ฉลาม นักล่าแห่งท้องทะเลไทย ที่กำลังสิ้นลายเพราะมนุษย์

ฉลาม – เมื่อนักล่าสิ้นลาย

[ เผชิญหน้า ]

สัมผัสจากนํ้าเย็นเยียบบนใบหน้าในเวลาเช้ามืด ปลุกผมให้หายง่วงงุนเป็นปลิดทิ้ง ผมว่ายนํ้าออกไปจากชายฝั่งอ่าวเทียนออก ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านแนวซากปะการังผุพังจนมาถึงกลางอ่าว และเริ่มเฝ้ารออยู่กลางท้องนํ้าเยียบเย็น อ่าวแห่งนี้เคยอุดมไปด้วยแนวปะการังเขากวางที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นํ้าหลากหลายชนิด ทว่าเมื่อปี พ.ศ. 2541 เกิดเหตุปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้างจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังแทบไม่เหลือหลอ

ผมลอยตัวนิ่งอยู่พักใหญ่ท่ามกลางแสงสลัวที่ส่องลอดผ่านผิวนํ้าและแนวปะการังที่แทบจะร้างสิ่งมีชีวิต ทันใดนั้น ผมเห็นเงาดำลิบ ๆ เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ ไม่กี่อึดใจ “ฉลามหูดำ” (Carcharhinus melanopterus) มากถึงสี่ตัวก็เผยโฉมออกมาจากเวิ้งนํ้าขณะฟ้าเริ่มสางราวกับนักแสดงบนเวทีละครเปิดตัวจากฉากม่านกล พวกมันว่ายวนเวียนทิ้งระยะเพื่อสังเกตแขกผู้แปลกหน้าก่อนจะว่ายจากไปหาอาหารเช้าอย่างที่เคยเป็นมาทุกวัน

ฉลามหูดำเป็นฉลามขนาดเล็กที่โตเต็มวัยยาวราว 1.8 เมตร ฉลามชนิดนี้ถือว่าพบเห็นได้ง่าย เมื่อเทียบกับฉลามชนิดอื่น ๆ มากกว่า 60 ชนิดที่พบในน่านนํ้าทะเลไทยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะถิ่นอาศัยของพวกมันอยู่บริเวณแนวปะการังนํ้าตื้นใกล้ชายฝั่ง

นักท่องเที่ยวถ่ายรูปคู่กับภาพฉลามขาวยักษ์ที่ภูเก็ตทริกอายมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ภาพวาดสามมิติในจังหวัดภูเก็ต แม้ทุกวันนี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฉลามจะดีขึ้นมาก แต่ภาพลักษณ์อันน่าพรั่นพรึงของฉลามจากภาพยนตร์และสื่อกระแสหลักยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมไม่เสื่อมคลาย

แม้ท่วงทีของพวกมันจะดูผ่อนคลาย แต่การถ่ายภาพฉลามกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุที่พวกมันเรียนรู้ว่าในบริเวณที่มีกิจกรรมประมงหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างกลางอ่าวไทยนี้ พวกมันไม่ควรไว้วางใจสถานการณ์ใด ๆ ที่ผิดปกติวิสัย หรืออย่างน้อยก็ควรอยู่ให้ห่างจากแขกแปลกหน้าอย่างผม

นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ฉลาม “เปิดตัว” สู่สายตาชาวโลกด้วยบทบาท “นักฆ่าผู้กระหายเลือด” ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดังที่สร้างต่อเนื่องกันหลายภาคอย่าง จอว์ส (Jaws) ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในยุคหลัง ๆ ที่มีฉลามเป็นวายร้ายของเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่ในสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติที่สร้างภาพให้ฉลามเป็นนักล่าผู้น่าพรั่นพรึง นับจากนั้นเป็นต้นมาคนทั้งชั่วรุ่นกระทั่งถึงปัจจุบันยังคงฝังใจกับภาพอันน่าสยดสยองเหล่านั้นไม่มากก็น้อย

