เมื่อเดือนมกราคม ปี 2012 โจรราวร้อยคนขี่ม้าออกจากชาด เข้าสู่อุทยานแห่งชาติบูบาเอ็นจีดาห์ในแคเมอรูน และสังหารช้างป่าไปหลายร้อยตัว หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการฆ่ายกครัว นี่คือการสังหารหมู่สัตว์ป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่กฎหมายห้ามค้า งาช้าง ระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1989 ด้วยอาวุธครบมืออย่างปืนอาก้าและเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี พวกเขาล้มช้างได้อย่างรวดเร็วและแม่นยําราวกับปฏิบัติการทางทหาร
จากภาพที่ปรากฏในระดับสายตา ซากช้างแต่ละตัวที่ถูกกระสุนและระเบิดฉีกกระจายคืออนุสรณ์แห่งความละโมบของมนุษย์ การลักลอบล่าช้างในปัจจุบันถึงจุดเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ และการยึดงาช้างผิดกฎหมายก็ถือว่ามากที่สุดในรอบหลายปี ภาพจากมุมสูงก็เลวร้ายไม่ต่างกันซากที่กระจายเกลื่อนคือฉากอาชญากรรมไร้เหตุผล คุณเห็นได้เลยว่าช้างตัวไหนพยายามวิ่งหนี แม่ช้างตัวไหนพยายามปกป้องลูก โขลงช้างที่ตื่นตระหนกซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 50 ตัว ถูกยิงตายยกโขลงอย่างไร นี่คือเหยื่อล่าสุดในจํานวนหลายหมื่นตัวที่ถูกฆ่าทั่วแอฟริกาในแต่ละปี และหากมองจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ทุ่งสังหารเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย หากเก่าแก่ ไร้กาลเวลา และกําลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ
เครือข่ายในฟิลิปปินส์
ในโบสถ์ที่คลาคลํ่าไปด้วยคริสต์ศาสนิกชนแห่งหนึ่ง มงซิญอร์ (บาทหลวง) กริสโตบัล การ์เซีย นักสะสมงาช้างผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในฟิลิปปินส์ กําลังนําศรัทธาชนประกอบพิธีพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อสักการะรูปเคารพทางศาสนาที่สําคัญที่สุดของชาติ นั่นคือ ซันโตนีโญเดเซบู (Santo Niño de Cebu — พระกุมารแห่งเซบู)
ชาวฟิลิปปินส์จํานวนไม่น้อยเชื่อว่า ซันโตนีโญเดเซบูคือพระเยซูคริสต์นั่นเอง ชาวสเปนในศตวรรษที่สิบหกประกาศว่า รูปเคารพนี้มีปาฏิหาริย์ และใช้รูปนี้ในการโน้มน้าวให้ชาวฟิลิปปินส์หันมาเข้ารีต รูปสลักไม้รูปนี้เปรียบได้กับรากแก้วที่ให้กําเนิดศาสนจักรคาทอลิกทั้งมวลในฟิลิปปินส์ โดยทั่วไปแล้ว ชาวฟิลิปปินส์มักมีรูปเคารพหรือ ซันโต งาช้างสองลักษณะ ถ้าไม่ใช่งาช้างแกะสลักทั้งองค์ ก็จะเป็นรูปสลักที่มือและศีรษะทําจากงาช้าง โดยบางครั้งมีขนาดเกือบเท่าคนจริง ขณะที่ร่างกายส่วนอื่นเป็นไม้ เพื่อเป็นฐานรองรับเครื่องแต่งกายอันวิจิตร
ผมมาพบการ์เซียเพื่อทําความเข้าใจเรื่องการค้างาช้างในฟิลิปปินส์ และเผื่อจะได้เงื่อนงําว่าใครอยู่เบื้องหลังงาช้างผิดกฎหมาย 4.9 ตันที่กรมศุลกากรฟิลิปปินส์ยึดได้ในกรุงมะนิลาเมื่อปี 2009 และ 7 ตันเมื่อปี 2005 รวมถึงงาช้างอีก 5.5 ตันที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ในฟิลิปปินส์แต่ทางการไต้หวันยึดได้เมื่อปี 2006 หากคํานวณคร่าว ๆว่าช้าง (ป่า) แต่ละตัวมีงาหนักเฉลี่ย 10 กิโลกรัม งาช้างเถื่อนทั้งหมดที่ยึดได้ก็น่าจะเท่ากับช้าง 1,745 ตัว
