ค้นพบกิ้งก่าชนิดใหม่ ที่อาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เล็กที่สุดในโลก

ด้วยขนาดที่เท่ากับเมล็ดทานตะวัน สัตว์โลกที่มาจากมาดากัสการ์แห่งนี้อาจจะอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบกิ้งก่าชนิดใหม่ขนาดจิ๋วในพื้นที่ป่าฝนทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ ซึ่งมีขนาดเท่ากับเมล็ดทานตะวัน และอาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดที่เล็กที่สุดในโลก

กิ้งก่าชนิดนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Brookesia nana หรือ B. nana สัตว์ชนิดใหม่นี้มีขนาดเล็กมาก จึงคิดว่ามันมีชีวิตรอดจากการกินเห็บไรหรือแมลงหางดีด ซึ่งหาได้ตามเศษใบไม้

“เมื่อเราเห็นมันครั้งแรก เรารู้เลยว่านี่คือการค้นพบครั้งสำคัญ” Andolalao Rakotoarison ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื้อยคลานในมาดากัสการ์ และผู้เขียนร่วมของงานศึกษาชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Scientific Report กล่าว

การค้นพบสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจถึงขีดจำกัดของขนาดลำตัวสัตว์มีกระดูกสันหลัง และเน้นให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าตื่นตะลึงและถูกคุกคาในเวลาเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอีกไม่นาน กิ้งก่าตัวนี้จะอยู่ในรายชื่อของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แฝงตัวในใบหญ้า

เช่นเดียวกับกิ้งก่าประเภทอื่นๆ สัตว์เลื้อยคลานตัวจิ๋วนี้มีลิ้นลักษณะโค้งที่ใช้จับเหยื่อ ล่าเหยื่อบนพื้นของป่าฝน และล่าถอยไปยังพื้นที่ปลอดภัยบนใบหญ้าในเวลากลางคืน

กิ้งก่า Brookesia nana ตัวเมียที่ค้นพบในมาดากัสการ์ ซึ่งอาจเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เล็กที่สุดในโลก ภาพถ่ายโดย FRANK GLAW, ZOOLOGISCHE STAATSSAMMLUNG MÜNCHEN

หากมีสัตว์ชนิดที่ใหญ่กว่าเข้าหาท่ามกลางความมืด ก้านของใบหญ้าที่สั่นไหวจะเตือนภัยที่กำลังจะเข้ามาที่ตัว และก็จะหย่อนตัวหลบซ่อนภายใต้พุ่มไม้ Mark Scherz นักชีววิทยาพัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยพอทสดัมในเยอรมนี และผู้เขียนร่วมในงานศึกษานี้ กล่าว

นักวิจัยสงสัยว่ากิ้งก่าจิ๋วชนิดนี้อาจได้รับตำแหน่งสัตว์เลื้อยคลานที่เล็กที่สุดในโลก โดยสัตว์ที่เป็นคู่แข่งความเล็กจิ๋วที่ใกล้เคียงที่สุดคือ Brookesia micra กิ้งก่าขนาดเล็กที่มีการค้นพบเมื่อปี 2012

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษากิ้งก่าชนิดนี้เพียงแค่ 2 ตัว เป็นตัวผู้หนึ่งตัวและตัวเมียหนึ่งตัว จึงเป็นเรื่องอยากที่จะสรุปข้อมูลโดยทั่วไป และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีกิ้งก่าตัวอื่นในชนิดพันธุ์นี้ที่อาจจะเล็กกว่าหรือใหญ่กว่าตัวที่ค้นพบ เช่นเดียวกับความสูงของมนุษย์ที่มีความแตกต่าง นักวิทยาศาสตร์คาดว่ากิ้งก่าในวงศ์นี้มีแนวโน้มที่มีจะมีตัวเมียที่มีขนาดใหญ่กว่าหรือตัวผู้ที่มีขนาดเล็กกว่า หรือที่เรียกว่าความแตกต่างระหว่างเพศ (sexual dimorphism)

“เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่า สัตว์ที่มีขนาดเล็กเช่นนี้อยู่ในภาวะโตเต็มวัยแล้ว” Scherz กล่าว แต่นับว่าเป็นโชคดีที่เมื่อเขาได้นำกิ้งก่าตัวเมียไปผ่านกระบวนการไมโครซีทีสแกน และเขาพบหลักฐานคือไข่ที่อยู่ในรังไข่ “เหมือนกับเราได้พบสิ่งที่มายืนยันแล้วล่ะครับ” เขากล่าว

