มนุษย์ค้นพบความหวังในภารกิจช่วย ชิมแปนซี

ณ ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าแห่งหนึ่งในแอฟริกากลาง ชิมแปนซี ที่จิตใจบอบช้ำเป็นแบบอย่างของการฟื้นตัวให้ผู้ช่วยชีวิตพวกมัน

อิตซาโซ เวเลซ เดล เบอร์โก อุ้มลูก ชิมแปนซี ไว้ในอ้อมแขน เอปเพศเมียตัวอ่อนปวกเปียกและไม่ได้สติตัวนี้มีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่ามือมนุษย์

ร่างกายเล็กจิ๋วและฟันที่ยังไม่ขึ้นชี้ว่า มันน่าจะอายุแค่เพียงราวหนึ่งเดือนเท่านั้น และกำลังต่อสู้กับภาวะ ตัวเย็นเกินและการขาดน้ำ ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างโดยเร่งด่วน หัวใจของมันจะหยุดเต้น

“มันเป็นชิมแปนซีอายุน้อยที่สุดที่เราเคยรับมาดูแลค่ะ” เวเลซ เดล เบอร์โก ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของศูนย์ฟื้นฟูไพรเมตลวีโร ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กล่าว วันนั้นเป็นวันที่ 16 มิถุนายน ปี 2017 เวเลซ เดล เบอร์โกช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้การเดินทางอันทรหด ที่ใช้เวลาห้าวันโดยมอเตอร์ไซค์ เรือเร็ว และรถยนต์ เพื่อนำลูกชิมแปนซีมายังหมู่บ้านลวีโรอย่างปลอดภัย สายข่าวจากกลุ่มต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์พบลูกชิมแปนซีตัวนี้อยู่กับพรานสองสามคนในป่าทึบใกล้เมืองพินกา ที่อยู่ห่างไกลออกไป 300 กิโลเมตร หลังจากส่งมอบลูกลิง พรานเหล่านั้นเผยว่า น้องสาวฝาแฝดของมันตายลง ไม่นานหลังจากพวกเขายิงแม่ลิง

แอนโทนี เซเร นักบินประจำอุทยานแห่งชาติวีรุงกาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อุ้มฟีลิกซ์และมารา ขณะบินพาพวกมันไปยังศูนย์ฟื้นฟูไพรเมตลวีโร ครอบครัวของลูกลิงทั้งสองถูกพรานฆ่า เซเรซึ่งรอดชีวิตจากเครื่องบินตกเมื่อปี 2017 บอกว่า การช่วยเหลือชิมแปนซีทำให้ชีวิตเขามีจุดมุ่งหมาย

ที่ศูนย์ฟื้นฟูไพรเมต การต่อสู้เพื่อกู้ชีวิตชิมแปนซีตัวนี้เพิ่งเริ่มต้น เวเลซ เดล เบอร์โกรีบคลุมร่างอันโรยแรงของมันด้วยผ้าห่มอุ่นๆ และให้น้ำเกลือ ในที่สุด ลูกลิงก็ขยับตัวและลืมตา

“ฉันให้มันนอนแนบอกจะได้อบอุ่นค่ะ” ซาวาดี บาลันดา สาวชาวคองโกผู้เงียบขรึมที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลบูซาคารา ชื่อที่พวกเขาตั้งให้มันในคืนนั้น เล่า เวเลซ เดล เบอร์โกกังวลว่า การไม่มีแม่ตามธรรมชาติ เพื่อป้อนอาหารและเป็นที่พึ่งทางใจจะทำให้ลูกชิมแปนซีนี้มีอาการทรุดลง

ศูนย์ฟื้นฟูไพรเมตลวีโรก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 เมื่อสงครามในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกส่งเสริม ให้เกิดการลักลอบล่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อในอุทยานแห่งชาติกาฮูซี-บีกาที่อยู่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่สัตว์ป่ายึดลูกชิมแปนซีกำพร้าจากพรานและชาวบ้าน แล้วนำมาดูแลที่ห้องปฏิบัติการเก่าในศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ของเบลเยียมที่ปล่อยทิ้งร้างในลวีโร เมื่อจำนวนลิงกำพร้าเพิ่มมากขึ้น สถาบันสองแห่ง ได้แก่ สถาบันคองโกเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และศูนย์แห่งชาติเพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเช่นกัน จึงร่วมกันสร้างศูนย์พักฟื้นไพรเมตแห่งนี้ขึ้น

ชิมแปนซีกำพร้าเรียนรู้การใช้ชีวิตในป่าล้อมรั้วของลวีโร พวกมันแบ่งลำดับชั้นทางสังคม หากิน เล่น และจ้องมองสิ่งที่อยู่นอกรั้ว ลวีโรมีเป้าหมายจะปล่อยชิมแปนซีกลับสู่ธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

