ชีวิตเหล่าสรรพสัตว์ที่ยากลำบาก เมื่อน้ำแข็ง แอนตาร์กติก กำลังละลาย

สิ่งมีชีวิตในทะเลนอกชายฝั่งคาบสมุทร แอนตาร์กติก จําเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง เมื่อนํ้าแข็งทะเลลดลง และเรือประมงรุกคืบเข้ามาจับคริลล์มากขึ้น

เรือยางแล่นเข้ามาจอดใกล้ชายฝั่งที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ และนกเพนกวินเจนทูแห่งอ่าวเนโกก็เห็นมนุษย์ใน แอนตาร์กติก เป็นครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งปี

แทนที่จะเป็นนักท่องเที่ยวผู้ส่งเสียงเอะอะมะเทิ่ง (ห่างหายไปเพราะการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา) ผู้ลงจากเรือคือ ทอม ฮาร์ต นักชีววิทยาเพนกวินและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ อีกหลายคนที่กลับมายังคาบสมุทร แอนตาร์กติก ในเดือนมกราคม ปี 2021 เสียงกู่ร้องและเสียงเรียกดังระงมไปทั่วคอโลนีเพนกวินเจนทูที่มีอยู่ราว 2,000 ตัว พวกมันไม่สนใจฮาร์ต ขณะเขาเดินตรงไปยังกล้องไทม์แลปส์ ซึ่งถ่ายภาพเพนกวินทุกชั่วโมง จากรุ่งสางจนย่ำค่ำ ตั้งแต่ พวกมันมาทำรังที่คอโลนีนี้เมื่อสี่เดือนก่อนเพื่อวางไข่และเลี้ยงลูก กล้องตัวนี้เป็นหนึ่งในกล้องเกือบหนึ่งร้อยตัวที่วางไว้ทั่วคาบสมุทรยาว 1,340 กิโลเมตร และกว้าง 70 กิโลเมตรแห่งนี้ เพื่อเฝ้าติดตามคอโลนีนกเพนกวินสามชนิด ที่จับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

ภูมิทัศน์ทะเลน้ำแข็งมีพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ “เราเห็นน้ำแข็งรูปโค้งอันหนึ่งพังทลายลงครับ” ช่างภาพและนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก โทมัส เพสแชก กล่าว

ประชากรเพนกวินเจนทูบนคาบสมุทรเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายคอโลนีมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และกำลังขยายอาณาเขตไปทางใต้สู่พื้นที่ใหม่ที่เคยเย็นจัดเกินไปสำหรับพวกมัน ตรงกันข้าม ชนิดพันธุ์ที่ใกล้ชิดกัน คือนกเพนกวินคางแถบที่มีขนาดเล็กกว่า และนกเพนกวินอาเดลีที่มีหัวสีดำขลับ กลับลดจำนวนลงกว่าร้อยละ 75 ในหลายคอโลนีที่นกเพนกวินเจนทูขยายพันธุ์ได้ดี

“พูดคร่าวๆ นะครับ” ฮาร์ตกล่าว “เราเสียอาเดลีไปตัวหนึ่ง เสียคางแถบไปอีกตัวหนึ่ง แต่เราได้เจนทูมาตัวหนึ่ง”

นกเพนกวินเป็นดรรชนีสำคัญที่บ่งชี้สุขภาวะโดยทั่วไปของมหาสมุทร พวกมันอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง ของสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และพึ่งพาทะเลที่อุดมสมบูรณ์กับเหยื่อที่มีอยู่อย่างชุกชุม นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเพนกวิน ไม่กังกลว่า เพนกวินคางแถบและเพนกวินอาเดลีจะหายไปจากโลก เพราะบางคอโลนีนอกคาบสมุทรดูเหมือน จะมีสภาวะคงตัว บางแห่งอาจถึงกับมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

เพนกวินเจนทูแวะพักระหว่างการหากินบนภูเขาน้ำแข็งที่ล่องลอยในทะเล พวกมันใช้กรงเล็บบนตีนปีนน้ำแข็ง จำนวนเพนกวินเจนทูบนคาบสมุทรแอนตาร์กติกเพิ่มขึ้นกว่าหกเท่าในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา เพนกวินเจนทูพึ่งพา คริลล์น้อยกว่าเพนกวินคางแถบและเพนกวินอาเดลี

