เยือนถิ่น เสือโคร่ง อินเดีย สถานที่อนุรักษ์เสือที่ออกดอกผล

ในเขตอนุรักษ์ เสือโคร่งนคราโหเล เสือโคร่ง และเสือดาวเพิ่มจำนวนขึ้นมาก  หลังความพยายามในการอนุรักษ์ของอินเดียเริ่มให้ดอกผล

ภูมิทัศน์ผืนป่าเขียวขจี ปกคลุมไปด้วยม่านหมอกของเขตอนุรักษ์เสือโคร่งนคราโหเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของ รัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย ดูมีมนตร์เสน่ห์ชวนหลงใหล

ช้างป่าตัวหนึ่งเดินอุ้ยอ้ายอยู่ในดงไม้ ใบหูใหญ่ยักษ์โบกสะบัดไปมาเป็นจังหวะ บนทางดิน เบื้องหน้านั้น กระทิงรูปร่างคล้ายวัวไบซันเล็มหญ้าอยู่ในทุ่ง ไม่แม้กระทั่งชายตามองมาทางเรา

เราขับรถต่อไปโดยมีช่างภาพ ชาซ จัง ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักกลางป่าผืนนี้มาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เป็นคนนำทาง แล้วแวะจอดข้างฝูงกวางดาว นกกระเต็นสีน้ำเงินเหลือบโผบินผ่านหมู่ไม้ไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่แสงอาทิตย์ส่องผ่านม่านหมอกลงมา ความเงียบสงบถูกขัดจังหวะด้วยเสียงร้องของกวางที่ดังอยู่ไกลๆ มันเป็นเสียง ร้องเตือนภัยว่า มีสัตว์ผู้ล่าซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ๆ

เช้าฤดูหนาวที่หมอกลงวันหนึ่ง เสือดาวเกี้ยวพาราสีกันบนต้นทองหลางที่กำลังออกดอกในเขตอนุรักษ์เสือโคร่ง นคราโหเล เสือดาวสองตัวนี้น่าจะผสมพันธุ์กันหลายครั้งระหว่างอยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจกินเวลาหนึ่งสัปดาห์

เสียงร้องเช่นนี้ดังขึ้นบ่อยครั้งที่นี่ นคราโหเลมีเสือโคร่งเบงกอลและเสือดาวอินเดียอยู่ชุกชุม นักท่องเที่ยวแห่มายังเขตอนุรักษ์นี้เพื่อยลชมโฉมแมวใหญ่เหล่านี้ รวมถึงเสือดำจอมห้าวเป็นพิเศษตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นเสือดาวที่เกิดการกลายพันธุ์ทำให้มีสีเข้ม เสือดำที่พบเห็นได้บ่อยๆ ตัวนั้นกลายเป็นดาวเด่น

“ตามปกติแล้วตอนไปเที่ยวซาฟารี เราชอบถามกันว่าเห็นเสือบ้างไหม” กริถิ การันถ์ นักวิทยาศาสตร์ ที่ศูนย์ศึกษาสัตว์ป่าในเบงกาลูรู (เดิมคือบังกาลอร์) กล่าว “ตอนนี้กลับเป็นประมาณว่า โอ้โห เจอเสือเหรอ เยี่ยมไปเลย แต่เห็นเสือดำด้วยไหมล่ะ”

พื้นที่ไม่ถึงหนึ่งในสิบของอุทยานขนาด 848 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ ตรงปลายด้านใต้ของเขตท่องเที่ยวดังกล่าวคือแม่น้ำกาบินี ซึ่งสองฝั่งเป็นไม้พุ่มและพงหญ้าสูง ไกลออกไปเป็น ทุ่งหญ้า ลำธาร และป่าทึบ นับเป็นสภาพแวดล้อมสมบูรณ์แบบให้เสือโคร่งและเสือดาวอาศัยอยู่ร่วมกัน เสือโคร่ง หาเหยื่อตามพุ่มไม้พื้นล่าง ส่วนเสือดาวนอนเอกเขนกอยู่บนต้นไม้ ปลอดภัยจากเหล่าเสือโคร่ง