ฉลามหัวบาตรถูกลากขึ้นรถซาเล้ง หลังถูกประมูลเพื่อนำไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ฉลามชนิดนี้อยู่ในบัญชีสิ่งมีชีวิตที่ใกล้ถูกคุกคามโดยสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น

ทว่าในความเป็นจริง ในแต่ละปีมีมนุษย์ถูกฉลามทำร้ายน้อยมาก สถิติจากฐานข้อมูลระดับโลกที่เรียกย่อๆ ว่า ไอแซฟ (International Shark Attack File: ISAF) ระบุว่า เฉลี่ยแล้วในปีหนึ่ง ๆ มีเหตุการณ์มนุษย์เสียชีวิตจากฉลามทั่วโลกไม่ถึง 10 คน เรียกได้ว่าน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่นที่ทำร้ายมนุษย์หรืออุบัติเหตุบนท้องถนนชนิดเทียบกันไม่ติด อีกทั้งยังมีฉลามเพียงไม่กี่ชนิดที่อาจเป็นภัยคุกคามหรือมีโอกาสทำอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ฉลามหัวบาตร ฉลามเสือ และฉลามขาว เป็นต้นซึ่งทั้งหมดล้วนพบเห็นได้ยาก ไม่เว้นแม้แต่สำหรับนักประดานํ้าหรือกระทั่งนักวิจัยฉลามเอง

[ สิ่งที่หายไป ]

“ฉันไม่เคยเห็นฉลามเยอะขนาดนี้มาก่อนเลย” เมทเทอ ชอนนิง เพื่อนร่วมทีมวิจัยสาวชาวเดนมาร์กของผม เอ่ยด้วยนํ้าเสียงตื่นเต้น หลังจากเห็นบรรยากาศที่สะพานปลาจังหวัดระนอง กลิ่นคาวปลาคละคลุ้งไปทั่ว ท่ามกลางเสียงจอแจและความคึกคักยามเช้า “จริง ๆ แล้ววันนี้ก็ไม่ได้เยอะเลยนะ เธอน่าจะได้เห็นอย่างที่ฉันเคยเห็น เยอะกว่านี้หลายเท่า” ผมบอกเธอพลางนึกถึงวันแรกที่ผมเริ่มทำงานวิจัยในตลาดแห่งนี้เมื่อสองปีก่อน ผมพบเห็นฉลามหลายสิบชนิดอย่างฉลามหัวค้อน ฉลามหนู ฉลามเสือ และอีกหลายชนิดที่ไม่เคยพบเห็นตัวจริงมาก่อน ในธรรมชาติวางกองพะเนินอยู่ตรงหน้า ทว่าในวันนี้จำนวนฉลามที่พบเห็นกลับลดลงอย่างมาก ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในชั่วระยะเวลาเพียงสองปี

ลูกเรือชาวพม่ากำลังขนย้ายถังบรรจุปลาที่จับได้บนเรืออวนลากสัญชาติไทยซึ่งออกทำประมงยามคํ่าคืนในน่านนํ้าของหมู่เกาะมะริด ประเทศเมียนมา (พม่า) ฉลามส่วนใหญ่ที่จับได้จากการทำประมงของเรือไทยมักมาจากเครื่องมือประมงประเภทอวนลาก คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 90 ของฉลามที่จับได้ทั้งหมด

บอริส เวิร์ม ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น (IUCN) ประเมินว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ฉลามถูกจับขึ้นมาราว 107 ล้านตัวต่อปี ภัยคุกคามหลักคืออุตสาหกรรมประมงประชากรฉลามในธรรมชาติเหลือน้อยมาก จนถูกจัดให้เป็นกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ฉลามถูกจับขึ้นมาราว 107 ล้านตัวต่อปีภัยคุกคามหลักคืออุตสาหกรรมประมง

