พบ กระรอกบิน 2 สองชนิดใหม่ ในเทือกเขาหิมาลัย

 กระรอกบิน ชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 4876.8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หางที่เต็มไปด้วยขนฟูเป็นพวง ทำหน้าที่เหมือนหางเสือของเรือ คอยควบคุมทิศทางระหว่างมันร่อนไปในอากาศ

ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการใช้ชีวิตบนผาหินที่มีลมโกรกแรงบนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก นอกจากก้อนหินขนาดใหญ่และถ้ำแล้ว ก็ยังมีต้นไม้เพียงไม่กี่ต้นเท่านั้นที่สามารถป้องกันนักล่าและลมกระโชกแรงได้

หนึ่งในสัตว์ที่เป็นผู้อาศัยในภูมิประเทศอันสุดขั้วนี้ได้คือ กระรอกบินขน (Eupetaurus Cinereus) หนึ่งในกระรอกที่ใหญ่ที่สุดมีความยาว 0.91เมตร หนัก 2.27 กิโลกรัม และยังเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มนุษย์รู้จักน้อยที่สุดในโลก โดยค้นพบครั้งแรกเมื่อ 130 ปีที่แล้ว สัตว์ฟันแทะขนาดเท่าแมวบ้านนี้ เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไป จนกระทั่งมี “การค้นพบใหม่” ในปี 1990

คริสโตเฟอร์ เฮลเกน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียน มักให้ความสนใจกับสัตว์ที่ยังเป็นปริศนาทางวิทยาศาสตร์  

เขารู้สึกทึ่งกับการพบเจอกระรอกในเทือกเขาหิมาลัยครั้งล่าสุด เฮลเกนยังเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ศึกษากระรอกบินขนพร้อมกับเพื่อนร่วมงานของเขา และตัดสินใจศึกษาข้อมูลเชิงลึกของสายพันธุ์อันเร้นลับ โดยตรวจสอบตัวอย่างที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์พิพิธภัณฑ์ และรวบรวมข้อมูลจากการสังเกต เช่น ภาพจากกล้องดักถ่าย

ผลการศึกษาของพวกเขาเผยให้เห็นถึงสิ่งที่พลิกความคาดหมาย พวกเขาพบว่า จริงๆ แล้ว กระรอกบินขนเป็นสัตว์สองชนิดพันธุ์ที่แยกจากกัน ซึ่งอาศัยอยู่ห่างกันหลายพันกิโลเมตรบนหลังคาโลก นั่นคือกระรอกบินขนทิเบต (Eupetaurus Tibetensis) และกระรอกบินขนยูนนาน (Eupetaurus Nivamons

ชนิดแรกอาศัยอยู่บนพื้นที่ติดกันของอินเดีย ภูฎานและทิเบต ในขณะที่อีกขนิดพันธุ์อาศัยอยู่ทางตะวันตกห่างออกไปหลายพันกิโลเมตรในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ตามรายงานการศึกษาที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ในวารสาร Zoological Journal of the Linnean Society.

“การค้นพบนี้น่าตื่นเต้นมาก” จอห์น โกปรอฟสกี  ผู้เชี่ยวชาญกระรอกจากมหาวิทยาลัยไวโอมิง ซึ่งเป็นผู้อ่านงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวและเสริมว่า “สัตว์ขนาดใหญ่สองตัวที่มีความสัมพันธ์กันไม่เคยถูกรายงานมาก่อน แสดงให้เห็นว่า เรารู้เกี่ยวกับโลกธรรมชาติเพียงน้อยนิด”

นักสัตววิทยาไม่กล้าอธิบายเรื่องนี้

หน้าผาหินสูงชันเป็นถิ่นอาศัยของกระรอกบินขน และในระดับความสูงเกือบ 4876.8 เมตร ยังเป็นพื้นที่ห่างไกล และไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งว่า ทำไมนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกเพียงไม่กี่คนที่ได้เห็นสัตว์ชนิดนี้ในธรรมชาติ กระรอกขนมีพฤติกรรมออกหาอาหารเวลากลางคืน และขนสีน้ำตาลอมเทาซึ่งกลมกลืนไปกับโขดหิน ยิ่งทำให้มองเห็นตัวได้ยากขึ้น นักสัตววิทยา โอลด์ฟิลล์ โธมัส ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปี 1888 ว่า “ไม่มีนักสัตววิทยาคนไหนกล้าอธิบายเกี่ยวกับกระรอกบินขน”