เมื่อน้ำในแม่น้ำกาบินีลดระดับลงในช่วงหลายเดือนของฤดูร้อน พื้นที่โดยรอบกลายเป็นทุ่งหญ้าซึ่งกวางดาวและ สัตว์อื่นๆ มากินหญ้า ภูมิประเทศนี้มีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ให้เหล่าแมวใหญ่ได้ล่า

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โอกาสเห็นแมวใหญ่เหล่านี้ในนคราโหเลและเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่นๆ หลายแห่งทั่วอินเดียสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความสำเร็จของความพยายามในการอนุรักษ์ นคราโหเลนับเสือโคร่ง ครั้งล่าสุดได้ 135 ตัว ซึ่งมากกว่าสองเท่าของจำนวนเสือในทศวรรษก่อน จากการสำรวจประชากรอย่างเป็นทางการล่าสุดที่เสร็จสิ้นเมื่อปี 2018 ปัจจุบัน อินเดียมีเสือโคร่งในธรรมชาติเกือบ 3,000 ตัว ซึ่งมากกว่าจำนวนในปี 2014 ร้อยละ 33 ขณะที่จำนวนเสือดาวเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ถึงร้อยละ 62 เป็นเกือบ 13,000 ตัว

รายงานการพบเห็นเสือทั้งสองชนิดนอกเขตอนุรักษ์บ่อยครั้งขึ้นเป็นสัญญาณหนึ่งของประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสของความขัดแย้งกับมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นด้วย “ฉันมีเสืออาศัยอยู่รอบบ้านทางตอนกลางของอินเดียค่ะ” นักอนุรักษ์ เบลินดา ไรต์ บอก เธอเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งอินเดีย ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายเขตอนุรักษ์เสือโคร่งกันหาในรัฐมัธยประเทศ

เสือดำนอนพักบนกิ่งต้นสัก จริงๆ แล้วเสือดำคือเสือดาวที่มีพันธุกรรมกลายไปทำให้เกิดขนสีเข้ม แต่ยังเห็นลายขยุ้มตีนหมาที่ตัดกับสีขน

จำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นกำลังใจให้นักอนุรักษ์มากเป็นพิเศษ เพราะปัจจุบันการนับจำนวนเสือโคร่งและ เสือดาวน่าเชื่อถือมากขึ้น ก่อนปี 2006 การนับจำนวนเสือโคร่งในอินเดียซึ่งทำทุกสี่ปี ออกจะเป็นการประมาณ อย่างคร่าวๆ จากการสำรวจรอยตีนของทีมต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่นับหมื่นตารางกิโลเมตร นับเป็นงานที่ยืดยาว และน่าเบื่อ ปัจจุบัน การนับจำนวนส่วนใหญ่ใช้ภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ช่วยระบุอัตลักษณ์เสือโคร่ง และเสือดาวแต่ละตัวได้ด้วยลายแถบหรือลายจุดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

วิชัย โมหัน ราช หัวหน้านักอนุรักษ์ประจำผืนป่าในรัฐกรณาฏกะ ยกเครดิตความสำเร็จที่นคราโหเล และเขตสงวนอื่นๆ ให้เจ้าหน้าที่ต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประจำการตามยุทธวิธีอยู่ใน เขตอนุรักษ์ ราชกล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมที่ดีกว่าเดิม และมีอาวุธตลอดจน เครื่องไม้เครื่องมือเพียบพร้อมกว่า เนื่องจากรัฐบาลอุดหนุนเงินมากขึ้น อันเป็นผลจากการให้คำมั่นเมื่อปี 2010 ที่อินเดียมีต่อแผนการระดับนานาชาติที่มุ่งเพิ่มจำนวนเสือโคร่งทั่วโลกให้ได้เท่าตัว “นับเป็นมาตรการป้องปราม ใหญ่ที่สุดสำหรับใครก็ตามที่คิดจะเข้าป่าไปล่าสัตว์เอาเนื้อหรือแม้แต่เก็บฟืน” เขากล่าว