โคเซ ยูชงโก หัวหน้าตํารวจศุลกากรฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในมะนิลาหลังเหตุการณ์ยึดงาช้างครั้งใหญ่เมื่อปี 2009 ไม่นานว่า ฟิลิปปินส์คือจุดหมายปลายทางยอดนิยม ของการลักลอบขนงาช้างเถื่อน นั่นอาจเป็นเพราะชาวคาทอลิกฟิลิปปินส์ชอบรูปสลักนักบุญทําด้วยงาช้างมาก
ที่เกาะเซบู งาช้างกับศาสนามีความเกี่ยวโยงกันมากเสีย จนคําว่างาช้างในภาษาท้องถิ่นหรือ การิง (garing) มีความหมายที่สองว่า “รูปเคารพทางศาสนา” ตลาดงาช้างในฟิลิปปินส์ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดขนาดใหญ่อย่างจีน แต่ก็มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี และทํากันอย่างโจ่งแจ้งจนน่าตกใจ
งาช้างในไทย
ช้างคือสัตว์สัญลักษณ์ของไทยและถือเป็นสัตว์มงคลในพุทธศาสนา คนไทยจํานวนมากนิยมสวมพระเครื่องและของขลังนัยว่าเพื่อนําโชคและป้องกันภยันตราย ตลอดจนคุณไสย ต่างๆ ตลาดพระเครื่องในกรุงเทพฯจัดว่าใหญ่โต มีผู้ค้านับไม่ถ้วนขายเครื่องรางของขลังหลายหมื่นชิ้นที่ทําจากวัสดุต่าง ๆ ทั้งโลหะ ผงดินอัด กระดูก และงาช้าง พระเครื่องชั้นดีอาจมีสนนราคาสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่า
ประเทศไทยมีประชากรช้างเอเชียตามธรรมชาติอยู่ไม่มากนัก ช้างเอเชียเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ซึ่งห้ามค้าขายระหว่างประเทศมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายในประเทศไทยเองกฎระเบียบเหล่านี้กลับไม่เข้มงวดนัก ควาญช้างอาจขายงาช้างที่ล้มด้วยเหตุธรรมชาติได้ เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่พ่อค้างาช้างเถื่อนข้ามชาติใช้ช่องว่างนี้ในการลักลอบขนงาช้างแอฟริกาเข้ามาปนกับงาช้างเอเชีย
ไทยก็เหมือนฟิลิปปินส์ตรงที่มี ‘ปัจจัย’ เอื้อต่อการลักลอบขนสินค้าอีกตัวหนึ่ง นั่นคือการคอร์รัปชัน การคอร์รัปชันในฟิลิปปินส์ถือว่าเลวร้ายหนักข้อเช่นกัน เมื่อปี 2006 กรมคุ้มครองสัตว์ป่าฟ้องเจ้าหน้าที่ศุลกากรระดับสูงที่ทํางาช้างหลายตันที่ยึดได้ ‘สูญหาย’ เมื่อถูกตําหนิ กรมศุลกากรฟิลิปปินส์จึงส่งมอบงาช้างล็อตใหญ่ที่ยึดได้ในเวลาต่อมาให้กรมคุ้มครองสัตว์ป่านําไปดูแล แต่ในไม่ช้าก็ปรากฏว่า โกดังของกรมคุ้มครองสัตว์ป่าเองก็ถูกปล้น เช่นกัน งาช้างกองใหญ่ถูกแทนที่ด้วยงาช้างพลาสติก
เพราะนี่คือเรื่องของศรัทธา และเมื่อศรัทธาคุณก็จําต้องลบความไม่เชื่อออกไป งาช้างที่ค้าขายเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาจึงไม่ควรถูกตรวจสอบมากนักว่าจะนําไปแกะสลัก เป็นอะไร งาของพระเจ้ามีช่องโหว่อย่างไม่ต้องสงสัย
โรงงานแกะสลักงาช้างของจีน
ภายในโรงงานแกะสลักงาช้างปักกิ่ง คุณจะสัมผัสได้ทั้งกลิ่น และเสียงสมกับชื่อสถานที่ เสียงสว่านไฟฟ้าเจาะงาช้างดังอื้ออึง ฝุ่นจากงาช้างเกาะตัวหนาตามขอบหน้าต่างและประตูและปลิวเข้าปากผมขณะเดินผ่านชายหญิงที่ง่วนอยู่กับรูปสลักต่าง ๆ เช่น ฮก ลก ซิ่ว หรือเทพแห่งโชคลาภและอายุวัฒนะ พระสังกัจจายน์ และเจ้าแม่กวนอิม ไม่ว่าจะเจองาช้างที่ไหน ผมมักพบศาสนาอยู่ใกล้ ๆ เสมอ