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีรายงานจากกรมประมงว่า ในช่วงระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2555 จำนวนฉลามที่อุตสาหกรรมประมงไทยจับได้ลดลงถึงร้อยละ 90 สอดคล้องกับรายงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก งานวิจัยชิ้นหนึ่งของแดเนียล พอลลี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ชี้ว่า ปลากระดูกอ่อนอย่างฉลามและกระเบนเป็นกลุ่มปลาที่สูญหายไปจากท้องทะเลมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ และส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

พ่อค้าปลากำลังตัดแต่งเศษเนื้อและกระดูกอ่อนจากครีบอกของฉลามหัวบาตร เพื่อขายเป็นหูฉลามสดก่อนจะนำไปตากแห้งเพื่อเป็นส่วนประกอบหลักของซุปหูฉลาม

“ฉลามแทบไม่เหลือในทะเลไทยแล้วละ ที่เห็นๆ อยู่นี่มาจากพม่าหรืออินเดียทั้งนั้นแหละ” พ่อค้าปลาวัยกลางคนที่ตลาดปลาจังหวัดระนองเอ่ยขึ้นเมื่อผมถามถึงที่มาของกองปลาตรงหน้า “มันก็ได้น้อยลงเรื่อย ๆ มานานแล้วนะ จับกันอย่างนี้ทุกวัน เดี๋ยวก็หมดอยู่แล้ว พวกมันออกลูกไม่ทันหรอก” เขาแสดงความเห็นจากประสบการณ์ยาวนานหลายปีในสะพานปลาแห่งนี้

“ลูกฉลามพวกนี้ติดอวนมาหมดเลยหรือครับ” ผมถามพลางชี้ไปที่กองซากปลาฉลามหัวค้อนวัยเยาว์ที่วางระเกะระกะอยู่บนพื้นมากกว่าสิบตัว

“ใช่ แต่ไม่ค่อยเจอตัวใหญ่ ๆ แล้วนะ เดี๋ยวนี้มีแต่ตัวเล็ก ๆ” เขาตอบ

หากคะเนจากสายตา ลูกฉลามหัวค้อนที่เห็นอยู่ตรงหน้ามีความยาวเฉลี่ยราว 40 เซนติเมตร ร่องรอยสายสะดือที่ยังติดอยู่กับร่างบ่งชี้ว่า พวกมันเป็นลูกฉลามหัวค้อนวัยแรกเกิด

ภาพนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงฉลามโตเต็มวัยจะถูกล่าอย่างหนัก แต่แหล่งอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนยังถูกคุกคามอีกด้วย ฉลามหัวค้อนเป็นหนึ่งในชนิดพันธ์ุฉลามที่ลดจำนวนลงมากที่สุด และถูกจัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์

ฉลามหัวบาตรที่กองพะเนินเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกอ่อนวัยแรกเกิด

ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ฉลามลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วคือลักษณะทางชีววิทยาที่แตกต่างจากปลาชนิดอื่นๆ โดยภาพรวมฉลามแทบทุกชนิดเติบโตช้า อายุยืนยาวและออกลูกในจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปลามากมายหลายชนิดที่วางไข่ได้คราวละนับแสนนับล้านฟอง นอกจากนี้ ฉลามหลายชนิดยังตั้งท้องและออกลูกเป็นตัว ดังนั้น การจัดการการประมงที่ออกแบบมาสำหรับจัดการปลาทั่วไป จึงไม่สามารถนำมาใช้กับฉลามซึ่งเป็นปลาที่ฟื้นจำนวนช้าได้เลย

[ ค้นหาจิ๊กซอว์ ]

กลางห้องกว้างนั้นมีถังดองตัวอย่างสัตว์และขวดโหลสารพัดวางเรียงรายอยู่ใต้แสงไฟฟลูออเรสเซนส์สีขาวบาดตา และเมื่อ ดร.วิลเลียม ไวต์ เปิดถังแช่ตัวอย่างที่อัดแน่นไปที่ดองซากฉลามเหล่านั้นไว้อย่างดีก็ระเหยโชยเข้าจมูกจนแสบฉุน “ที่นี่รวบรวมและเก็บรักษาตัวอย่างปลาไว้มากกว่าแสนชนิดครับ” เขาบอก ดร.วิลเลียมเป็นนักมีนวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานฉลามจากองค์การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation: CSIRO) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย

“งานอนุกรมวิธานเป็นพื้นฐานของการศึกษาสิ่งมีชีวิตสำหรับฉลามยังมีชิ้นส่วนปริศนาอีกมากที่ยังขาดหายไปซึ่งเราต้องเติมให้เต็มครับ” เขาอธิบาย

พ่อครัวกำลังนำหูฉลามแห้งที่ได้รับการจัดเตรียมอย่างดีไปประกอบอาหารเป็นซุปหูฉลามในภัตตาคารแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ อุตสาหกรรมหูฉลามเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ฉลามถูกล่าอย่างเป็นลํ่าเป็นสันเนื่องจากมีราคาสูงโดยตลาดบริโภคใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ประเทศจีน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดร.วิลเลียมค้นพบฉลามชนิดใหม่หลายชนิด “คุณดูนั่นสิ ฉลามในโหลตรงนั้นเป็นฉลามชนิดใหม่ของโลกที่ผมเพิ่งเอาตัวอย่างกลับมาจากเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย” เขาว่าพลางชี้ไปยังขวดโหลที่บรรจุตัวอย่างฉลาม พวกมันดูราวกับยังมีชีวิต “ตัวอย่างเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต การจำแนกชนิดพันธุ์ที่แตกต่างทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจลักษณะทางชีวภาพ หรือโครงสร้างประชากรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านการจัดการประมงและการอนุรักษ์พวกมันได้ครับ” เขาอธิบาย

โดยภาพรวมฉลามแทบทุกชนิดเติบโตช้าอายุยืนยาวและออกลูกในจำนวนที่น้อยมาก

ปัจจุบัน มนุษย์จำแนกฉลามได้แล้ว 536 ชนิด และยังมีการค้นพบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้านฉลามชี้ว่าเป็น “ช่องโหว่” ขนาดใหญ่ขององค์ความรู้ด้านฉลามและยังเป็นพื้นที่ที่ใช้เป็นกรณีศึกษาถึงผลกระทบจากการทำประมงทำลายล้างที่มีต่อฉลามอีกด้วย

ดร.เจมส์ ทรู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยความเป็นเลิศ ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทยกำลังตรวจสภาพตัวอย่างฉลามที่ถูกจับโดยเรือประมง

“น่านนํ้าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ตกสำรวจที่ยังไม่เคยมีใครเข้าไปทำงานวิจัยมาก่อน เกาะหลายแห่งมีความพิเศษอยู่ในตัวเอง ทั้งสภาพพื้นที่และสายพันธุ์สัตว์ เช่น ปาปัวนิกินี เกาะฮามาฮีรา และหมู่เกาะที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทำให้ฉลามหลายชนิดไม่พบในบริเวณอื่น นอกจากสถานที่ที่มันเพิ่งถูกค้นพบครับ” ดร.วิลเลียมบอกและเสริมว่า ในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา มีการค้นพบฉลามชนิดใหม่ ๆ จากทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับสิบชนิด “น่าแปลกใจนะครับว่า สัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหล่านี้หลุดรอดสายตาของมนุษย์มาเป็นเวลาหลายร้อยปีได้อย่างไร” เขาตั้งคำถามซึ่งดูจะมีคำตอบในตัวเองอยู่แล้วว่า เรายังต้องศึกษาพวกมันต่อไป

[ เปลี่ยนความเชื่อ ]

ในบรรดาเมนูขึ้นโต๊ะจีนทั้งหมด “ซุปหูฉลาม” เคยครองตำแหน่งเมนูชูโรงอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อด้านสรรพคุณบำรุงร่างกาย หรือภาพลักษณ์อันหรูหรา ซุปหูฉลามเป็นเมนูอาหารราคาสูงลิ่ว และยังบ่งบอกถึงฐานะอันมั่งคั่งของเจ้าภาพ รวมทั้งเป็นการให้เกียรติแก่แขกผู้มาร่วมงาน

ธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงของจีนด้วยสนนราคาหลักหมื่นบาทต่อกิโลกรัม (แบบแห้ง) ทำให้ฉลามถูกล่าสังหารอย่างหนักเพื่อเอา “ครีบ” ซึ่งเป็นส่วนที่นำมาบริโภค โดยตลาดสำคัญอยู่ที่ประเทศจีนและเมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวจีนมีรายได้มากขึ้น กองเรือประมงจึงออกล่าฉลามกันอย่างเป็นลํ่าเป็นสันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่โตวันโตคืน อุตสาหกรรมล่าฉลามเฟื่องฟูมากแถบแปซิฟิกและแอฟริกา บอริส เวิร์ม และคณะจากไอยูซีเอ็นประเมินว่า ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ฉลามราว 73 ล้านตัวถูกล่าในแต่ละปีเพื่อเอาครีบเพียงอย่างเดียว

การอ่านอายุขัยของฉลามทำได้จาก “วงปี” ที่ฝังอยู่ในกระดูกสันหลัง

กรรมวิธีล่าฉลามไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน จนกระทั่งเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา องค์กรอนุรักษ์แห่งหนึ่งเปิดโปงกรรมวิธีล่าฉลามอันโหดร้ายผ่านทั้งวิดีโอและภาพถ่าย โดยชาวประมงจะจับฉลามขึ้นจากทะเลเลือกตัดเฉพาะครีบและหางจนเลือดนองเต็มพื้นเรือก่อนจะโยนร่างที่เหลือทิ้งลงทะเลทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิต ภาพความโหดเหี้ยมนั้นปลุกกระแสเสียงเรียกร้องให้สังคมทบทวนธรรมเนียมการบริโภคหูฉลาม ซึ่งเป็นตลาดหล่อเลี้ยงการทำประมงที่ไร้ความรับผิดชอบ

“ผมว่ามันเป็นขนบธรรมเนียมผิด ๆ นะ ทรมานสัตว์แถมยังแทบไม่มีสารอาหารอะไรเลย เป็นแค่ความเชื่อล้าสมัย” ติณณ์ อินทพิเชฎฐ์ เจ้าบ่าวหนุ่มวัย 26 ปี กล่าว เขาเลือกที่จะไม่เสิร์ฟเมนูยอดฮิตจานนี้ในคืนวันแต่งงานของตัวเอง “ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจครับ คิดว่าเป็นอาหารอย่างหนึ่ง แต่พอได้รับรู้ถึงวิธีการล่าฉลามอันโหดร้าย ก็ไม่คิดว่าจะกินอีกแล้ว พออธิบายเรื่องนี้ ให้คนในครอบครัวฟัง ก็ไม่มีใครคัดค้าน” เขาอธิบายด้วยเหตุผลตามแบบคนรุ่นใหม่

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแสต่อต้านการบริโภคหูฉลามเริ่มเห็นชัดเจน ไม่เว้นแม้กระทั่งในประเทศจีนซึ่ง เป็นผู้บริโภครายใหญ่และขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหูฉลามของโลก มีการโฆษณารณรงค์ปฏิเสธการบริโภคหูฉลามนำโดย เหยาหมิง นักบาสเกตบอลชื่อดังของจีน ขณะที่สายการบินใหญ่หลายสายปฏิเสธการขนส่งหูฉลาม โรงแรมหลายแห่งยกเลิกการเสิร์ฟเมนูหูฉลามหรือแม้กระทั่งรัฐบาลจีนมีคำสั่งห้ามเสิร์ฟหูฉลามในงานเลี้ยงของข้าราชการ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งเคยมีรายงานว่าภัตตาคารย่านเยาวราชเสิร์ฟซุปหูฉลามกว่า 20,000 ถ้วยต่อเดือน ก็มีการรณรงค์ให้เลิกบริโภคและยกเลิกเมนู ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลให้มูลค่าตลาดหูฉลามลดฮวบลงมากกว่าครึ่ง