(เชิญรับชมวิดีโอ Brookesia nana – World’s Smallest Reptile จาก SciNews ได้ที่นี่)

เล็กได้แค่ไหน

นอกเหนือไปจากความน่ารัก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การค้นพบกิ้งก่าขนาดจิ๋วนี้ได้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับ ‘ขีดจำกัดของความเล็กของสัตว์มีกระดูกสันหลัง’ ว่าสามารถมีขนาดเล็กได้มากเท่าใด

ยกตัวอย่างเช่น B. nana นั้นมีขนาดเล็กกว่านกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุด Scherz กล่าวและเสริมว่า แต่ก็ยังมีสัตว์ประเภทกบที่ยังมีขนาดเล็กกว่านี้

จากจุดเดียวกันนี้ เราอาจเข้าถึงความรู้ในขีดจำกัดที่ว่าสัตว์เลื้อยคลานนั้นสามารถมีขนาดเล็กได้มากที่สุดเท่าใด ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับพื้นที่สัมผัสภายนอกของร่างกาย (surface area) ของสัตว์ Tony Gamble นักชีววิทยาวิวัฒนาการ แห่งมหาวิทยาลัยมาร์แค็ต กล่าวและเสริมว่า เรื่องราวของพื้นที่สัมผัสภายนอกของร่างกายในสัตว์เป็นสิ่งที่ขัดต่อความคิดโดยทั่วไปว่า สัตว์ขนาดเล็กมักมีแนวโน้มที่จะมีอัตราส่วนของพื้นที่ผิวสัมผัสภายนอกร่างกายที่มากกว่าสัตว์ขนาดใหญ่ และยิ่งอัตราส่วนดังกล่าวมีมากเท่าไหร่ สัตว์ก็จะยิ่งมีอัตราการสูญเสียน้ำในร่างกายมากขึ้นเท่านั้น

กิ้งก่า Brookesia nana ตัวผู้บนปลายนิ้วของนักวิจัย ซึ่งมีขนาดประมาณเมล็ดทานตะวัน ภาพถ่ายโดย FRANK GLAW, ZOOLOGISCHE STAATSSAMMLUNG MÜNCHEN

Gamble กล่าวว่า สัตว์ขนาดเล็กหลายชนิดได้มีการลดขนาดกะโหลกหรือกระดูกที่ซ้อนทับกัน หรือสัตว์บางชนิดก็สูญเสียโครงสร้างทั้งหมดระหว่างช่วงวิวัฒนาการ

“มันเหมือนกับย้ายจากบ้านขนาดใหญ่ไปยังอะพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กโดยที่ไม่กำจัดข้าวของอะไรที่มีอยู่เดิมเลย ข้าวของต้องถูกย้ายไปที่ใดสักแห่ง” เขากล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่อนาคตของกิ้งก่าขนาดจิ๋วชนิดนี้ยังคงมืดหม่น ป่าภูเขาแห่งที่สัตว์ชนิดนี้ถูกค้นพบนั้นอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างรุ่นแรง Rakotoarison กล่าว เพราะในมาดากัสการ์มีปัญหาความยากจนและประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์จำนวนมาก และเนื่องด้วยปัญหาพื้นที่ที่อยู่อาศัยของพวกมันที่กำลังลดน้อยลง ทำให้กิ้งก่าชนิดใหม่นี้ถูกกำหนดเป็นชนิดพันธุ์นี้อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ทว่า ยังมีข่าวดีที่พื้นที่อาศัยของกิ้งก่าพันธุ์ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของมาดากัสการ์แล้ว

ในขณะเดียวกัน Gamble กล่าวว่าชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ได้ย้ำเตือนให้นักวิทยาศาสตร์และบุคคลทั่วไปรับรู้ว่ามาดากัสการ์เป็นเกาะแห่งความหลากหลายทางธรรมชาติอย่างยิ่ง

เรื่อง JASON BITTEL


อ่านเพิ่มเติม ค้นพบกบจิ๋วสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดแห่งมาดากัสการ์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.