จากนั้นในปี 1994 นักสัตววิทยา ปีเตอร์ ซาเลอร์ ก็ได้ “ค้นพบ” สัตว์ตัวนี้อีกครั้งในพื้นที่ห่างไกลของปากีสถาน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์ที่ลึกลับนี้  พวกมันมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินใบต้นสนที่เรียวเล็กเหมือนเข็มเย็บผ้าของต้นสนจูนิเปอร์ ฟันซี่ยาวทุกซี่ของมันมุ่งไปหาใบไม้ที่มีไขเคลือบไว้ และแทะเอาเฉพาะเนื้อใบที่อุดมไปด้วยสารอาหาร

กระรอกบินขนยูนนาน อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประจีน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง / ภาพถ่าย QUAN LI

“กระรอกบิน” ก็เป็นการเรียกชื่อที่ผิดเช่นกัน สัตว์เหล่านี้ ใช้วิธีการร่อนไปมาระหว่างโขดหินและหน้าผา โดยใช้แผ่นผิวหนังที่ยึดติดระหว่างขาหน้าและขาหลังของพวกมัน

หางฟูเป็นพุ่มที่ยาวเท่ากับช่วงลำตัว ทำหน้าที่เป็นหางเสือ และเป็นร่มเมื่อฝนตกกะทันหัน ขนาดตัวที่ใหญ่ยังช่วยรักษาความร้อนในร่างกาย เมื่อต้องอาศัยอยู่บนภูเขาที่เย็นยะเยือก เช่นเดียวกับขนหนานุ่มของพวกมัน

เปิดเผยความลับของกระรอก

ยิ่งเฮลเกนและสตีเฟน แจ็กสัน เพื่อนร่วมงานของเขา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระรอกมากขึ้น พวกเขาก็ยิ่งเชื่อว่าเทือกเขาหิมาลัยอาจจะเป็นบ้านของกระรอกบินขนขนาดยักษ์มากกว่าที่คิด 

เมื่อทั้งคู่ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แปดแห่งทั่วโลกเพื่อตรวจสอบตัวอย่างกระรอกบินขน 24 ตัวอย่าง ซึ่งตัวล่าสุดมีอายุเกือบ 50 ปีแล้ว เฮลเกนและแจ็กสันพบว่า รูปร่างกะโหลกศีรษะของกระรอกแสดงให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญ นอกจากนี้พบว่า  E. tibetensis ที่พบในธิเบต มีปลายหางสีดำที่ซึ่งไม่พบในที่อื่นพร้อมทั้งผลการวิเคราะห์พันธุกรรมยืนยันว่า ทั้งสองตัวเป็นคนละชนิดพันธุ์ 

เมลิสสา โรเบิร์ต ฮวอกกินส์  ภัณฑารักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และผู้เชี่ยวชาญด้านกระรอกของสถาบันสมิธโซเนียน กล่าวว่า “ชนิดพันธุ์เหล่านี้รออยู่ในพิพิธภัณฑ์มาหลายร้อยปีเพื่อเปิดเผยความลับ”

ฮวอกกินส์กล่าวว่า การศึกษาสันฐานวิทยา และพันธุกรรม เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับศึกษากระรอกบินเพราะ “กระรอกสองตัวที่ดูแตกต่างกันมากอาจเป็นชนิดพันธุ์เดียวกัน ในทางตรงกันข้าม กระรอกสองตัวที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกัน อาจถูกแยกจากกันด้วยวิวัฒนาการมาหลายปี”

เนื่องจากวิธีการศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการรวบรวมและทบทวนตัวอย่างชนิดพันธุ์ที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ จึงมีตัวอย่างในจำนวนจำกัด เฮลเกนกล่าวว่า สิ่งที่เราไม่รู้คือจำนวนประชากร ขนาด และภัยคุกคามของกระรอก

“นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น” เฮลเกนกล่าวและเสริมว่า “ตอนนี้ พวกมันได้รับการตั้งชื่อแล้ว นักวิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกมันได้” 

เรื่อง แคร์รี อาร์โนลด์

แปลและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิกฤตชีวิตช้างไทย ในห้วงการขาดนักท่องเที่ยวจากโควิด-19

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.