เฝ้าระวังชีวิตสัตว์โลก: ญี่ปุ่นเริ่มต้นเทศกาล ล่าโลมา (อันโหดร้าย) ประจำปีอีกครั้ง

เป็นเวลามากกว่าทศวรรษหลังจากที่ภาพยนตร์สารคดี The Cove เปิดเผยความโหดร้ายเบื้องหลังการปฏิบัติของชาวประมงเมืองไทจิ ที่ยังคง ล่าโลมา เพื่อส่งสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำและสวนน้ำต่างๆ

เมืองไทจิ ในญี่ปุ่นมีการ ล่าโลมา ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงจนถึงตอนนี้มาเป็นเวลา 9 วันแล้ว และชาวประมงได้จับโลมาปากขวด (Bottlenose dolphin) อย่างน้อยเจ็ดตัวในช่วงฤดูการล่าซึ่งคาดว่าจะยาวนานไปถึงเดือนมีนาคม 2022

การล่าซึ่งดำเนินการโดยสมาคมชาวประมงอิซานะได้รับโควตาล่าโลมา 1,849 ตัวจาก 9 ชนิดพันธุ์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ฆ่าหรือจับในฤดูกาลนี้ ซึ่งรวมไปถึงโลมาปากขวด, โลมาแถบ (Striped dolphin), วาฬหัวแตงโม (melon-headed whales), และโลมาริสโซ (Risso’s dolphin)

โลมาบางตัวถูกจับและขายให้กับสวนน้ำและสถานที่แสดงโลมา โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและจีน และมีหลายร้อยตัวที่ถูกชำแหละเอาเนื้อ ตามข้อมูลจากโครงการโลมา (Dolphin Project) กลุ่มผู้ทำงานสนับสนุนเรื่องโลมาระดับโลก (และช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านที่ผู้ล่าจับโลมาเกินโควตาที่กำหนดเกือบ 2-3 ร้อยตัว)

ที่ตั้งเมืองไทจิ จังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น

เร็น ยาบูกิ นักรณรงค์จากองค์กรดูแลสวัสดิภาพสัตว์ Life Investigation Agency ในญี่ปุ่น อยู่ที่อ่าวไทจิทุกวันเพื่อถ่ายภาพและรายงานจำนวนโลมาที่ถูกจับได้ในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นงานที่ร่วมมือกับโครงการโลมา โดยยาบูกิทำหน้าที่นี้ในทุกฤดูกาลล่ามาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว

“เมื่อเห็นโลมาและวาฬที่ถูกล่าต้อนเข้ามาที่อ่าว มันดูเหมือนว่าเลือดของคุณจะสูบฉีดแรงและไหลย้อนเลยล่ะครับ” ยาบูกิกล่าวและเสริมว่า “โลมาและวาฬที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ถูกจับอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ถูกแยกครอบครัว พวกมันถูกจับไปขายในสวนน้ำต่อหน้าต่อตาครอบครัว หรือถูกฆ่าต่อหน้าครอบครัวหรือฝูงของมันครับ”

การล่าครั้งนี้เป็นจุดสนใจของการประณามในระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2009 เมื่อสารคดีที่ได้รับรางวัลออสการ์อย่าง The Cove เปิดเผยว่าชาวประมงในเมืองไทจิจับวาฬขึ้นมานับร้อยตัว บังคับไล่ต้นมันให้เข้าไปในอ่าว อันเป็นสถานที่ที่มันถูกจับหรือถูกเชือด

หน่วยงานปกครองของเมืองไทจิไม่ได้ตอบรับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในคำขอเพื่อให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่ได้มีการโต้แย้งมาก่อนหน้านี้ตามสื่ออื่นๆ ว่าเป็นประเพณีที่ดำเนินการมากกว่า 400 ปี

พยานที่เห็นเหตุการณ์จากอาสาสมัครโครงการโลมากล่าวว่า ชาวประมงฆ่าโลมาโดยใช้หอกแทงทางช่องหายใจเพื่อตัดไขสันหลัง แต่ก็เห็นได้ว่าโลมาจะยังไม่ตายในทันทีและอาจขยับตัวไปมาได้หลังจากนั้น พยานคนอื่นๆ หลายคนรายงานว่าลูกโลมาที่ไม่อาจใช้ชีวิตได้เองจะถูกปล่อยลงสู่ทะเลหลังจากแม่ของพวกมันถูกฆ่าไปแล้ว

(ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง The Cove ที่เล่าเรื่องการล่าวาฬในญี่ปุ่นได้ที่นี่)

เนื้อโลมายังได้รับความนิยมในเมืองไทจิ แต่ความต้องการในเนื้อโลมาและวาฬทั่วญี่ปุ่นลดลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กิจการที่จำหน่ายและแปรรูปเนื้อปลาเหล่านี้ได้เริ่มปิดตัวลงไป

เนื้อปลาโลมาสามารถขายได้ราคาสูงถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,000 บาท) และโลมาปากขวดที่ยังมีชีวิตสำหรับขายให้สถานแสดงสัตว์น้ำอาจมีราคาตั้งแต่ 8,000-12,000 ดอลลาร์สหรัฐ (260,000-400,000 บาท)

โดยปกติแล้ว โลมาราว 100-200 ตัวถูกจับเพื่อนำไปแสดงในสถานแสดงสัตว์น้ำ ตามข้อมูลของโครงการโลมา ในญี่ปุ่นซึ่ง คาดว่ามีสถานที่แสดงโลมาหว่า 70 แห่งอันเป็นจำนวนที่มากกว่าในหลายประเทศยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับโลมาที่ยังมีชีวิตซึ่งถูกจับได้ในเมืองไทจิ ทิม เบิร์น ผู้ประสานงานระหว่างโครงการโลมาและเมืองไทจิ กล่าว