แม้จะมีภาพลักษณ์ของความน่ากลัว แต่ฉลามยังคงเป็น “ดารานำ” อยู่เสมอ เมื่อพวกมันปรากฏตัวในส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สัตว์นํ้าอย่างที่ศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์นํ้าในห้างสรรพสินค้ากลางกรุงเทพฯ แห่งนี้

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน เธออาจเห็นหูฉลามผึ่งแดดเรียงอยู่ตามข้างถนน แต่ฉันเองก็ไม่เห็นมานานแล้วนะ” แอ๊ปเปิ้ล ชุย นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ตอบคำถามของผมผ่านโปรแกรมสนทนาข้ามประเทศ “หลัก ๆ คงเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นถ้าเธออยากจะมาถ่ายภาพหูฉลามที่นี่ คงไม่น่าจะได้เห็นแล้วละ” คำอธิบายของเธอทำให้ผมนึกถึงทัศนคติของคนรุ่นใหม่อย่างติณณ์

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะไม่มีอุตสาหกรรมการล่าฉลามโดยตรง ทว่าพวกมันมักจะติดร่างแหมาระหว่างการจับสัตว์นํ้าชนิดอื่น หรือที่เรียกว่า Bycatch ที่ตลาดปลาแห่งหนึ่ง แมลงวันฝูงใหญ่กำลังบินตอมเศษชิ้นเนื้อกระจัดกระจายและกองเลือดที่เจิ่งนองบนพื้นปูน คนงานกำลังเร่งขนเศษปลาเล็กปลาน้อยหรือที่เรียกว่า “ปลาเป็ด” ขึ้นรถบรรทุก ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตํ่าและติดมากับอวน พวกมันจะถูกส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูปเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ท่ามกลางปลาหลากหลายชนิด

ผมยืนอยู่หน้าซากฉลามหัวบาตร (Carcharhinus leucas) ขนาดร่วมสามเมตร “พวกนักอนุรักษ์ไม่เข้าใจผมหรอก พวกเขาคงไม่เคยมาเหยียบที่นี่ด้วยซํ้า” พ่อค้าปลาคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตช่างเครื่องตัดพ้อ เขาผันตัวมาจับงานแปรรูปฉลามหลังโดนพิษเศรษฐกิจเล่นงาน

เมทเทอ ชอนนิง นักวิจัยชาวเดนมาร์ก มองดูกรามตากแห้งของฉลามหัวบาตรที่วางขายอยู่ในร้านของที่ระลึกแห่งหนึ่งบนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตนอกจากหูฉลามจะมีราคาแพงลิ่วแล้ว ชิ้นส่วนอื่นๆ มักได้รับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย

“ที่นี่เราใช้ฉลามทั้งตัวไม่ได้ตัดหูทิ้งลงทะเลเป็น ๆ แบบที่เขาพูดกัน” เขาชี้แจง ด้วยความที่ฉลามมีราคาดีเฉพาะส่วนครีบ จึงส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปชิ้นส่วนอื่น ๆ ตามมาเพื่อไม่ให้สูญเปล่า “ฉลามพวกนี้ถูกรวบรวมมาพร้อมกับปลาอื่น ๆ โดยการทำประมงหลากหลายวิธีครับ เราเลือกไม่ได้หรอกว่าจะเอาปลาอะไรขึ้นมาบ้าง หย่อนเบ็ดบางทีก็ได้ปลาโอปลากระโทงแทง ถ้าอวนล้อมหรืออวนลากยิ่งแล้วใหญ่เจอตัวอะไรก็กวาดขึ้นมาหมด” พ่อค้าปลาคนเดิมเสริม

ฉลามถูกแปรรูปสารพัด ทั้งดองเกลือทำปลาเค็ม แปรรูปเป็นลูกชิ้น หรือกระทั่งนำมาบริโภคแบบเนื้อปลาทั่วไปตับฉลามมีขนาดใหญ่และอุดมไปด้วยนํ้ามันจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