เสือดำตัวหนึ่งมุ่งหน้าไปยังดงไม้พร้อมกับลูกกวางที่เพิ่งล่าได้ การปรับปรุงมาตรการต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ภายในเขตอนุรักษ์เสือโคร่งนคราโหเล ทำให้สัตว์กินพืช เช่น กวางดาว เพิ่มขึ้นจนชุกชุม เมื่อประชากรเหยื่อเพิ่มขึ้น เหล่าแมวใหญ่ก็ขยายพันธุ์ได้ดี

ผลที่ตามมาคือ ความหนาแน่นของชนิดพันธุ์เหยื่ออย่างกวางและหมูป่าเพิ่มขึ้น ช่วยให้สัตว์ที่ล่าพวกมัน ได้แก่ เสือโคร่งและเสือดาว เพิ่มจำนวนขึ้นมาก ที่นคราโหเล ดูเหมือนว่าแมวใหญ่ยังได้ประโยชน์จากบ่อน้ำบาดาลพลังแสงอาทิตย์ที่ขุดไว้ข้างสระน้ำเพื่อคงระดับน้ำไว้ให้เต็ม แม้ในเดือนที่แห้งแล้ง

อนาคตของเหล่าแมวใหญ่ในนคราโหเลและเขตอนุรักษ์ที่คล้ายกัน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการลดความขัดแย้งระหว่างเสือกับชุมชนใกล้เคียงให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ในหมู่บ้านหนึ่งนอกเขตอนุรักษ์ ผมเฝ้ามองเด็กๆกลิ้งยางรถยนต์ไปตามทางโคลน ขณะดวงอาทิตย์กำลังตกเหนือแม่น้ำกาบินี

เสือโคร่งกินน้ำจากบ่อแห่งหนึ่งในนคราโหเล ทั่วเขตอนุรักษ์แห่งนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานขุดบ่อน้ำบาดาล พลังแสงอาทิตย์ซึ่งจะทำงานเมื่อระดับน้ำลดต่ำลง ช่วยรักษาแหล่งน้ำที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้เต็มตลอดทั้งปี

เนื่องจากการแก่งแย่งอาณาเขตภายในเขตอนุรักษ์ของอินเดียรุนแรงขึ้น เสือโคร่งและเสือดาวจึงรุกล้ำ เข้าไปในหมู่บ้านนอกเขตเหล่านี้บ่อยขึ้น ฆ่าปศุสัตว์และบางครั้งก็มนุษย์ด้วย เฉพาะในรัฐกรณาฏกะ เสือโคร่งฆ่าคนอย่างน้อยเก้าคนตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2021

ไรต์กล่าวว่า แม้รายได้จากการมาชมเสือจะเพิ่มขึ้น แต่เงินพวกนี้ไม่ได้ช่วยคนท้องถิ่นเลย “ดังนั้น พวกเขาจึงไม่รู้สึกว่าตนได้ประโยชน์จากการมีเสือโคร่งอยู่” เธอเสริม นักอนุรักษ์หลายคนบอกว่า หน่วยงานด้าน สัตว์ป่าจ่ายเงินเยียวยาผู้สูญเสียปศุสัตว์เพราะเสือโคร่ง และย้ายหมู่บ้านบางแห่งให้ห่างจากถิ่นเสือโคร่งก็จริง แต่พวกเขายังจำเป็นต้องทำมากกว่านั้นเพื่อให้ชุมชนโดยรอบได้ดอกผลจากความสำเร็จของเขตอนุรักษ์ มิฉะนั้น ความสำเร็จที่ได้มาตลอดทศวรรษที่ผ่านมาอาจมลายไปสิ้น

เรื่อง ยุธิจิต ภัตตาจาร์จิ

ภาพถ่าย ชาซ จัง

ติดตามสารคดี เยือนถิ่นแมวใหญ่ในอินเดีย ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/541514


อ่านเพิ่มเติม การกลับมาของ เสือแพนเทอร์ ฟลอริดา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.