บ่อโลมาขนาดใหญ่

ในปี 2015 สมาคมสวนสัตว์และสวนน้ำญี่ปุ่น (JAZA) ห้ามสมาชิกมิให้ซื้อโลมาที่ล่ามาจากเมืองไทจิ ซึ่งเป็นมาตรการกดดันจากสมาคมสวนสัตว์และสวนน้ำโลก อันเป็นองค์กรอุตสาหกรรมในระดับโลก ทำให้สถานที่เลี้ยงโลมาในญี่ปุ่นหลายที่ถอนตัวจาก JAZA เพื่อที่จะยังคงซื้อโลมาจากเมืองไทจิได้ต่อไป

หลังจากที่โลมาถูกต้อนเข้าอ่าว คนฝึกโลมาจะทำงานร่วมกับชาวประมงเพื่อเลือกโลมาที่จะกักขังเอาไว้ ชาวประมงจะเข้าไปในสถานที่ที่มีโลมาริซโซ่อยู่แปดตัว และ “อาจจะมีโลมาเพศเมียที่สมบูรณ์ตัวเดียวที่พวกเขาต้องการ (สำหรับนำไปฝึก)” เบิร์น กล่าวและเสริมว่า “ส่วนโลมาที่เหลือจะถูกฆ่าครับ”

ที่พิพิธภัณฑ์วาฬเมืองไทจิ ซึ่งจัดแสดงประวัติศาสตร์เรื่องราวของวาฬในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่กำลังทำพิธีรำลึกวาฬ พิพิธภัณฑ์มักซื้อโลมาที่จับได้จากการล่าในเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนว่ายน้ำร่วมกับโลมา ชมการแสดงโลมา และซื้อเนื้อโลมาไปได้ ภาพถ่ายโดย KYODO VIA AP IMAGES

ทีมงานของเบิร์นกล่าวว่าพวกเขาคาดว่าจะมีโลมาที่ถูกจับได้มากมายในฤดูกาลนี้ที่จะถูกส่งไปที่พิพิธภัณฑ์วาฬที่รัฐบาลเมืองไทจิเป็นเจ้าของและอ่าวโมริอุระซึ่งรัฐบาลใช้เก็บโลมาเอาไว้ พวกเขาเก็บสัตว์จำพวกวาฬไว้ราว 100-200 ตัวที่มาจากการล่า ตามข้อมูลจาก Japan Times ที่พิพิธภัณฑ์วาฬ ผู้ที่มาเยี่ยมชมสามารถซื้อเนื้อวาฬและเนื้อโลมาได้จากร้านขายของที่ระลึกหรือทานเป็นของกินเล่นได้ระหว่างชมการแสดงของโลมา

เมืองไทจิทำงานเพื่อเปลี่ยนอ่าวโมริอุระ ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับสนามกีฬานิวยอร์กแยงกี้ 2 เท่า ให้เป็น “บ่อโลมาขนาดใหญ่” แต่ในตอนนี้โลมาจะถูกเก็บเอาไว้ในบ่อโลมาที่ชายฝั่งทะเล

“เมืองไทจิลงทุนไปกับอ่าวโมริอุระอย่างมากและเก็บโลมาของตัวเองเอาไว้” เบิร์นกล่าว แม้จะมีความกดดันในการยุติการล่าโลมาที่เพิ่มมากขึ้น การเพาะพันธุ์ในพิพิธภัณฑ์และอ่าวจะยังทำให้อุตสาหกรรมการค้าโลมาในเมืองไทจิยังคงดำเนินต่อไป

ด้านตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์วาฬเมืองไทจิไม่ได้ตอบรับการขอให้ความเห็นในเรื่องนี้จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

โลมาปากขวดที่จับได้ในวันแรกในการล่าของเมืองไทจิถูกต้อนเข้าอ่าว ในขณะที่ชาวประมงกำลังเตรียมตาข่ายดัก โดยมีสมาชิกของยามชายฝั่งที่สวมหมวกคอยเฝ้าสังเกต ภาพถ่ายโดย KYODO VIA AP IMAGES

การเติบโตของการเคลื่อนไหวระดับชาติ

เนื่องจากเหตุผลทั้งด้านทางวัฒนธรรมและกฎหมายที่หลากหลาย การประท้วงในพื้นที่สาธารณะไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักเหมือนในบางประเทศ ขณะที่ชาวต่างชาติมักต่อต้านการล่าที่เต็มไปด้วยเลือด การประท้วงที่นำโดยชาวญี่ปุ่นที่ยังคงมีการควบคุมมากขึ้นกำลังกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ มีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่ทำงานด้านชีวิตสัตว์ประท้วงในเมืองไทจิเรื่องการล่าโลมาวันแรก ตามรายงานของ Japan Forward และมีการถือป้ายที่มีข้อความเช่น “ปล่อยให้โลมาว่ายน้ำอย่างอิสระ” และ “จงรักสัตว์ทุกตัว”

“เพราะการล่าและค้าโลมาในเมืองไทจิดำเนินการโดยนักล่าชาวญี่ปุ่น ก็ต้องเป็นชาวญี่ปุ่นที่ต้องออกมาจัดการเอง” ยาบูกิกล่าวและเสริมว่า “การบันทึกกระบวนการล่าและเผยแพร่ความจริงเกี่ยวกับใช้ประโยชน์จากโลมา และมันมีส่วนเชื่อมโยงกับอควาเรียมและสวนน้ำอย่างไร ทำให้ผู้คนเลือกที่จะไม่สนับสนุนสถานที่เลี้ยงโลมาเหล่านี้ได้”

เรื่อง NATASHA DALY


อ่านเพิ่มเติม สถานการณ์ทะเลไทย: ใครฆ่า ฉลามวาฬ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.