“ถ้าจับมาตัวเล็กเกินไปก็จะถูกนำมาตากแห้งเป็นของกินเล่นของสัตว์เลี้ยงแทน ที่จริงแล้วฉลามหนึ่งตัวนี่ทำอะไรได้หลายอย่างนะ มันคือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรรูปแบบหนึ่งนั่นแหละ แล้วก็เป็นอาชีพสุจริตเพื่อยังชีพ พวกเราก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน” เขาสรุป

ในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมามีการค้นพบฉลามชนิดใหม่ๆ จากทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับสิบชนิด

[ ความหวังเล็ก ๆ ]

“ปัจจุบันข้อมูลเรื่องฉลามในประเทศไทยยังมีน้อยมากครับ เพราะพวกมันไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจที่คนสนใจ” ดร.เจมส์ ทรู แห่งสถาบันวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย (Excellence Center for Biodiversity of Peninsula Thailand) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวและเสริมว่า ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ฉลามในน่านนํ้าไทยถูกจับเกินขนาดที่ประชากรจะรองรับได้ จนพูดได้ว่าเกือบสูญสิ้นไปจากระบบนิเวศแล้ว

“มีฉลามเพียงไม่กี่ชนิดครับที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ได้ ฉลามที่นำขึ้นมาเทียบท่าเรือในไทยเกือบทั้งหมดถูกจับมาจากน่านนํ้าต่างชาติทั้งนั้น อันที่จริง ประชากรฉลามในน่านนํ้าไทยสูญหายไปจนล่วงเลยวลีที่ว่าเคยมีการประมงฉลามแล้วด้วยซํ้าครับ” เขาบอกพร้อมรอยยิ้มเศร้า ๆ

ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทิศทางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแนวใหม่ อาจเป็นความหวังเล็ก ๆ ของการอนุรักษ์ฉลามก็เป็นได้ การสำรวจเกี่ยวกับฉลามสีเทา (Carcharhinus amblyrhynchos) ตามจุดดำนํ้าหลายแห่งในประเทศปาเลา (Palau) ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก พบว่า ตลอดช่วงชีวิตของฉลามตัวหนึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินได้ถึงเกือบสองล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของหมู่เกาะที่โด่งดังเรื่องการดำนํ้าชมฉลามแห่งนี้

ครีบหรือ “หู” ของฉลามหูดำและส่วนร่างกายที่หายไปนี้ คือตัวแทนของฉลามมากมายที่กำลังถูกคุกคามจนจำนวนลดลงมาก คาดว่าบางชนิดประชากรอาจลดลงมากกว่าร้อยละ 90 ภัยคุกคามหลักมาจากการทำประมง ปัจจุบัน ฉลามอยู่ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก

“นักดำนํ้าส่วนมากอยากเห็นฉลามในท้องทะเล พวกเขายอมจ่ายมากขึ้นเพื่ออนุรักษ์พวกมันไว้ และปรากฏว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตรงนั้นกลับใหญ่โตกว่ารายได้จากการประมงปลาฉลามเสียอีก” ดร.เจมส์อธิบายและชี้ว่านั่นอาจทำให้การอนุรักษ์ฉลามมีความหวังขึ้นมาได้

“ตอนนี้ผู้คนเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของฉลามต่อระบบนิเวศทางทะเลทั้งในแง่การเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์และการควบคุมสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในห่วงโซ่อาหาร แถมยังมีเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย”ความก้าวหน้าของแหล่งดำนํ้าดูฉลามในประเทศปาเลาส่งผลให้รัฐบาลของประเทศหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ออกกฎหมายห้ามทำการประมงฉลามอย่างเบ็ดเสร็จเป็นประเทศแรกของโลก เช่นเดียวกับประเทศมัลดีฟส์ที่ประเมินค่าฉลามไว้ในระดับใกล้เคียงกัน

[ คืนสู่ท้องทะเล ]