“ฉันฝันมาตลอดว่าอยากทำงานด้านการอนุรักษ์ไพรเมตค่ะ” เวเลซ เดล เบอร์โก ผู้มีน้ำเสียงนุ่มนวล เล่า เธอมาถึงลวีโรช่วงต้นปี 2014 ตอนนั้นศูนย์ฯ มีชิมแปนซีประมาณ 55 ตัว เธอเกิดในวิตอเรีย เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของสเปน เธอรู้สึกลึกๆ ตั้งแต่ตอนนั้นว่าต้องการปกป้องสัตว์

แม่ของเธอซึ่งเป็นผู้อพยพจากโคลอมเบียมีรายได้น้อย ช่วยส่งเสียเธอเรียนมหาวิทยาลัยในบาร์เซโลนา จนสำเร็จปริญญาโทสาขาไพรเมตวิทยา ความสนใจในพฤติกรรมของไพรเมตนำพาเวเลซ เดล เบอร์โกมายังกินีในแอฟริกาตะวันตกเพื่อวิจัยชิมแปนซีในธรรมชาติ

เมื่อตำแหน่งอาสาสมัครที่ลวีโรว่างลง เวเลซ เดล เบอร์โกคว้าโอกาสนี้เพื่อจะได้ใกล้ชิดชิมแปนซีป่า มากขึ้น แต่เธอไม่ได้เตรียมใจรับความท้าทายจากการอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่บอบช้ำจากสงครามก่อนหน้านั้น และยังคงอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง ในเดือนที่สามของเธอ “กลุ่มกบฏไม-ไมออกจากป่ามาโจมตีทหาร” เธอเล่า บางคืน เวเลซ เดล เบอร์โกจะนอนตัวสั่นอยู่บนเตียง ขณะเสียงดังของระเบิด ระเบิดมือ และปืนกล ทำให้ยาก จะข่มตาหลับ

มิเรย มิเดร์โฮ โอซิบา ผู้ดูแล นั่งอยู่กับมาราและฟีลิกซ์ ขณะพวกมันนอนหลับ เช่นเดียวกับเด็กแรกเกิด ทารกชิมแปนซีก็ต้องการการดูแลตลอดเวลา ถ้าลูกชิมแปนซีตกใจตื่นกลางดึก ผู้ดูแลหรือแม่เลี้ยงต้องพร้อมจะกล่อมเจ้าตัวน้อยให้หลับต่อ

จากนั้น ผู้อำนวยการของลวีโรก็ล้มป่วยด้วยโรคลึกลับจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด และต้องได้รับการอพยพ ออกจากพื้นที่ทางอากาศ “เป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดค่ะ” เวเลซ เดล เบอร์โก เล่า เธอกลายเป็นผู้จัดการศูนย์ฯ ซึ่งไม่เพียงรับผิดชอบการดูแลไพรเมตกำพร้ามากมาย แต่ยังต้องหาทางระดมทุน บำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ซึ่งในเวลานั้นมี 31 คน

ตอนที่เจ้าบูซาคาราตัวน้อยมาถึงในสภาพที่ถูกห่อไว้ในห่อผ้าช่วงกลางปี 2017 ศูนย์ฟื้นฟูลวีโรดูแลชิมแปนซีประมาณ 75 ตัว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกเดือน เวเลซ เดล เบอร์โกมองเห็นความพิเศษใน ตัวบูซาคาราที่ให้ความเข้มแข็งแก่เธอในช่วงเวลาที่การตัดขาดครอบครัวอย่างสุดขั้ว และภัยคุกคามความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเป็นภาระอันหนักอึ้ง เวเลซ เดล เบอร์โก บอกว่า บูซาคาราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย แต่ “ฉันรู้สึกประหลาดใจกับการฟื้นตัวของมัน บูซาคาราอยากมีชีวิตอยู่จริงๆ ค่ะ”

ทุกวันในช่วงบ่าย ผู้ดูแลให้ชิมแปนซีกินอาหารซึ่งเป็นส่วนผสมอุดมด้วยสารอาหาร ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง แป้ง และโปรตีน ชิมแปนซียังได้รับผัก ผลไม้ และถั่วจากตลาดในท้องถิ่นทุกวัน ความต้องการอาหารนี้สร้างรายได้ราวเดือนละ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับชาวไร่ในพื้นที่