“คนจีนเชื่อแนวคิดที่สื่อหรือสะท้อนผ่านรูปเคารพเหล่านี้ครับ” หัวหน้าโรงงานแกะสลักงาช้างต้าซินในเมืองกว่างโจวบอกผม
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม คงต้องยอมรับว่า จีนคือผู้ร้ายตัวเอ้ในโลกของการลักลอบค้างาช้าง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนมีคดียึดงาช้างล็อตใหญ่สูงกว่าประเทศนอกทวีปแอฟริกาอื่น ๆ เป็นครั้งแรกในรอบหลายชั่วอายุคนที่ชาวจีนจํานวนมากมีเงินพอจะไขว่คว้าอนาคตอันมั่งคั่ง และรํ่ารวยพอจะมองย้อนสู่อดีตอันเรืองรองได้ด้วย และหนึ่งในสิ่งแรก ๆ ที่หลายคนมองหาก็คือศาสนา
ร้านขายงาช้างและโรงงานแกะสลักทุกแห่งในจีนที่ไปเยือน ผมพบว่าชิ้นงานส่วนใหญ่เป็นศาสนวัตถุ ซึ่งรวมทั้งชิ้นที่มีมูลค่าสูงสุดหลายชิ้นด้วย ในบรรดาลูกค้าระดับสูงที่แวะเวียนมามีนายทหารจีนซึ่งมีรายได้สูงอย่างน่าแปลกใจที่มักซื้องาช้างเป็นของกํานัลให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า ตลอดจนบริษัทห้างร้านที่มอบงาช้างแกะสลักให้บริษัทคู่ค้า และเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ช่วยอํานวยความสะดวกหรือเป็นสินนํ้าใจตอบแทนความช่วยเหลือ
ตรงมุมถนนที่มีร้านขายงาช้างยอดนิยมสายหนึ่งในเมืองจีน ป้ายไฟสูงเท่าตึกสี่ชั้นเปิดวีดิทัศน์ให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้รู้จักโอกาสการลงทุนรูปแบบใหม่ที่กําลังมาแรง นั่นคือการขายอัญมณีและสินค้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่มีมูลค่าปีละ 15,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 50 ต่อปี “มีพุทธศาสนิกชนเกือบ 200 ล้านคนในจีน” ป้ายนั้นบอก ในอาคารด้านล่างมีแกลเลอรีขายศิลปวัตถุจากงาช้างโดยเฉพาะสองร้าน บนถนนสายเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายร้านที่ขายงานพุทธศิลป์ทําจากงาช้าง ถูกกฎหมายบ้าง ไม่ถูกกฎหมายบ้าง
การทดลองกับญี่ปุ่น
ย้อนหลังไปเมื่อปี 1989 หลังจากช่วงเวลาที่ทุกสิบนาที จะมีช้างตายอย่างน้อยหนึ่งตัวผ่านไปสิบปี ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศห้ามการนําเข้างาช้างโดยไม่มีข้อยกเว้น รัฐบาลเคนยาเผางาช้างในคลัง 12 ตัน และไซเตสก็ประกาศห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 1990 แต่ใช่ว่าทุกประเทศจะเห็นด้วย
ซิมบับเว บอตสวานา นามิเบีย และมาลาวี ขอ “สงวนสิทธิ์” ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่าประชากรช้างในประเทศยังมีมากพอจะทําการค้าได้ พอถึงปี 1997 ไซเตสจัดการประชุมหลักที่กรุงฮาราเร ประเทศซิมบับเว ณ ที่นั้นประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ ประกาศว่า ช้างใช้พื้นที่มากและดื่มนํ้าเยอะ พวกมันต้องจ่ายค่าอาหารและที่พักด้วยงา ซิมบับเว บอตสวานา และนามิเบียยื่นข้อเสนอต่อไซเตสว่า จะยอมรับการห้ามค้างาช้างถ้าได้รับอนุญาตให้ขายงาช้างที่ล้มเพราะเหตุธรรมชาติ