“สิ่งที่เรากังวลคือ เพนกวินทั้งสองชนิดบนคาบสมุทรแอนตาร์กติกลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบค่ะ” เฮเทอร์ ลินช์ นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรุกในรัฐนิวยอร์ก กล่าว การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรเพนกวินในน่านน้ำนอกชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งก็คือมหาสมุทรใต้ เป็นสัญญาณเตือนว่า ระบบนิเวศกำลังถูกรบกวนจนปั่นป่วน “สิ่งนี้บอกเราจริงๆ ว่า บางสิ่งบางอย่างในระบบมหาสมุทรใต้เปลี่ยนแปลงไป และการเปลี่ยนแปลงนั้น…ไม่ตั้งใจ จะเล่นสำนวนนะคะ เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นค่ะ”

คาบสมุทรแอนตาร์กติกเป็นสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อุณหภูมิอากาศช่วงที่เกิดคลื่นความร้อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 สูงทำลายสถิติถึง 18.3 องศาเซลเซียสที่ฐานเอสเปรันซาของอาร์เจนตินา ใกล้ปลายติ่งเหนือสุดของคาบสมุทร (ปกติแล้วอุณหภูมิในฤดูร้อนสูงกว่าจุดเยือกแข็งไม่เกินสองถึงสามองศา) เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งทะเลรอบคาบสมุทรก็ถอยร่นหดหาย และเมื่อปี 2016 น้ำแข็งทะเลลดขนาดเหลือน้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการใช้ดาวเทียมเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งในช่วงทศวรรษ 1970

แมวน้ำเสือดาวลอยตัวอยู่ข้างภูเขาน้ำแข็งนอกชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์กติก ฟองอากาศจากน้ำแข็ง ละลายติดอยู่กับเลนส์กล้องถ่ายภาพใต้น้ำ สำหรับแมวน้ำ แพน้ำแข็งเป็นสถานที่สำหรับผสมพันธุ์และผลัดขน และยังเป็นถิ่นอาศัยของคริลล์ซึ่งเป็นเหยื่อสำคัญ

นั่นคือปัญหา เพราะน้ำทะเลเย็นจัดเป็นแหล่งอาศัยของครัสเตเชียน [สัตว์จำพวกกุ้งกั้งปู] ขนาดนิ้วก้อย ซึ่งได้แก่คริลล์แอนตาร์กติกที่มีความสำคัญต่อสายใยชีวิตในมหาสมุทรใต้ ฝูงคริลล์อันอุดมเป็นอาหารของสัตว์อื่นๆมากมายที่มารวมตัวหากินอย่างขนานใหญ่ วาฬมิงก์และวาฬหลังค่อมมาเพื่อสวาปามคริลล์คำโต หมึกกล้วย ปลาและเพนกวินก็กินคริลล์เช่นกัน สัตว์หลายชนิดที่กินคริลล์จะถูกสัตว์ผู้ล่าลำดับสูงขึ้นไปล่าเป็นทอดๆ หากคริลล์หมดไป ระบบนิเวศจะพังทลาย

ยังไม่แน่ชัดว่า ปริมาณคริลล์ที่หายไปเพราะสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นขึ้นมีมากน้อยเท่าใด ขณะเดียวกัน น่านน้ำรอบคาบสมุทรแอนตาร์กติกเป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมงคริลล์ขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรใต้ เรือโรงงานจับคริลล์ วันละกว่า 725 เมตริกตัน บนเรือ คริลล์ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกา-3 เช่น ปลาป่น สำหรับทำอาหารปศุสัตว์ และน้ำมันคริลล์สำหรับผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ลินช์กล่าวว่า ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุตสาหกรรมประมงเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด

นกเพนกวินคางแถบหนึ่งราวหนึ่งแสนตัวทำรังที่แหลมเบลีย์เฮดบนเกาะดีเซปชัน ห่างจากคาบสมุทรแอนตาร์กติก ไปทางเหนือ 110 กิโลเมตร มอสสีเขียวและไลเคนเจริญเติบโตบนพื้นที่ปราศจากธารน้ำแข็งเพราะมีความร้อนใต้พิภพ ขณะสภาพภูมิอากาศของโลกอบอุ่นขึ้น เกาะมากมายนอกคาบสมุทรอาจมีสภาพเช่นนี้

ท่ามกลางแรงกดดันเหล่านี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติผู้ศึกษาแอนตาร์กติกวางโครงการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (marine protected area: MPA) ครอบคลุมพื้นที่ 670,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อปกป้องทะเลตามแนวชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์กติก

การตัดสินใจว่าจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองดังกล่าวหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลแอนตาร์กติก องค์กรระหว่างประเทศนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1982 เพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทางทะเลของแอนตาร์กติก คณะกรรมการฯ ดำเนินการภายใต้สนธิสัญญาแอนตาร์กติก (Antarctic Treaty) ซึ่งเป็นความตกลงที่ลงนามในปี 1959 โดย 12 ชาติที่ยอมวางข้อพิพาทเรื่องดินแดน และยกทวีปแอนตาร์กติกาให้แก่สันติภาพและวิทยาศาสตร์ ปัจจุบัน คณะกรรมการฯ มีสมาชิก 25 ชาติ และสหภาพยุโรป

นกเพนกวินเจนทูที่อ่าวเนโกกกไข่ในรังที่สร้างจากก้อนหินและเลี้ยงลูกนกอยู่รอบกระดูกสันหลังชิ้นหนึ่งของวาฬ ซึ่งเป็นสิ่งเตือนใจถึงประวัติศาสตร์การล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในคาบสมุทรแอนตาร์กติก หนึ่งศตวรรษให้หลัง ปัจจุบัน วาฬได้รับการคุ้มครอง และชาวประมงหันมาจับคริลล์ซึ่งเป็นอาหารหลักของวาฬ ปลา แมวน้ำ และเพนกวิน

พื้นที่คุ้มครองแห่งแรกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 ปกป้องน่านน้ำนอกชายฝั่งหมู่เกาะเซาท์ออร์กนีย์ห่างจาก ปลายคาบสมุทรแอนตาร์กติกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 600 กิโลเมตร พื้นที่คุ้มครองแห่งที่สองซึ่งบรรลุขั้นตอนสุดท้ายในปี 2016 คุ้มครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของทะเลรอสส์ทางอีกฟากของทวีป ในการประชุมประจำปีช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาแผนจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์กติกและอีกสองแห่ง

มาตรการที่เสนอใช้กับพื้นที่ทางตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์กติกจะห้ามเรือจับคริลล์เข้ามาในน่านน้ำ สำคัญที่สุดที่กำหนดไว้สำหรับสัตว์ป่าภายในเขตคุ้มครองทั่วไปสี่แห่ง พื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ทางใต้ เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยถูกใช้ประโยชน์เพราะปกคลุมด้วยน้ำแข็งทะเล ในอนาคตพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับการประมงเชิงพาณิชย์ แม้ว่าน้ำแข็งจะละลายมากพอจนสามารถทำประมงเชิงพาณิชย์ได้ก็ตาม มาตรการคุ้มครองที่เหลือจะกำหนดเขตที่ให้จับคริลล์ต่อไปได้ภายใต้กฎระเบียบชุดใหม่

ภูเขาน้ำแข็งยอดราบลูกนี้ีมีส่วนเหนือผิวน้ำที่มองเห็นได้เพียงหนึ่งในสิบ ส่วนที่จมอยู่เห็นเป็นสีเทอร์คอยส์ในน้ำทะเลใสของช่องแคบแอนตาร์กติกซาวนด์

เรื่อง เฮเลน สเกลส์
ภาพถ่าย โทมัส พี. เพสแชก

สามารถติดตามสารคดี โลกน้ำแข็งกำลังละลาย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/534541


อ่านเพิ่มเติม ทะเลน้ำแข็งฤดูร้อนของอาร์กติกอาจละลายหมดในปี 2035 (ดังช่วงหลังยุคน้ำแข็ง)

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.