หลังจากบูซาคาราเอาชีวิตรอดผ่านคืนแรกที่อันตรายมาได้ ทีมผู้ดูแลหรือเหล่าแม่เลี้ยงก็ได้รับ มอบหมายให้ดูแลมันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่างที่ลูกลิงจะได้รับจากแม่ของมันเอง บาลันดาเป็นแม่เลี้ยงคนหนึ่ง เธอเติบโตขึ้นในฟาร์มแบบยังชีพและบอกว่า เธอไม่เคยคิดฝันว่า วันหนึ่งจะได้ดูแลชิมแปนซีกำพร้า ตลอดชีวิตวัยรุ่นและเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ บาลันดาต้องเผชิญกับการทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมไม่หยุดหย่อนจากทหาร ฝ่ายกบฏ ซึ่งในที่สุดทำให้เธอต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำศัลยกรรมตกแต่ง ตอนนั้นเองเธอพบคนจากลวีโร และได้รับการเสนอโอกาสให้ร่วมงานกับศูนย์ฯ ในตำแหน่งผู้ดูแลชิมแปนซี

ตอนแรก บาลันดากลัวชิมแปนซี แต่เธอค่อยๆ เรียนรู้การสื่อสารที่ยากจะเข้าใจของพวกมัน วิธีทำความสะอาดขนพวกมัน และทำให้พวกมันหัวเราะท้องแข็งเมื่อถูกจักจี้ และการส่งเสียงที่หมายถึงใช่และไม่ใช่

เวเลซ เดล เบอร์โกเล่นกับมารา ฟีลิกซ์ และมูบากิ (จากซ้ายไปขวา) มูบากิซึ่งในภาษาสวาฮิลีแปลว่า “ผู้รอดชีวิต” เกือบตายตอนที่มันมาถึงศูนย์ พรานซึ่งฆ่าแม่ของมันกระทำทารุณและวางแผนจะขายมัน ในตลาดค้าสัตว์เลี้ยง เพื่อช่วยให้ฟื้นตัว ชิมแปนซีวัยเยาว์จำเป็นต้องเล่นด้วยกัน ขณะที่บุคลิกภาพเฉพาะของ แต่ละตัวพัฒนาขึ้น

บาลันดาเล่าว่า ชิมแปนซีชื่อบาซาคาราท้องเสียในวันแรกๆ หลังมาถึงศูนย์ฯ “ฉันทำความสะอาดตัวมันและนอนเป็นเพื่อนเพื่อให้มันอบอุ่น” บาลันดาบอกด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม ความรักจากมนุษย์และการเอาใจใส่ มีความสำคัญยิ่งในช่วงเดือนแรกๆ ของการรักษาบูซาคารา แต่การฟื้นฟูที่สำคัญกว่าเริ่มขึ้น เมื่อมันแข็งแรงพอจะเข้ากลุ่มกับชิมแปนซีอื่นอีกหกตัวในคอกอนุบาลสัตว์ แล้วพัฒนาบุคลิกภาพของมันเองขึ้นมา

บาลันดาเองก็มั่นใจมากขึ้น เธอเริ่มดูแลลิงกำพร้าอายุมากกว่าด้วย ความสัมพันธ์ใหม่ของเธอกับชิมแปนซีช่วยฉุดเธอออกมาจากภาวะซึมเศร้ารุนแรง

อิตซาโซ เวเลซ เดล เบอร์โก (ซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของศูนย์ฟื้นฟูไพรเมตลวีโร เล่นกับลูกชิมแปนซีชื่อ มาราขณะที่มิเรย มิเดร์โฮ โอซิบาผู้ดูแลสัตว์คนหนึ่งของศูนย์ฯ อุ้มฟีลิกซ์ไว้บนตัก ลูกชิมแปนซีกำพร้ารู้สึกเหงาและมักบอบชํ้าทางจิตใจ เมื่อมาถึงลวีโร พวกมันจะมีผู้ดูแลซึ่งให้ความรักและความเอาใจใส่เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ

ตอนนี้เวเลซ เดล เบอร์โกเข้าใจแล้วว่า ลวีโรมีความสำคัญเพียงใดต่อทีมงานและเจ้าหน้าที่อย่างบาลันดา ซึ่งระหว่างที่ช่วยดูแลชิมแปนซีให้ฟื้นตัว กลับพบว่าชิมแปนซีก็ช่วยพวกเขาเป็นการตอบแทน เวเลซ เดล เบอร์โกเองก็เช่นกัน เธอบอกว่า บทเรียนสำคัญที่สุดที่ชิมแปนซีสอนเธอคือ จะยืนหยัดอย่างเข้มแข็งยามเผชิญ ความยากลำบากได้อย่างไร “พวกมันไม่เคยยอมแพ้ค่ะ” การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ไม่ง่าย “แต่ฉันจะไม่ทิ้งพวกมัน ไม่ว่าเป็นชิมแปนซีหรือทีมงาน” เวเลซ เดล เบอร์โกทิ้งท้าย

เรื่อง พอล สไตน์

ภาพถ่ายโดย เบรนต์ สเตอร์ตัน

สามารถติดตามสารคดี ช่วยชิมแปนซีและพบความหวังในความวุ่นวาย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/533276


อ่านเพิ่มเติม วิกฤตชีวิตช้างไทย ในห้วงการขาดนักท่องเที่ยวจากโควิด-19

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.