ไซเตสยอมรับการประนีประนอมดังกล่าว และสั่งให้จัด “การทดลองขาย” เพียงครั้งเดียวให้ประเทศทั้งสามกับคู่ค้าเพียงรายเดียวคือญี่ปุ่น ในปี 1999 ญี่ปุ่นซื้องาช้าง 50 ตันเป็นเงินห้าล้านดอลลาร์สหรัฐ และประกาศว่าต้องการซื้อเพิ่มอีกเกือบจะในทันที ไม่ช้าจีนก็แสดงความจํานงอยากซื้องาช้างถูกกฎหมายด้วยเช่นกัน
ก่อนจะอนุญาตให้มีการซื้อขายงาช้างอีกครั้ง ไซเตสยืนยันว่าจําเป็นต้องทราบผลการทดลองขายงาช้างให้ญี่ปุ่นในครั้งนั้นว่า การขายทําให้การฆ่าช้างหรือการลักลอบขนงาช้างเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อหาคําตอบ ไซเตสจึงเปิดตัวโครงการนับช้างที่ถูกฆ่าอย่างผิดกฎหมาย และโครงการตรวจสอบการลักลอบขนงาเถื่อน สําหรับองค์กรที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แล้ว นี่เป็นวิธีการทดลองที่แปลกประหลาดกล่าวคือ ไซเตสอนุญาตให้ขายแล้วจึงค่อยวัดผลกระทบ
เงื่อนงำอำพราง
เมิ่งเซี่ยนหลินเป็นผู้อํานวยการบริหารสํานักงานไซเตสประจําประเทศจีน เขาเข้าร่วมการประมูลงาช้างที่จัดขึ้นทางใต้ของแอฟริกาเมื่อปี 2008 เขาเล่าความลับที่น่าตกใจให้ผมฟังว่า การประมูลในแอฟริกาไม่มีการแข่งขันอะไรเลย
ญี่ปุ่นเสนอว่าแต่ละประเทศควรประมูลซื้องาช้างแยกประเภทกันและกดราคาให้ตํ่า เมิ่งเล่าว่า พวกเขาซื้องาช้างได้ในราคาถูกเสียจนเจ้าหน้าที่จากนามิเบียซึ่งเป็นประเทศแรกที่เปิดประมูล เดินตามผู้แทนจากเอเชียทีละประเทศเพื่อหาหลักฐานว่ามีการฮั้วประมูลซึ่งทําให้ประเทศของเธอมีสภาพไม่ต่างจากถูกโกงหรือไม่
กระนั้น ในมุมมองของสํานักงานเลขาธิการไซเตส การประมูลครั้งนี้ถือว่าประสบความสําเร็จ พวกเขาได้เงิน 15.5ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะนําไปมอบให้โครงการอนุรักษ์ต่าง ๆ ในแอฟริกา แม้ราคางาช้างเฉลี่ยที่ตกอยู่แค่กิโลกรัมละ 147 ดอลลาร์สหรัฐนั้นจะหมายความว่าแอฟริกาได้เงินเข้าโครงการอนุรักษ์น้อยลง
แต่จากข้อมูลของไซเตสนั่นยังหมายความว่าจีนสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเข้มงวดขึ้น กล่าวคือ การทุ่มตลาดในประเทศด้วยงาช้าง ถูกกฎหมายราคาถูกย่อมเป็นการตัดโอกาสทํามาหากินของพ่อค้างาช้างเถื่อนซึ่งไซเตสทราบมาว่าต้องจ่ายเงินสูงถึง 850 ดอลลาร์สหรัฐต่องาช้างหนึ่งกิโลกรัม ราคางาที่ถูกลงอาจทําให้การลักลอบล่าช้างลดลง นั่นเป็นสิ่งที่วิลเล็ม วินชเทเกอร์ส เลขาธิการไซเตส บอกสํานักข่าวรอยเตอร์สว่า ไซเตสยอมรับออกมาอย่างน่าตกใจว่า “สํานักงานเลขาธิการ [ไซเตส] ยังคงพยายามทําความเข้าใจแง่มุมอันหลากหลายและซับซ้อนของการค้างาช้างเถื่อน”
เดือนเมษายน 2012 ทอม มิลลิเคน สารภาพกับสํานักข่าวบีบีซีในทํานองที่ฟังดูคล้าย ๆ คําเตือนของจีนหลังการทดลองขายงาช้างให้ญี่ปุ่นว่า ”การยอมให้งาช้างถูกกฎหมายเข้าสู่ตลาดจีนทําให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นหรือไม่ ตอนนี้เราอาจจะพอพูดได้เมื่อมองย้อนกลับไปว่าเป็นเช่นนั้นจริง กล่าวคือ สิ่งนี้ทําให้ผู้บริโภคชาวจีนที่มีศักยภาพจํานวนมากเชื่อว่า พวกเขาสามารถซื้องาช้างได้อย่างถูกต้องแล้ว”
เรื่อง ไบรอัน คริสตี
ภาพถ่าย เบรนต์ สเตอร์ตัน
ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2555