเวนในอุทยานฯ และอัตราการจับกุมนักล่าสัตว์ที่สูงช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ตามข้อมูลจาก SANparks การล่าแรดลดลงถึงร้อยละ 21.6 ระหว่างปี 2018 – 2019 (ส่วนช้างลดลงถึงร้อยละ 43.8)

เพื่อช่วยปกป้องแรดเหล่านี้ SANpark กำลังย้ายสัตว์ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า เช่นอุทยานแห่งชาติแห่งอื่น ซึ่งความพยายามนี้ได้ถูกหยุดกลางคันมานานนับปีเนื่องจากกระบาดของวัณโรคในแรด

อุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า

SANparks เรียกการคอรัปชันภายในองค์กรว่าเป็นสิ่งเลวร้ายและกล่าวว่า มัน “ส่งผลอย่างรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่และการต่อต้านการล่าสัตว์ป่า เช่นเดียวกับชื่อเสียงขององค์กร”

ขบวนการลักลอบล่าสัตว์สามารถแทรกซึมตามกองกำลังพิทักษ์สัตว์ของอุทยานแห่งต่างๆ ยังคงเป็นปัญหา

องค์การอุทยานแห่งชาติแอฟริกา ซึ่งจัดการอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ทำงานกับตำรวจพิสูจน์หลักฐานผู้เชี่ยวชาญเพื่อจับกุมนักล่าแรด หลักฐานดีเอ็นเอที่อยู่บนนอของแรดที่ถูกล่าสามารถเป็นหลักฐานที่ช่วยตัดสินคดีได้

ในปี 2020 มีแรดกว่า 394 ตัวถูกล่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของประเทศ ซึ่งมีในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์มากที่สุด ในปี 2020 การล็อกดาวน์เรื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นการปิดกั้นคนเข้าสู่พื้นที่อุทยาน การล่าจึงลดลง แต่เมื่อใดที่มาตรการนี้ถูกยกเลิก การล่าสัตว์ก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม ตามการรายงานของกรมสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และการประมงของแอฟริกาใต้

เมื่อปีที่แล้ว มีการจับกุมพรานล่าสัตว์ได้กว่า 66 คนในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ และอีก 90 คนจากการล่าและลักลอบค้านอแรดภายนอกพื้นที่อุทยาน แต่ Knight กล่าวว่า การดำเนินการเอาผิดจะล่าช้าเนื่องจากการปิดตัวลงของศาลจังหวัด (Skukuza  Regional Court) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ศาลคดีแรด (Rhino Court) ถูกปิดตัวลงอย่างมีข้อถกเถียง ศาลแห่งนี้มีอัตราการตัดสินผู้กระทำผิดจากคดีล่าสัตว์ในอัตราที่สูงและมีการตัดสินจำคุกที่เข้มงวด

แม้ว่าจะมีแรดที่ถูกล่ากว่า 303 ตัวในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ในช่วงเดือนเมษายน 2019 และ มีนาคม 2020 ซึ่งน้อยกว่าที่ทาง SANparks คาดการณ์ไว้ที่ 500 ตัว ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึงร้อยละ 22 จากปีงบประมาณก่อนหน้า แต่ Fowlds ก็ยังไม่มีความหวังเนื่องจากเขาคาดว่า “เพราะมีแรดให้ล่าน้อยลง” จึงเป็นเรื่องยากที่พวกพรานล่าสัตว์จะหาพวกแรดเจอ

เรื่อง DINA FINE MARON
ภาพ BRENT STIRTON


อ่านเพิ่มเติม ภาพบีบคั้นหัวใจ การต่อสู้ของแรดเพื่อความอยู่รอด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.