แสงสลัวลอดผ่านตู้กระจกในพิพิธภัณฑ์สัตว์นํ้าภายในห้างสรรพสินค้าหรูหราแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ แสงนั้นช่างคลับคล้ายแสงจากผิวนํ้าที่ทอดลงมายังซากหมู่ปะการังเมื่อครั้งผมพบเจอฉลามหูดำที่เกาะเต่าในเช้าวันนั้น พวกมันว่ายนํ้าอย่างเรียบเฉย งามสง่า และระแวดระวังท่าทีอยู่ในตัว ในฐานะนักวิจัยและนักดำน้ำ ภาพของฉลามในสายตาผมจึงไม่ใช่นักฆ่าเลือดเย็นหรือฆาตกรแห่งท้องทะเล หากพวกมันคือสิ่งมีชีวิตอัศจรรย์ งดงาม และเปี่ยมไปด้วยวิญญาณเสรีที่ท่องไปทั่วท้องนํ้าสีมรกต

ฉลามวาฬที่ยังไม่โตเต็มวัยขนาดร่วมห้าเมตรแหวกว่ายอยู่ในท้องนํ้านอกเกาะบอน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ขณะที่เหล่านักดำนํ้าเร่งว่ายตามเพื่อบันทึกภาพปลาขนาดใหญ่ที่สุดแห่งท้องทะเล งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกิจกรรมท่องเที่ยวดูฉลามนั้นสูงกว่ามูลค่าที่เกิดจากกิจกรรมประมงชนิดเทียบกันไม่ได้

เช้าวันนั้นคงจะมีแต่ผมกระมังที่เป็นสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมและเป็นสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมเพียงชนิดเดียวที่สามารถคิดค้นวิธีทำลายล้างท้องทะเลและธรรมชาติในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษในประวัติศาสตร์ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่อึงอลภายในพิพิธภัณฑ์สัตว์นํ้าแห่งนั้น ผู้เข้าชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างตื่นตากับสัตว์ทะเลสีสันสดใส รูปร่างแปลกตา

ผมอดคิดไม่ได้ว่า มนุษย์เราเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของวิวัฒนาการ จากสิ่งมีชีวิตที่เคยแหวกว่ายกลางท้องทะเลหรือล่องลอยไปตามกระแสนํ้าอันไพศาลเมื่อหลายล้านปีก่อน ท้องทะเลก็คงไม่ต่างอะไรกับ “บ้านเกิด” ที่เราจากมา ทว่าทุกวันนี้ เรากลับกำลังทำลายบ้านเกิดด้วยมือของเราเองทีละน้อย

ฉลามเสือทราย (Carcharias Taurus) ตัวหนึ่งลอยตัวนิ่ง ๆ อยู่ในตู้กระจก หน้าตาของมันดุดัน ทว่าที่จริงมันขี้อาย ไม่ดุร้าย ตัวเล็กและดูสงบ มันมีท่าทีของความสะโอดสะอง ผมไม่เคยพบเห็นมันมาก่อนในน่านนํ้าประเทศไทย ฉลามส่วนใหญ่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์นํ้าแห่งนี้นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย

“ฉลามไม่ได้ชอบกินคนนะลูก” เสียงเล็ก ๆ จากคุณแม่และลูกน้อยดึงดูดผมให้หันไปหาเจ้าของเสียง คำพูดของเธอทำให้ผมอมยิ้ม ผมคิดว่าพวกมันควรได้รับความเข้าใจเสียใหม่ อย่างน้อยก็เริ่มต้นจากในแง่ที่ว่าพวกมันไม่ใช่“ผู้ร้าย” หรือ “นักฆ่า”

ผมเดินกลับออกมาสู่ท้องถนน พลางคิดถึงเช้าวันนั้นขณะลอยตัวอย่างอิสระในท้องทะเลเพื่อเฝ้ารอพวกมัน

เรื่องและภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2559


อ่านเพิ่มเติม ฉลามและปลากระเบนทั่วโลกกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.